info4you

Saturday, April 16, 2005

10. การพิจารณาพระไตรลักษณ์

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๑๐
วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
การพิจารณาพระไตรลักษณ์

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

วันนี้ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่จะได้รับฟังการเสนอมติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งเราได้รับการอบรมการปฏิบัติขั้นสมถภาวนา หรือสมถกรรมฐาน

เริ่มต้นแต่บริกรรมภาวนา การพิจารณาอสุภกรรมฐาน และการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือการพิจารณา ร่างกาย ทั้งสิ้นให้เห็นเป็นสักว่าธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ การบริกรรมภาวนาเป็นการบริกรรมเพื่อรวมความคิดที่แผ่ซ่านอยู่รอบทิศให้เข้าไปสู่จุดเดียว ซึ่งเราเรียกกันว่า สมาธิ สมาธิขั้นนี้เรายังไม่ได้ใช้พิจารณา ยังไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ได้ใช้ปัญญา เป็นเพียงอุบายทำจิตให้สงบ เพื่อความสะดวกในการที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไปเท่านั้น แต่การที่มาพิจารณาอสุภกรรมฐาน เป็นการเริ่มใช้ปัญญาบ้าง คือ เราจะต้องใช้ความคิดและการเพ่งพินิจให้รู้สภาพความเป็นจริงของอาการ ๓๒ ซึ่งเป็นอวัยวะประชุมพร้อมให้มีความเป็นร่างกายของคนและสัตว์ อันนี้เราต้องใช้ความคิดไปตามอากรนั้นๆ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว การภาวนาหรือการพิจารณาในขั้นนี้ก็ยังอยู่ในขั้นของ สมถกรรมฐาน แต่หากเป็นระยะกาลที่ริเริ่มหัดใช้ปัญญาบ้าง การพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาร่างการให้เห็นเป็นธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือให้มีความรู้สึกในความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหนังดังปรากฏเป็นสมบัติของแต่ละท่านนั้น ให้มีความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพเดิมของมัน คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในตอนนี้ การพิจารณาที่เราใช้ปัญญา มีลักษณะใกล้ๆ เข้าไปสู่การเจริญภูมิแห่ง วิปัสสนากรรมฐาน บ้าง ซึ่งบางท่านอาจจะมีอุปนิสัยที่เคยได้สั่งสมอบรมมาตั้งแต่ชาติปางก่อน พอมาเริ่มพิจารณากรรมฐานดังที่กล่าว จิตของท่านผู้นั้นอาจจะปฏิวัติตนขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาโดยอัตโนมัติก็เป็นได้ ทั้งนี้แล้วแต่อุปนิสัย

ถ้าหากผู้ที่ไม่มีอุปนิสัย เมื่อพิจารณาแยกร่างกายออกเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มองเห็นแต่เพียงว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จริงๆ ลงไปเท่านั้น แต่สภาพจิตยังไม่ปฏิวัติตนไปเพ่งมองดูสภาพความเปลี่ยนแปลง เป็นแต่เพียงมองดู ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตยังไม่ได้กำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของธาตุนั้นๆ ความรู้ขั้นนี้จึงยังอยู่ในขั้นของสมถกรรมฐานเท่านั้น แต่หากว่านักปฏิบัติ ผู้ที่มีความฉลาด ในเมื่อมาเจริญสมถกรรมฐานขึ้นพิจารณาธาตุววัฏฐานชำนิชำนาญ อาจจะปฏิวัติจิตของตนเอง โดยน้อมความรู้ ความคิด ความเห็น ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จากเนื้อหนังมาเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ มีความรู้น้อมไปในแง่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ (คือทนอยู่ไม่ได้) อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวของตัว หรือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ถ้าหากว่าจิตมีภูมิเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติยังไม่ได้น้อมจิตเข้าไปสู่ภูมินั้น แต่หากจิตมีอันเป็นไปเอง

