info4you

Saturday, April 16, 2005

11. สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๑๑
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้รับฟังการอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงขั้นภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งก็นับว่ามีหลักการพอเป็นคติที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจ ที่จะจดจำเอาไปเป็นหลักการปฏิบัติพอควร เพราะว่าแผนภูมิแห่งการปฏิบัติธรรมในทางด้านจิตใจนั้น นักปฏิบัติจะต้องดำเนินไปตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขั้นบริกรรมภาวนา แล้วก็ขั้นใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมในแง่ต่างๆ ตามรูปแบบซึ่งมีหลักสูตรเรียน เช่น บริกรรมภาวนาทำจิตให้สงบแล้วมาพิจารณาอสุภกรรมฐาน พิจารณาธาตุววัฏฐาน แล้วก็พิจารณาสภาวธรรมน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็เป็นอันว่าจบภูมิแห่งสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

สำหรับหลักสูตรและแนวทางที่จะฝึกปฏิบัติสำหรับผู้ที่ประพฤติจริง ทำจริง ปฏิบัติจริง เพื่อมุ่งความเจริญในการปฏิบัติธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง เห็นจริงกันจริงๆ เรายึดถือเอาหลักเพียงแค่นี้ก็เป็นแนวทางพอที่จะดำเนินชีวิตของนักปฏิบัติไปได้ตลอด ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะเอาจริงหรือไม่ ทีนี้ การปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้เกิดผลจริงๆ นั้น แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลแม้แต่ประการใด เช่น สมมติว่าท่านอาจจะไปเรียนคาถาบริกรรมภาวนาจากท่านผู้ใดผู้หนึ่ง อาจารย์ผู้สอนกรรมฐานอาจจะบอกท่านเพียงคำเดียวว่า พุทโธ หรือ ยุบหรอ พองหนอ ก็ตาม ท่านตั้งใจปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ให้การแนะนำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คือตรงไปตรงมา ไม่บิดพลิ้ว ยอมเชื่อฟังคำแนะนำของผู้ให้การแนะนำนั้นๆ ทุกกระเบียดนิ้วด้วยความตั้งใจจริงเท่านั้น ย่อมสามารถที่จะทำให้ท่านบรรลุผลสำเร็จได้ตามความสามารถ ถ้าหากท่านสงสัยในอารมณ์ของพระกรรมฐานเช่นอย่างอาจจะสงสัยว่า ภาวนา พุทโธ ไม่ค่อยเข้าท่า ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ดีกว่า แล้วทั้ง ๒ อย่างไม่ค่อยเข้าท่า หาอย่างอื่นมาบริกรรมภาวนาสับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนี้ทุกวัน อย่าว่าแต่อายุของท่านจะอยู่ได้เพียงร้อยปี ต่อให้เกินร้อยปี ถ้าท่านสับเปลี่ยนอารมณ์กรรมฐานอยู่เรื้อยๆ เพราะความไม่ตั้งใจจริง ท่านก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จผลในการปฏิบัติได้ตามความประสงค์ อันนี้เป็นคติอันหนึ่ง

ทีนี้ หลักที่ควรจะจดจำ การเริ่มต้นกรรมฐานนั้น ท่านให้ยึดเอาองค์ของฌาน ๕ ซึ่งมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา องค์ของฌานทั้ง ๕ ประการนี้ นักปฏิบัติจะทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ไม่ได้ เพราะการมีปีติและสุขนั้นเป็นยากำลังใจของนักปฏิบัติเป็นอย่างดี แม้การปฏิบัติในภูมิจิตของผู้ที่ยังอยู่ในภูมิของโลกียชน ก็ต้องอาศัยองค์ฌานคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ผู้ที่สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วก็ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในโสดาปัตติมรรค ผู้ที่เป็นพระสกทาคามีก็ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ผู้ที่อยู่ในภูมิของพระอนาคามีก็ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในภูมิขั้นของพระอนาคามิมรรค ผู้ที่ปฏิบัติขั้นพระอรหัตตมรรคก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในขั้นของพระอรหัตตมรรค ดำเนินอยู่ตามแนวทางขององค์ฌานตามที่กล่าวมานั้น เพราะว่าการปฏิบัติแต่ละขั้นนั้นย่อมอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องทดสอบพิจารณาในภูมิจิตของตน

