info4you

Saturday, April 16, 2005

12. สมาธิในฌาน – สมาธิในองค์มรรค

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๑๒
วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

สมาธิในฌาน – สมาธิในองค์มรรค

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้รับฟังการอบรมธรรมะภาคปฏิบัติมาเป็นเวลา ๒ อาทิตย์แล้ว เราอบรมเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นสมถกรรมฐาน แล้วก็มาถึงวิปัสสนากรรมฐาน แต่แนวทางการอบรมตามที่เสนอแนะบรรดาท่านทั้งหลายนั้นยังอยู่ในวงแคบ เพราะเฉพาะอารมณ์ของกรรมฐานก็มีถึง ๔๐ อย่าง ผู้ให้การอบรมก็ได้ยกเอามาเฉพาะบริกรรมภาวนาคือ พุทโธ ในขั้นต่อมาก็ได้แนะวิธีพิจารณาอสุภกรรมฐาน ทั้งแบบย่อและแบบพิสดาร และก็ได้แนะวิธีการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ พิจารณาร่างกายทั้งสิ้นให้เห็นว่าเป็นเพียงสักว่าธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หลังจากนั้นก็ได้แนะวิธียกจิตขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน โดยยกเอาเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเป็นอารมณ์พิจารณา อันเป็นหลักใหญ่

ถ้าหากว่าท่านจะพยายามใช้ความคิด หรือพิจารณาโดยหลักการแล้ว ถ้าหากมีปัญญาพอที่จะสอดส่องหยั่งถึงหลักการอันแท้จริงก็จะได้ความว่า การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตัวเองคือกายกับใจของเราเท่านั้น จุดมุ่งหมายของการอบรมสมถกรรมฐาน มุ่งที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิตามลำดับขั้น เริ่มต้นแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ผลประโยชน์ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการอบรมสมถกรรมฐานจนกระทั่งทำจิตให้เป็นสมาธิตามที่กล่าวแล้วนั้น ก็เพื่อเป็นอุบายกำจัดนิวรณธรรม ๕ ประการ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ให้ออกไปจากจิตชั่วขณะหนึ่ง จะได้มีโอกาสบำเพ็ยความสงบและพิจารณาสภาวธรรมโดยสะดวก อันนี้เป็นผลที่ท่านกล่าวไว้ในตำรับตำรา

แต่อันแท้ที่จริงแล้ว การทำสมถกรรมฐาน การรวมจิตลงไปสู่จุดเดียวคือสมาธินั้น ถ้าจะว่าโดยกิริยาหรือผลที่เกิดขึ้นแก่นักปฏิบัตินั้น ก็เพื่อมุ่งจะให้เรารู้จักสภาพความเป็นจริงของจิต ความเป็นจริงของจิตในขณะนั้น ขอสมมติเรียกว่า ปกติวิญญาณ หรือ มโนธาตุ ไปก่อน ในเมื่อจิตสงบลงนิ่งปราศจากอารมณ์ทั้งปวงแล้ว มันก็เข้าสู่สภาพความเป็นจิตปกติ ทีนี้ จิตปกติของเรามันเป็นจิตที่อยู่กลางๆ คือ เรียกว่าไม่ดีและไม่เลว การที่ทำจิตให้เป็นสมาธินั้นเราถือว่าเป็นจิตขั้นดี หรือเป็นจิตที่เป็นกุศล แต่แท้จริงแล้วมันเป็นจิตเป็นกลางๆ ยังไม่ได้น้อมไปสู่แนวทางที่จะพึงดำเนินไปสู่พระนิพพาน