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐาน เพ่งดูร่างกาย ซึ่งมีนิมิตปรากฏขึ้นในสมาธิ จะเป็นร่างกายตัวเองก็ตาม ร่างกายของคนอื่น สัตว์อื่นก็ตาม เพ่งพินิจพิจารณาด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง เช่น อย่างจะเพ่งดูโครงกระดูกที่มีอยู่ในตัวของตัวเอง หรือเพ่งดูโครงกระดูกของภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้นในสมาธิ ให้มองเห็นเด่นชัดว่าเป็นโครงกระดูก ปรากฏเป็นนิมิตจนติดตา ซึ่งเรียกว่า อุคคหนิมิต การเพ่งดูโครงกระดูกจนเป็นนิมิตติดตา ซึ่งเรียกว่าอุคคหนิมิตนี้ ความเป็นของจิตในขั้นนี้ก็อยู่ในภูมิขั้นแห่งสมถกรรมฐาน ทีนี้ ถ้านักปฏิบัติมีความสามารถที่จะเพ่งโครงกระดูกนั้นให้มีการขยายใหญ่โตขึ้น หรือให้เล็กลง จนกระทั่งสามารถเพ่งโครงกระดูกถอดออกไปเป็นชิ้นๆ ไปกองไว้เป็นกองๆ จนกระทั่งสามารถเพ่งโครงกระดูกให้มีความสลายย่อยับไปจนไม่มีอะไรเหลือ แล้วพร้อมๆ กันนั้น วิถีของจิตก็น้อมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงคือ พระไตรลักษณ์ อันนี้ก็ได้ชื่อว่าภูมิจิตก้าวขึ้นไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้ สุดแล้วแต่ความฉลาดของผู้ปฏิบัติ

ถ้าหากว่าภูมิจิตของท่านผู้ใดยังไม่พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา โดยอาศัยความมีความเป็นหรือการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากภูมิแห่งสมถะ เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่พอสมควร จนกระทั่งสามารถที่จะต้องจิตไปใช้ในการงานคือการพิจารณาสภาวะได้ ตามคัมภีร์ท่านให้ยกเอาเบญจขันธ์ คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยกขึ้นมาพิจารณาว่า รูปนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัญญาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความเกิดปรากฏขึ้น แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามระยะกาล ท่านให้เริ่มฝึกพิจารณามาตั้งแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา หรือไม่เช่นนั้นก็ให้พิจารณาจำเดิมแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ตั้งแต่เป็นเด็กทารกแบเบาะ พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แล้วก็พิจารณาความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีอันเป็นไปในอนาคต โดยอาศัยสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นจากคนที่เขาเกิดก่อน แก่ก่อน ตายก่อน มาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ แล้วก็น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวของตัวเองว่า ภายในตัวของเรานี้ก็เป็นรูปก้อนหนึ่ง แล้วรูปนี้ก็มีการเกิดมา มีปฏิสนธิในครรภ์มารดา คลอดออกมาเป็นทารกได้อาศัยน้ำนมและข้าวป้อนที่ได้จากบิดามารดา มีความเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับๆ ความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายข้างเจริญขึ้นนี้ก็อยู่ในลักษณะแห่งอนิจจตา ความไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่มันเป็นความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายข้างเจริญ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในฝ่ายข้างเจริญด้วยการโตวันโตคืนขึ้นมานี้ ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทุกๆ คนชอบ ถ้าหากความเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ร่างกายของคนและสัตว์ทุกจำพวกก็จะต้องมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในข้างฝ่ายเสื่อม คือเรียกว่า ลดความเจริญลงทุกทีๆ คือเจริญลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นความแก่ ความเจ็บ และความตายในที่สุด ในเมื่อร่างกายอันนี้ตายลงไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายก็ไม่ได้หยุดยังอยู่เพียงแค่นั้น ก็ยังมีการแตกสลายย่อยยับเปลี่ยนแปลงไปอีก จนกระทั่งหายสาบสูญไปไม่มีอะไรเหลืออยู่ อันนี้คือการพิจารณารูปในขึ้นแห่งวิปัสสนากรรมฐาน คือดูความเปลี่ยนแปลงของรูปคือร่างกาย

ในขั้นสมถะนั้น เราดูความจริงของร่างกายในแง่ความเป็นจริง คือเป็นของปฏิกูล หรือเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราดูความจริงของวัตถุคือกายที่มีอยู่ เป็นแต่เพียงดูให้รู้จักว่าสิ่งนี้คืออันนี้ สิ่งนี้คืออันนี้เท่านั้น แต่ในภูมิขั้นแห่งวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราดูความเปลี่ยนแปลง ความยักย้าย ความไม่คงทน ความไม่เป็นไปตามความปรารถนาของร่างกาย เพราะฉะนั้น พึงทำความเข้าใจว่า การพิจารณาสภาวธรรมในขั้นวิปัสสนากรรมฐานนั้น นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านสอนให้พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมคือร่างกายอันนี้ ตั้งแต่แรกเกิดมาจนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้น แล้วค่อยเจริญลงเปลี่ยนไปเป็นความชรา ความเจ็บ ความตาย จนกระทั่งแตกสลายในที่สุด ไม่มีอะไรเหลือ การดูความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ นักปฏิบัติพึงเข้าใจว่าเป็นการเจริญกรรมฐานขั้นวิปัสสนากรรมฐาน