วิตก หมายถึงการนึกถึงอารมณ์ที่น้อมเอามาเป็นเครื่องพิจารณา
วิจาร หมายถึงการเอาใจใส่จดจ้องในอารมณ์ที่น้อมเอามาเป็นเครื่องพิจารณานั้น

ถ้าหากการปฏิบัติถูกทางและเป็นที่จะได้ผล ปีติ ก็ย่อมเริ่มบังเกิด คือาศัยความที่จิตซึมซาบในธรรมะหรืออารมณ์ที่พิจารณาอยู่นั้น ซึ่งมีอาการคล้อยๆ ไปที่จะเป็นสมาธิอย่างอ่อนๆ

ในอันดับแห่งปีติที่บังเกิดขึ้นนั้น ความ สุข ก็ย่อมเกิดเป็นผลพลอยได้ตามมา

เมื่อจิตมีปีติและมีความสุข จิตก็ย่อมไม่ดิ้นรนกระวนกระวายตั้งหน้าตั้งตาที่จะพิจารณาในอารมณ์ของพระกรรมฐานที่นักปฏิบัติยกขึ้นมาเป็นอารมณ์เครื่องพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ตามขั้นของกรรมฐาน ถ้าผู้ที่มีภูมิจิตพิจารณาอยู่ในขึ้นของสมถะ ก็เอาอารมณ์ของสมถะมาพิจารณา ผู้ที่เดินจิตในภูมิของวิปัสสนา ก็เอาอารมณ์ในภูมิขั้นของวิปัสสนากรรมฐานมาพิจารณา โดยน้อมนึกพิจารณาอารมณ์นั้น โดยนัยแห่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้เป็นแนวทางดำเนินจิตของผู้ปฏิบัติทุกขั้นภูมิ แม้ปุถุชนก็ดำเนินในขั้นภูมินี้ พระอริยบุคคลก็ดำเนินจิตในขั้นภูมิจิตนี้เช่นเดียวกัน เพราะผู้ที่จะสำเร็จมรรคผลนิพพานได้นั้น ย่อมเป็นผู้จัดเจนในการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ตั้งต้นแต่กายกับใจของเราเป็นพื้นฐาน ตลอดจนกระทั่งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ซึ่งล้วนเป็นอารมณ์เครื่องพิจารณากรรมฐานได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติมาพิจารณาดูสภาวธรรม ซึ่งเป็นส่วนโลกๆ หรือเป็นโลกๆ ทั้งหลายนั้น ให้รู้ให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกระทั่งจิตยอมรับรู้สภาพความเป็นจริง แล้วปลงตกไปเห็นจริงตามนั้นด้วย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถึงขั้นสำเร็จแห่งวิปัสสนากรรมฐาน

บางท่านที่ติดในคำศัพท์ อาจจะไปตีความหมายของคำว่า วิปัสสนากรรมฐาน ผิดไปก็เป็นได้ เข้าใจว่าคำแปลของคำว่า วิปัสสนานั้น เราแปลกันว่า ความเห็นแจ้ง ซึ่งผมก็เคยแปลกันมาอย่างนี้ แต่บางท่านอาจจะแปลไปได้พิสดารยิ่งกว่านี้ วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า ความเห็นแจ้ง ทีนี้ ความหมายของคำว่า ความเห็นแจ้ง นั้น หมายถึงจิตที่เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญาด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน เช่นอย่างเห็นแจ้งว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงจริงๆ สภาวธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์จริงๆ สภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ มิได้หมายความว่า นักปฏิบัติทำจิตด้วยบริกรรมภาวนา แล้วจิตสงบวูบลงเกิดสว่างโร่ขึ้นเห็นแจ้งทางจิต มิใช่ทางปัญญา แบบนั้นยังไม่ถูกตามลักษณะของวิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าจะพูดจำกัดความให้เข้าใจง่าย เช่นอย่างเรามีความสงสัยในปัญหาเกี่ยวกับสภาวธรรมว่า สิ่งๆ นี้เป็นของเที่ยงหรือไม่เที่ยวง ในเมื่อเราจดจ้องพินิจพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ จนกระทั่งจิตมีความรู้แจ้งเห็นจริงลงไปว่า เป็นของไม่เที่ยงจริงๆ ไม่เฉพาะแต่ความเห็นด้วยความรู้ หรือไม่เฉพาะแต่ความรู้เท่านั้น เมื่อรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยงจริงๆ จิตก็ปลงตก เรียกว่าเห็นจริงตามที่รู้ว่า ไม่เที่ยงจริงๆ จนกระทั่งเกิดความสลดสังเวชภายในจิต ได้คติภายในจิต จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นที่รู้จริงเห็นจริงแล้ว อันนี้เรียกว่า ความรู้ความเห็นในขั้นภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน มิได้หมายความว่าทำจิตให้สว่างขึ้นแล้วสำเร็จวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าหากเราจะไปถือเอาความสว่างของจิตไปเป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็ไปติดอยู่ในโอภาสนิมิต เป็นวิปัสสนูปกิเลสแห่งวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จิตมองเห็นแสงสว่างก็ดี หรือจิตรู้เห็นอะไรก็ดี หรือจิตมีความรู้ ซึ่งผุดขึ้นเองเป็นระยะๆ ก็ดี ถ้าหากว่านักปฏิบัติไปปล่อยให้จิตหลงตามสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วยความหลงงมงาย ย่อมเป็นลักษณะแห่งวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น

และอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่มีจิตว่าง จิตไม่มีอารมณ์ จิตไม่มีความนึกคิด เป็นแต่นิ่งเฉยอยู่ในความว่าง ไม่ได้ยึดเหนี่ยวอะไรเป็นอารมณ์เลย ความว่างชนิดนี้ก็ไม่ใช่เป็นความว่างชนิดที่จิตสำเร็จมรรคผล เป็นความว่างชั่วขณะของจิต ความว่างอันนี้ ถ้านักปฏิบัติไปคิดว่าความสำเร็จมรรคผลนิพพานอยู่เพียงแค่นี้ มันก็กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสอีก เพราะฉะนั้น ความรู้เห็นอันใดที่เรามีความหลงในสิ่งที่ยังไม่ถึงขั้นแห่งความเป็นจริงว่าเป็นจริง มีความหลงในขั้นที่เรายังไม่สำเร็จว่าเราสำเร็จ ความรู้ความเห็นอันนั้นกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจตามนัยที่กล่าวมานี้

ทีนี้ การปฏิบัติธรรม ถ้าหากเรามีความพากเพียรพยายามโดยอาศัยหลัก ฉันทะ คือความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ วิมังสา ทดสอบพิจารณาดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต หรือดูสภาพความเป็นจริงของจิตของตนเอง ให้รู้ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร อาศัยหลักอิทธิบาท ๔ เป็นหลักสำคัญ เมื่อเรามีความพอใจในการปฏิบัติ มีความพากเพียร มีความฝักใฝ่ มีการทดสอบพิจารณา ศรัทธา ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติ วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกได้ สมาธิ ความตั้งใจมั่น ปัญญา ความรู้รอบคอบ ก็จะบังเกิดเป็นเจตสิก เป็นเครื่องประกอบเป็นกำลังใจ ซึ่งเรียกว่า อินทรีย์ หรือ พละ ๕ อันนี้คือผลที่จะพึงเกิดขึ้นสำหรับนักปฏิบัติ

และอีกนัยหนึ่ง ในระหว่างที่เราตั้งใจปฏิบัติจริงจังอยู่นั้น ประสบการณ์ต่างๆ ย่อมจะเกิดขึ้นตามขั้นภูมิแห่งจิต เพื่อป้องกันมิให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายเข้าใจผิด ผมของนำเรื่อง คำว่า ความรู้ กับ ความเห็น มากล่าวพอเป็นคติเตือนใจ