ที่กล้าพูดเช่นนั้น ก็เพราะว่าตามเหตุผลทางตำรับตำรา หรือได้ฟังตามมติของครูบาอาจารย์ผู้ชำนิชำนาญในการบำเพ็ญจิต ท่านบอกว่า อัปปนาสมาธิทำให้จิตมีความสุข แต่ถ้าหากนักปฏิบัติไปติดอยู่ในอัปปนาสมาธิและความสุขในสมาธินั้น จิตก็จะไม่ยอมก้าวหน้าไปสู่ภูมิธรรมชั้นสูง จะติดอยู่ในเพียงแค่ขั้นแห่งฌานเท่านั้น และขอเสนอแนะเป็นคำเตือนอีกอย่างหนึ่งว่า ภูมิจิตของนักปฏิบัติตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธินั้น เป็นสมาธิที่เป็นสาธารณะทั่วไป ทุกลัทธิศาสนาที่มีการทำสมาธิ แม้แต่ในลัทธิของศาสนาคริสต์เขาก็มีการทำสมาธิ เพราะฉะนั้น สมาธิในขั้นนี้ บรรดาครูบาอาจารย์ผู้ชำนิชำนาญช่ำชองในการพิจารณาดูจิต ท่านจึงยังไม่รับรองว่าเป็นจิตขั้นที่สำเร็จมรรคผลใดๆ เป็นแต่เพียงความหดตัวเข้าไปสู่สภาพความเป็นหนึ่งของจิต อันเป็นพื้นฐานสำหรับสร้างพลังในทางจิตเพื่อทำจิตให้เป็นจิตที่ควรน้อมไปสู่การงาน คือการพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริง

มีท่านอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้คำแนะนำว่า สมาธิในฌาน กับ สมาธิในองค์มรรค มีลักษณะต่างกัน

สมาธิในฌาน นั้น เป็นสมาธิที่นิ่งอยู่ในจุดเดียว แต่ปราศจากความรอบรู้ อย่างดีก็มีแต่เพียงจิตไปติดอยู่ในจุดๆ หนึ่ง หรือนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอารมณ์ของฌานเท่านนั้น ไม่สามารถที่จะมีความรู้ทั่ว หรือไม่มีความรู้รอบภายในจิต เป็นแต่เพียงจิตนิ่งอยู่ในองค์ฌานอย่างแน่วแน่ แล้วก็มีลักษณะเหมือนอัปปนาสมาธิเหมือนกัน ซึ่งในขณะนั้นจิตจะปราศจากความรู้สึกอันเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกโดยเด็ดขาด แม้แต่การหายใจก็ไม่มีปรากฏ ผู้ที่มีจิตเข้าอยู่ในองค์ฌานตั้งแต่ระดับฌานขั้นที่ ๔ คือจตุตถฌานเป็นต้นไป จิตเข้าถึงฌานขั้นนี้แล้วจะไม่มีการหายใจ เพราะฉะนั้น ในบางครั้งมีพระภิกษุซึ่งอาพาธหนักและเข้าอยู่ในฌาน ผู้ที่อยู่ภายนอกเข้าใจว่าท่านมรณภาพ ได้เผากันทิ้งเปล่าๆ ไปหลายองค์แล้ว เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันนี้เป็นลักษณะจิตของผู้อยู่ในฌาน ถึงแม้ว่าจิตจะตั้งมั่นแน่วแน่ในองค์ฌาน แต่ท่านก็จัดสภาพจิตนั้นว่าเป็นสภาพจิตที่มีความโง่ ไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงแม้แต่ประการใด อย่างดีก็รู้เฉพาะในจิตที่รู้อยู่เท่านั้น

แต่ในจิตในสมาธิที่ประกอบพร้อมด้วยองค์อริยมรรคนั้น จะเป็นจิตที่รวมพร้อมซึ่งองค์อริยมรรคทั้ง ๗ ประการ เข้าไปสู่สัมมาสมาธิเรียกว่า มคคฺสมงฺคี หรือ เอกมรรค มีลักษณะจิตนิ่งแล้วก็มีประกายรู้รอบอยู่ คล้ายๆ กับว่ามีสิ่งที่ป้องกันตัว ถึงแม้ว่าจะไม่มีความรู้กว้างขวางพิสดารก็ตาม แต่ว่ามีลักษณะของจิตที่รู้รอบเด่นชัดอยู่ มีความเบิกบานอยู่ มีความรู้ มีสิ่งรู้อยู่ ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ออกมาข้างนอกได้ จิตมีความสว่างไสวอยู่ภายในประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รวมพร้อมซึ่งองค์อริยมรรคตามที่กล่าวมาแล้วเข้าไปอยู่ในสัมมาสมาธิ เป็นสภาพจิตที่บรรลุถึงคุณซึ่งเรียกว่า พุทฺโธ ผู้รู้ พุทฺโธ ผู้ตื่น พุทฺโธ ผู้เบิกบาน มีความรู้รอบตัวอยู่เป็นปกติ แต่จิตในขั้นนี้ก็เป็นจิตที่ปราศจากความจำอารมณ์ภายนอก ลมหายใจก็มิได้ปรากฏ ความรู้สึกเกี่ยวข้องกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มิได้ปรากฏในขณะนั้น จิตที่อยู่ในฌานก็ดี จิตที่อยู่ในสมาธิขั้นอัปปนาที่เป็นสัมมาสมาธิก็ดี ย่อมปราศจากความรู้สึกในด้านร่างกาย มีอาการไม่รู้สึกว่ามีการหายใจ ผู้ที่มองดูข้างนอกแล้วจะรู้สึกว่าท่านผู้นั้นไม่มีการหายใจ จิตที่อยู่ในสภาพอย่างนี้จะทำให้นักปฏิบัติปราศจากความรู้สึกภายนอกโดยประการทั้งปวง ถ้าหากว่าจิตดำรงมั่นอยู่ในลักษณะดังกล่าว ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ความรู้สึกเมื่อย ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ภายในนั้นไม่มี มีแต่ความเป็นหนึ่งของจิตกับอุเบกขาคือความเป็นกลางของจิตเท่านั้น อันนี้เรียกว่า จิตบรรลุถึงขึ้นอัปปนาสมาธิ ขั้นฌาน หรือถึงขั้นสมถะ

แต่จิตซึ่งอยู่ในขั้นสมถะ หรืออยู่ในขั้นฌานนั้น ย่อมใช้ประโยชน์อะไรในทางอื่นไม่ได้ จิตมีสมรรถภาพแต่เพียงทรงตัวนิ่งอยู่อย่างนั้นตลอดกาล จนกว่าจิตจะถอนออกจากสภาพความเป็นอัปปนาสมาธิเช่นนั้น จิตที่อยู่ในภาวะนั้นย่อมไร้สมรรถภาพที่จะพิจารณาสภาวธรรมให้เห็นชัดโดยประการทั้งปวง มีแต่ความรู้อยู่เฉพาะตัวซึ่งเรียกว่า ผู้รู้ ตอนนี้เองซึ่งเรียกว่า จิตเป็นหนึ่ง หรือเรียกว่า จิตเป็นเอกัคคตา หรืออัปปนาสมาธิ

ในเมื่อจิตปราศจากความรู้สึกโดยประการทั้งปวงแล้ว จิตก็เป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์ ถ้าหากผู้ปฏิบัติไปติดอยู่ในการปฏิบัติ หรือติดอยู่ในสมาธิขั้นนี้ ไม่พยายามที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าไป จิตก็จะติดอยู่อย่างนี้ตลอดกาล ความสำเร็จของผู้บำเพ็ญอย่างดีก็สำเร็จเพียงแค่ขั้นสมถะเท่านั้น ในบางสำนักบางอาจารย์กล่าวว่า การภาวนา พุทโธ อย่างดีก็ได้เพียงแค่ขั้นสมถะ ไม่ถึงภูมิแห่งวิปัสสนา อันนี้เป็นความจริง ถ้าหากว่านักปฏิบัติไปหลงไปติดอยู่ในอารมณ์หรือความเป็นของจิตในขั้นนี้ จิตก็จะติดอยู่ในขั้นนี้ตลอดไป ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาอันเป็นแนวทางแห่งอริยมรรคอริยผล