ในบรรดาวงการของนักปฏิบัติทั้งหลาย ส่วนมากอาจารย์ผู้ให้การแนะนำ หรือให้การฝึกฝนอบรมศิษยานุศิษย์ของตนเอง หลังจากที่นั่งสมาธิภาวนาแล้วมักจะถามลูกศิษย์ตัวเองว่าเห็นอะไรบ้าง ทีนี้ บางท่านที่มีกำลังจิตอ่อน พอนึกบริกรรมภาวนาลงไปแล้ว จิตทำท่าจะสงบเคลิ้มๆ ลงไป จิตลอยไปข้างนอกก็ไปเห็นรูปคนรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นนิมิตพอลางๆ หรือเห็นนิมิตที่ปรากฏเป็นตัวเป็นตนอย่างแจ่มชัด ซึ่งแล้วแต่ภูมิขั้นของจิต แล้วก็บอกกับอาจารย์ว่าเห็นโน้นเห็นนี้ ทีนี้ ผู้ที่ภาวนาแล้วไม่เห็นอย่างที่คนที่เขาเห็น บางทีก็อาจจะเกิดน้อยอกน้อยใจว่า เราภาวนาไม่เป็น ภาวนาแล้วไม่เห็นอะไร อาจจะเข้าใจไปอย่างนี้ แต่ ความจริงการเห็นภาพนิมิตต่างๆ ในขณะที่ภาวนานั้น ไม่ใช่สิ่งที่นักปฏิบัติจะพึงประสงค์ อันนั้นเป็นแต่ผลพลอยได้ ซึ่งมันเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายของการรู้เห็นของนักปฏิบัตินั้น คือหมายความว่ารู้เห็นสภาพความเป็นจริงของจิตของตนเอง และรู้เห็นสภาพความเป็นจริงของกายของตัวเอง เช่นอย่างนักปฏิบัติมาเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย – เวทนา – จิต – ธรรมานุปัสนา เมื่อกำหนดทำบริกรรมภาวนาลงไปด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ มี กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา เมื่อกำหนดลงไปแล้วเราจะต้องมองเห็นกาย เมื่อมองเห็นกาย สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากกายก็คือ เวทนา และผู้รู้ผู้เห็นกายและเวทนานั้นก็คือจิต ผู้รู้เห็นอารมณ์ที่เกิดกับจิตว่าอารมณ์ฟุ้งซ่าน อารมณ์สงบอย่างใดนั้น ก็เป็นหน้าที่ของจิต เรียกว่าเห็นธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่มากำหนดจิต ดูกาย เวทนา จิต ธรรม พอกำหนดปั๊บก็เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ทันที เพราะสิ่งเหล่านี้เรารู้เราเห็นอยู่เป็นปกติแล้ว แต่การรู้การเห็นอันนี้ มันรู้เห็นเพียงเผินๆ จิตยังไม่ยอมรับสภาพอันเป็นจริง เพราะฉะนั้น การที่รู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของเวทนา รู้ความจริงของจิต ความรู้ความจริงของอารมณ์ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติต้องให้รู้ให้เห็นด้วยความเป็นจริงโดยไม่มีข้อสงสัย เมื่อรู้เห็นแล้วจิตก็ปลงตกลงไป ยอมรับสภาพความเป็นจริงนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงรู้เห็นเฉยๆ

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติผู้ที่รู้จริงเห็นจริง หรือเป็นจริงนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑) จิตรู้ตามความเป็นจริง
๒) จิตปลงตกเห็นตามความเป็นจริง
๓) สภาพจิตก็เป็นจริงตามที่รู้ที่เห็นนั้นด้วย
จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรมที่ตนพิจารณาอยู่

และอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่นักปฏิบัติมากำหนดบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง บางท่านอาจจะเกิดมีนิมิตมองเห็นพระพุทธเจ้าเข้ามา เช่นอย่างในสำนักวัดปากน้ำ ซึ่งเขาสอนกัน สอนให้บริกรรมว่า สัมมาอรหัง แล้วก็ให้น้อมจิตนึกอาราธนาเอาพระพุทธเจ้าให้เสด็จเข้ามาหาเรา เมื่อจิตสงบเคลิ้มๆ ลงไปเป็นอุปจารสมาธิ ด้วยความแน่วแน่ของจิต จะปรากฏนิมิตเห็นว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมา ส่วนอาจารย์ ผู้ให้การอบรมก็จะคอบซักถามอยู่เสมอว่า เห็นพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วหรือยัง ถ้าหากพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว อาจารย์จะบอกให้อาราธนาพระพุทธเจ้าขึ้นเหยียบบนบ่าเบื้องขวา แล้วลูกศิษย์ก็จะทำการอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ขึ้นเหยียบบนบ่าเบื้องขวา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นเหยียบบนบ่าเบื้องขวา นักปฏิบัตินั้นจำทำท่าเอียงลงไปข้างขวา เพราะหนักพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะบอกให้อาราธนาพระพุทธเจ้าเหยียบบ่าเบื้องซ้าย แล้วการของผู้นั้นจะตั้งตรง และก็ทำท่าหนักๆ พระพุทธเจ้า ต่อจากนั้นเขาจะให้อาราธนาเอาพระพุทธเจ้าเข้าไปไว้ที่ในดวงใจ แล้วก็ให้เด่งพระพุทธเจ้าจนกระทั่งใสเป็นแก้ว ใสจนไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบ เพ่งพระพุทธรูปที่มองเห็นด้วยนิมิตนั้นให้เห็นกลายเป็นแก้วดวงที่ใสสะอาด เพ่งจนเกิดเป็นอุคคหนิมิตติดตา ในเมื่อทำแก้วให้ใสสะอาดจนไม่มีที่จะเปรียบเทียบแล้วเขาก็ถือว่าสำเร็จ ธรรมกาย ในเมื่อต้องการอยากรู้ อยากจะเห็นอะไร ก็ใช้ธรรมกายนั้นส่งไป แล้วก็เกิดนิมิตให้รู้ให้เห็น

อาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้ที่มีปัญญา สามารถที่จะน้อมเอามาพิจารณาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้ ก็ย่อมเกิดประโยชน์ได้เหมือนกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดของนักปฏิบัติแต่ละท่าน

ทีนี้ มีปัญหาที่จะนำมาเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า การที่เขาภาวนากันไปดูนรก ดูสวรรค์ หรือติดต่อกับวิญญาณในโลกอื่นนั้น เขาทำกันอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์มีความสงสัยและสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งประเสริฐ

การภาวนาหรือนั่งสมาธิไปดูนรกไปดูสวรรค์นั้น ตามตำรับของไสยศาสตร์มันมีแบบมีแผนให้ศึกษากัน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือ “กรรมฐานสิบสองยุค” ของเจ้าคุณพระเทพญาณวิศิษฐ์ (ใจ ยโสธโร) รวบรวมไว้ที่วัดบรมนิวาส (กรุงเทพฯ) มันมีคาถาบทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าคาถาพระเจ้าเปิดโลก คาถาพระเจ้าเปิดโลกนี้ ตอนที่ ๒ ผมจำได้ว่า ข้อความว่า พุทโธ ทีปังกโรง โลกทีปัง วิโสธยิ ธัมโมทีปังกโร โลกทีปัง วิโสธยิ สังโฆ ทีปังกโร โลกทีปัง วิโสธยิ. เมื่อว่าถาถานี้จบแล้ว ก็อธิษฐานในจิตในใจว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นดวงประทีปส่องโลก ขอโปรดส่องทางนรกทางสวรรค์ให้ข้าพเจ้าเห็นจริงแจ่มแจ้งในการบัดนี้ด้วยเถิด พอเสร็จแล้วผู้บริกรรมภาวนา ถ้าจะไปดูนรก ก็นึกในใจว่า นรกๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ทีนี้พอจิตมันสงบเป็นอุปจารสมาธิ เกิดสว่างขึ้น ผู้ภาวนาจะมีอาการสั่นเหมือนกับผีสิง พอเสร็จแล้วสภาพจิตของผู้นั้นจะแสดงอาการไปดูนรกไปดูสวรรค์ตามที่ต้องการ ตามแบบแผนตำรับตำราที่กล่าวไว้ที่จำได้ อันนี้ได้เคยทดสอบพิจารณาดูแล้ว เมื่อใครก็ตามได้มานั่งภาวนาตามคาถาบทที่กล่าวมานี้ ไปเห็นนรกเห็นสวรรค์ได้แล้ว สามารถที่จะเชิญวิญญาณต่างๆ เข้ามาทรงภายในตัวเองก็ได้ สามารถที่จะเชิญวิญญาณปู่ย่าตายาย หรือครูบาอาจารย์ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้เข้ามาสิง แล้วก็สนทนากับผู้ที่นั่งฟังหรือผู้ที่ควบคุมการแสดงอยู่ อยากจะรู้ว่า คนตายแล้วไปเกิดที่ไหน ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์อย่างไรก็ได้ ผู้นั่งสมาธิดูนรกดูสวรรค์นั้นสามารถที่จะนำชาวสวรรค์ชาวนรกมาคุยกับเราก็ได้ อันนี้เป็นวิธีอันหนึ่งสำหรับวิธีการภาวนาไปดูนรกไปดูสวรรค์ แต่มันจะจริงแน่นอนหรือ อาจเกิดจากความจำก็ได้