ทีนี้ ในเมื่อจิตมาถึงสภาพเช่นนี้ ทางแยกของจิตนั้นมีอยู่ ๒ ทาง ทางหนึ่ง คือเมื่อจิตอยู่ในฌานขั้นที่ ๔ คือจตุตถฌานแล้ว จิตเพ่งจิตให้ละเอียดลงไปจนกระทั่งมองเห็นความว่างปรากฏขึ้นภายในจิต ตอนนี้เรียกว่าจิตเดินอยู่ในขั้นอากาสานัญจาตนะ ไปทางสายศาสนาพราหมณ์ เล่นสมาบัติ ๘ กันไป แต่แนวทางนี้พระพุทธเจ้าไม่โปรดเพราะมันไม่ใช่ทางที่จะให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน อีกทางหนึ่ง คือเมื่อนักปฏิบัติมาฝึกหัดทำจิตให้เป็นเพียงอุปจารสมาธิ สร้างพลังจิตทำสมาธิจิตให้มั่นคง จนเชื่อสมรรถภาพของตัวเองว่าสามารถที่จะน้อมจิตไปพิจารณาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็พยายามที่จะยกจิตขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา ด้วยพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริง อย่างนี้พระพุทธเจ้าโปรด เพราะเป็นทางแห่งมรรคผลนิพพาน

มีปัญหาทีท่านจะต้องสงสัยอยู่ว่า การยกจิตขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนานั้น จะยกขึ้นในตอนไหน บางท่านอาจจะเข้าใจว่า ในเมื่อทำจิตให้สงบแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นเอกมรรค เอกมคคสมงฺคี ปรากฏขึ้นในจิต ซึ่งเรียกว่าอัปปนาสมาธิแล้ว แล้วก็เอาจิตในขณะนั้นไปพิจารณากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในภูมิวิปัสสนากรรมฐานอาจจะเข้าใจเช่นนั้น

ข้อนี้พึงทำความเข้าใจว่า จิตที่อยู่ในอัปปนาสมาธินั้น เป็นจิตซึ่งมีสภาพเป็นเองโดยอัตโนมัติ ในเมื่อมันเข้าไปสู่ความนิ่งของขั้นอัปปปนาแล้ว ถ้าหากมันไม่ถอนออกมาเองแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่มีโอกาสที่จะไปบังคับให้มันถอนออกมาได้ เพราะจิตในขั้นนี้มันปราศจากสัญญาเจตนาภายนอกโดยประการทั้งปวง