และอีกนัยหนึ่ง เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า ปลุกพระ จะเอาพระเครื่องรางของขลัง เป็นพระเป็นเหรียญเป็นอะไรก็ตาม มากำไว้ในมือ แล้วก็บริกรรมภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ จนกระทั่งมีอาการสั่นขึ้น ในเมื่อมีอาการสั่นขึ้นแล้ว จะให้ไปเชิญวิญญาณที่ไหนๆ ให้มาทรงก็ย่อมเป็นได้ แต่วิญญาณที่มาทรงนั้น เท็จจริงอย่างไรก็ไม่กล้ายืนยันว่าจะเป็นจริงหรือไม่ บางทีสามารถเชิญกระทั่งวิญญาณของพระอรหันต์พระพุทธเจ้ามาทรงก็ได้ แต่สำหรับมติของผมนั้น เข้าใจว่า ในเมื่อประกอบพิธีเชิญวิญญาณขึ้นมา มันก็ต้องมีวิญญาณมาทรง แต่วิญญาณที่มาทรงนั้น จะใช่บุคคลที่เราเชิญมาทรงหรือเปล่า ในเมื่อทำพิธีกรรมแล้ว ต้องมีวิญญาณมาทรงอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าจะเป็นไปได้หมดทุกคน แม้แต่ในสำนักทรงวิญญาณทั้งหลาย ผู้ที่ชำนาญในการเชิญวิญญาณทรง เขาก็มีกันเพียงคน ๒ คนเท่านั้น ในเมื่อผู้ใดต้องการรู้ต้องการทราบเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องอดีต อนาคต ปัจจุบัน เขาก็ให้คนที่ฝึกเอาไว้นั้นแหละมาทำาการทรง

และอีกนัยหนึ่ง การทรงวิญญาณแบบฝรั่ง เขาเรียกว่าใช้วิธีการสะกดจิต คือ เอาเด็กชายตั้งแต่ ๑๐ ขวบ ไม่เกิน ๑๕ ขวบ มาทำการสะกดตามแบบวิธีของเขา ในเมื่อเขาสะกดเด็กให้หลับแล้ว เขาสามารถที่จะใช้เก็ดไปดูนรกไปดูสวรรค์ หรือไปติดต่อกับโลกข้างหน้าได้อย่างสบาย อันนี้ก็เป็นวิธีการอีกอันหนึ่งซึ่งก็แล้วแต่คนผู้สะกด

เรื่องทั้งหลายที่กล่าวมานั้น มิได้เกี่ยวเนื่องด้วยการทำสมาธิภาวนาตามแบบที่ถูกต้องซึ่งเรียกว่าสัมมาสมาธิ และขอให้ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า การทำสมาธิตั้งแต่ขั้นปฐมฌานถึงขึ้นจตุตถฌานนั้น มันยังเป็นสมาธิสาธารณะทั่วไปแก่ทุกลัทธิศาสนา และแก่ลัทธิที่มีการปฏิบัติสมาธิโดยทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น สมาธิของพระพุทธศาสนานั้น จึงอาศัยหลักศีลตามขั้นนภูมิของแต่ละบุคคลผู้ปฏิบัติอยู่นั้นเป็นหลักตัดสินว่าสมาธิของเขาถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

ขอให้ถือคติว่า สมาธิหรือการปฏิบัติธรรมอันใด ถ้าหากมันเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์ เป็นไปเพื่อการกระทำอะไรแปลกๆ ต่างๆ เช่นอย่างการเป็นหมอดูด้วยสมาธิเป็นต้น พึงเข้าใจเถิดว่า มันเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งออกนอกหลักพระพุทธศาสนา

สมาธิในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นสัมมาสมาธิ ที่ประกอบพร้อมด้วยองค์อริยมรรค ผู้ปฏิบัติเมื่อจิตประชุมพร้อมลงสู่องค์อริยมรรคแล้ว จิตจะดำเนินไปเพื่อความหมดกิเลสเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อการพวกพูนกิเลส ตามที่กล่าวมาแล้ว

การกล่าวโอวาทให้การอบรมเกี่ยวกับการสมาธิและประสบการณ์ต่างๆ ที่เล่ามา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.....
------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home