ถ้าเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร เราก็คอยโอกาสจนกว่าจิตมันจะขยับออกจากสภาพความเป็นอัปปนาสมาธิ ถอนออกมาสู่ภูมิแห่งอุปจารสมาธิ คือสมาธิในขั้นกลางๆ หรือหยาบก็ตาม และในตอนนี้เรารีบฉวยโอกาสยกเอาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจาณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ หรือบางทีถ้าหากว่าจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ไม่สามารถที่จะยับยั้งอยู่ในขั้นแห่งอุปจารสมาธิก็ปล่อยให้มันถอนออกมาจนถึงสภาพความเป็นอยู่โดยธรรมดาเหมือนกับขณะที่เรายังไม่ได้สมาธิจิต แล้วก็เอาความรู้สึกนึกคิดอย่างสามัญธรรมดา ยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานมาพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่เราปรุงแต่งเอาเป็นแนวนำ คือเรานึกเอาอย่างความคิดสดๆ ร้อนๆ ว่ารูปก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารก็ไม่เที่ยง วิญญาณก็ไม่เที่ยง นึกไปนึกมาจนกระทั่งจิตมันปลงลงไป เชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พิจารณานี้มันไม่เที่ยงจริงๆ แล้วก็มากำหนดจิตให้มันมีความสงบเข้าไปสู่สมาธิอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อจิตเข้าไปสู่สมาธิขั้นอุปจารสมาธิ บางท่านก็อาจจะลืมความจำอารมณ์ในภายนอก จิตเปลี่ยนสภาพแล้วก็มีสภาวะผุดรู้ผุดเห็นไปตามแนวที่เราได้นึกคิด จงพิจารณาจนกว่าจิตจะปลงตกลงไป แล้วเชื่อมั่นว่าเป็นของไม่เที่ยงจริงๆ เป็นสภาวะธรรมที่ไม่เที่ยงจริงๆ แล้วจิตจะเกิดความสลดสังเวชเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจิตเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ หรือมีความแน่วแน่แต่ไม่ได้ปราศจากอารมณ์ มันยังคงมีอารมณ์ละเอียดๆ คล้ายๆ กับมีลักษณะเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง แล้วสภาวะจิตซึ่งเป็นผู้รู้ผู้เห็นนั้นก็จะปรากฏเด่นชัดอยู่โดยอัตโนมัติ สภาวะที่แสดงออกอาการเปลี่ยนแปลงให้รู้ให้เห็นก็เป็นตามสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ โดยไม่มีภาษาสมมติบัญญัติใดๆ แม้ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเราเราคิดอะไร เป็นแต่เพียงสภาพรู้อยู่เห็นอยู่มีอยู่เป็นอยู่ ล้วนแต่เป็นสิ่งเป็นเองโดยธรรมชาติทั้งนั้น จิตที่สงบนิ่งจ้องมองเพ่งเล็งดูสิ่งที่รู้อยู่ ก็อยู่โดยสมรรถภาพของตัวเองโดยธรรมชาติ โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ปรุงแต่งจิตหรือไม่ได้แต่งความคิดแต่ประการใด อารมณ์ที่ให้รู้ให้เห็นก็มีลักษณะให้รู้ให้เห็นอยู่อย่างนั้น แต่ไม่มีภาษาสมมติบัญญัติว่าอะไรเป็นอะไร ลักษณะอย่างนี้ บางครั้งมันก็จะมีการการปรากฏคล้ายกับพยับแดด บางทีก็เหมือนๆ คลื่นกระทบฝั่ง แล้วเมื่อจิตมันรู้แจ้งเห็นจริงกันจริงๆ แล้ว จิตก็จะถอนออกจากสภาพความเป็นเช่นนั้น มีอาการไหวติงขึ้นมานิดหนึ่ง ความรู้ที่แจ่มแจ้งซึ่งเป็นองค์การแห่งวิปัสสนาจะผุดขึ้นในระยะระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างอุปจารสมาธิกับอัปปนาสมาธิ นี่คือลักษณะความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น มันเป็นอย่างนี้

ถ้าจะถามว่า เมื่อจิตในอัปปนาสมาธิย่อมนิ่งไม่สามารถพิจารณาอะไรได้ ถ้านิ่งอย่างนั้นไฉนจึงบำเพ็ญฌานขั้นสูงๆ ขึ้นไปได้ ซึ่งอาการอย่างนั้นแสดงว่าจิตมิได้หยุดนิ่ง ข้อนี้อขอเสนอความคิดว่า ที่ว่านิ่งนั้น คือนิ่งจากสิ่งภายนอก คือพิจารณาอารมณ์ภายนอกไม่ได้ แต่ถ้าในขอบเขตภายในของฌานแล้ว จิตในฌานขั้นต่ำย่อมสามารถเขยิบขึ้นไปสู่ฌานขั้นสูงได้ตามกำลังวาสนาบารมีของผู้บำเพ็ญนั้น และในฌานทุกระดับย่อมมีอาการนิ่งอยู่ทั้งนั้น

ประการสำคัญที่สุดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมนั้น มันขึ้นอยู่กับการที่สำรวม เรามีกายกับใจ มีกายกับอวัยวะสำหรับเป็นสื่อหรืเครื่องติดต่อกับโลกภายนอก คือ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นสื่อติดต่อกับสิ่งที่มาสัมผัส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จกฺขุนา สํวโร สาธุ การสำรวมตา เป็นการดี สาธุ โสเตน สํวโร การสำรวมหูเป็นการดี การสำรวมจมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นการดี สพฺพตฺถ สํวโร ภิกฺขุ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ การสำรวมใจในสิ่งทั้งปวงนั้นเป็นการดี ทำให้พ้นทุกข์ทั้งปวง

ทีนี้ การสำรวมนั้น เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะ การทำสมาธิหรือการพิจารณาอะไรต่างๆ นั้นเป็นวิธีการที่ปลูกสร้างสติให้มีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะรู้เท่าเอาทันในอารมณ์อยู่ทุกขณะ เราก็มีสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์เป็นองค์การให้เราตรัสรู้ ผู้ที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริงจึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนอบรมสติให้มีกำลังกล้า แล้วมีสติที่มีกำลังกล้านี่แหละ จักกลายเป็นตัวปัญญาคอยระมัดระวังสังวร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ปราศจากความยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวง จิตจะได้อยู่ในสภาพของความเป็นปกติ ทางที่จะเกิดของกิเลสทั้งหลายทั้งปวง หรือทางที่จะเกิดตัณหา มันก็เกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางที่จะดับตัณหา มันก็ดับอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ที่เป็นนักปฏิบัติจึงควรจะอบรม ศีล สมาธิ ปัญญา ให้แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่ง ศีล สมาธิ ปัญญา กลายเป็นคุณธรรม เป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ของใจตลอดการ

นักปฏิบัติพึงทำความเข้าใจว่า ความสังวรในศีลสิกขาบทน้อยใหญ่ของตนเองนั่นแหละเป็นจุดสำคัญ ความที่ทำศีลให้บริสุทธิ์ คือไม่ล่วงละเมิดโทษที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา มันจะเป็นปัจจัยทำให้จิตสงบตั้งทั่นเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น ผู้ที่ทำสมาธิด้วยความเป็นผู้มีความบริสุทธิ์แห่งศีล สมาธิจิตของผู้นั้นเกิดขึ้นแล้วจะเป็นสัมมาสมาธิ ความรู้ของผู้นั้นที่เกิดขึ้นแล้ว หรือความเห็นที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่เกิดเป็นสัญญาวิปลาส เพราะว่าศีลเป็นตัวการที่จะคุ้มครองความเข้าใจผิดในความรู้ความเห็นในสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิตในใจ ศีลเป็นขอบเขต ศีลเป็นรั้นกั้น ศีลเป็นสิ่งป้องกันความชั่วเสียหายซึ่งจะเกิดขึ้นทาง กาย วาจา รวมทั้งใจด้วย แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดอันใดที่มันออกนอกกรอบแห่งศีล ความรู้สึกนึกคิดอันนั้นก็เป็นการผิดศีลเหมือนกัน ถึงแม้เราจะยังไม่ล่วงละเมิดด้วยการย ด้วยวาจา แต่มันก็ทำให้จิตเสื่อมสมรรถภาพ คือทำให้จิตใจเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ศีลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องชำระให้บริสุทธิ์ เช่นอย่างท้ายของการบอกอานิสงส์แห่งศีลว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุ ยนฺติ จะถึงโภคทรัพย์ ถึงความถึงพร้อมแห่งโภคทรัพย์ ก็ด้วยอำนาจแห่งศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะถึงซึ่งความดับสนิทของกิเลสคือพระนิพพาน ก็ด้วยอำนาจแห่งศีล เพราะฉะนั้น ศีลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่นักปฏิบัติจะพึงประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์ขาวสะอาด
การกล่าวสรุป การอบรมในเรื่องสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ก็เห็นว่าเป็นเวลาอันพอสมควร จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้
------------
คัดลอกจากหนังสืออบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home