ทีนี้ ส่วนการพิจารณาดู เวทนา ก็เหมือนกัน เวทนาตามตำราท่านก็ว่ามี สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อุเบกขาเวทนา ทีนี้ เวทนาที่เป็นสุขนั้น ทุกๆ คนก็ชอบ พอใจ แต่เวทนาที่เป็นทุกข์เหลือทนนั้นทุกคนไม่ชอบ แต่ทั้งสุขทั้งทุกข์นี่แหละ ย่อมเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นอย่างความสุขเกิดขึ้นแล้ว ดำรงอยู่เพียงชั่วครู่หนึ่งยังไม่จุใจผู้ที่เสวยความสุข แต่แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น คือมีความทุกข์เกิดขึ้นมาแทน ทีนี้ ทุกข์เหลือทนที่มันกิดขึ้นก็ดี ทุกข์เล็กน้อยที่เกิดขึ้นก็ดี มันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง เสร็จแล้วมันก็หายไป สุข ทุกข์ อุเบกขา ความเป็นกลางๆ ย่อมเป็นเวทนาที่ทุกคนที่มีชีวิตมีใจจะต้องประสบ อาการความเปลี่ยนแปลงของความสุขและความทุกข์ และความเป็นกลางๆ ของเวทนานั้น ล้วนแต่ลักษณะแสดงถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของสภาวธรรมส่วนหนึ่ง

การพิจารณา สัญญา ก็เหมือนกัน สัญญา ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ จำได้แล้วก็หลงลืมไป ความหลง ความลืม หรือความเปลี่ยนแปลงของความทรงจำนั้น มันก็อยู่ในลักษณะแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เราพิจารณาอย่างนี้แล้ว สังขาร คือความปรุงแต่งก็เหมือนกัน สังขารตามตำรับตำราท่านก็ว่า สังขารมีใจครอง และสังขารไม่มีใจครอง ไม่จำเป็นจะต้องนำมาอธิบาย เพราะทุกท่านเรียนมาแล้ว แต่สังขารซึ่งเป็นตัวการในสภาวธรรมทั้งสิ้นนั้นคือดวงจิต ดวงจิตดวงนี้เป็นตัวปรุง เป็นตัวแต่ง ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นจากดวงจิตดวงนี้

ในเมื่อนักปฏิบัติในขั้นภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ได้มาพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของรูป ของเวทนา ของสัญญา แล้วก็มากำหนดดูความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตโดยปกติธรรมดาจิตจะอยู่นิ่งตลอดการไม่ได้ ย่อมมีความคิดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ในบางสำนักท่านจึงให้ศึกษาเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างง่ายๆ คือ ให้กำหนดดูความเกิดและความดับของอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตและพร้อมๆ กันนั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นย่อมอำนวยผลให้จิตมีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ บ้าง มีความเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่อย่างนี้เป็นปกติธรรมดา แล้วก็มองความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น น้อมจิตน้อมใจพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่อยู่ในอำนาจบังคัญบัญชา แม้แต่ วิญญาณ ความรู้แจ้งทางทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจก็ดี ก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ในเมื่อนักปฏิบัติมาพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นไปตามความปรารถนาและไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่มีอะไรที่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา เราปรารถนาในสิ่งนั้นๆ ไม่เป็นไปตามความต้องการ แล้วก็มากำหนดจิตรู้อยู่ที่จิต พยายามกำหนดดูความเกิด ความดับของอารมณ์ภายในจิต สิ่งใดเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ สิ่งใดดับไปก็กำหนดรู้ พร้อมๆ กันนั้นก็เอาพระไตรลักษณ์สะกดตามไป คือสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป ล้วนแต่ส่อแสดงลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งนั้น กำหนดจดจ้องดูอยู่จนกว่าจิตจะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิอีกครั้งหนึ่ง

ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ บางทีอยู่ในระดับแห่งอุปจารสมาธิ จิตก็จะปราศจากความน้อมนึกแล้ว แล้วก็จะปฏิวัติลงไปสู่การรู้ การเห็น การค้นคว้า การพิจารณาโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งดูๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ความรู้ ความผุดรู้ ผุดเห็น หรือจิตพิจารณาสภาวธรรม ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ได้ตั้งใจแต่งเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงนั้น ท่านเรียกว่า ปริยัติบังเกิดขึ้นภายใน เพราะฉะนั้น พึงทำความเข้าใจว่า ปริยัติ เกี่ยวกับการปฏิบัตินี้มีอยู่ ๒ ขั้น

ขั้นหนึ่ง อาศัยปริยัติที่ท่องบ่นจดจำจากตำรับตำราแล้วนำมาเป็นแนวพิจารณา น้อมนึกคิดพิจารณาเอาตามแบบตามแผน นี้เป็นปริยัติอีกขั้นหนึ่ง

ในเมื่อพิจารณาไป นักปฏิบัติกำหนดจิตให้สงบอยู่ในขึ้นอุปจารสมาธิที่ลึกๆ เข้าไปหน่อย ทีนี้ อารมณ์ที่เราค้นคิดพิจารณามาแต่เบื้องต้นนั้น มันจะไปเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกภายในจิตให้เกิดผุดรู้ ผุดเห็นในสภาวธรรม สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ สิ่งใดดับไปก็รู้ จิตกำหนดรู้โดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องมีเจตนาที่จะให้เป็นไปเช่นนั้น นักปฏิบัติเมื่อถึงขึ้นภูมิแห่งวิปัสสนาจริงๆ แล้วจะรู้เอง ในเมื่อจิตพิจารณาสภาวธรรมไปโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ตั้งแต่ ถ้าหากว่าจิตตกลงปลงใจรับรู้สภาพความเป็นจริง แรงความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์นั้นๆ ที่จิตกำหนดรู้อยู่ ภายหลังจิตจะแสดงอาการรวมพรึ่บไปสู่อัปปนาสมาธิอีกทีหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าจะไปรวมกำลังเพื่อกระโดยขึ้นมาสู่ความรู้แจ้งเห็นจริง ในเมื่อจิตรวมลงเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตาอย่างในภูมิแห่งสมถกรรมฐานพอสมควรแล้ว ถ้าหากว่าจิตไม่ติดในสมาธิ หรือภูมิปัญญาของจิตสามารถที่จะรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงได้ หลังจากนั้นจิตจะมีการการไหววับนิดหนึ่งแล้วก็จะมีความรู้ผุดขึ้นมาว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น หรือจะออกอุทานขึ้นมาภายในความรู้สึกว่า อ้อ...! สภาวธรรมมันเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ในเมื่อเรารู้ความเป็นจริงของสภาวธรรม คือตัวสังขารภายในจิตอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแจ่มแจ้ง ส่วนสภาวธรรมในภายนอก คือส่วนที่เกี่ยวกับรูปที่เรามองเห็นด้วยตานั้น ก็เป็นสิ่งที่เรากำหนดรู้ได้ไม่ยากนัก เพราะใจที่รู้จริงเห็นจริงแล้ว สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นตัววัตถุซึ่งปรากฏอยู่ในภายนอก

นักปฏิบัติในภูมิขั้นแห่งวิปัสสนาพึงถือหลักการพิจารณาโดยยกเอาขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแนวทางพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ โดยอาศัยความนึกคิดจากความทรงจำ จากตำรับตำราที่เราเคยศึกษาเล่าเรียนและได้ยินได้ฟังมาว่า อนิจจตา ความไม่เที่ยง เราก็เรียนรู้มาแล้ว ทุกขตา ความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ตลอดกาล เราก็เรียนรู้มาแล้ว อนัตตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือไม่อยู่ในอำนาจหรือไม่เป็นไปตามความต้องการที่เราปรารถนา เราก็เรียนรู้มาแล้ว หรือท่านผู้ใดจะยกเอาตามแบบอนัตตลักขณสูตรมาพิจารณาก็ได้ อนัตตลักขณสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุเบญจวัคคีย์นั้นแหละ คือ การปฏิบัติภูมิชั้นของจิตในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน โดยที่ท่านยกขึ้นมาว่า “รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา, รูปญฺจหิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส” เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า รูปนี้ไม่เที่ยง รูปนี้เป็นอนัตตา บุคคลไม่พึงได้ในรูปตามความปรารถนาว่า รูปนี้จงเป็นไปอย่างนั้น จงอย่าเป็นไปอย่างนี้ตามที่ตนต้องการ รูปย่อมไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้นั้น เพราะฉะนั้น รูปจึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะยึดหลักนี้เป็นแนวทางพิจารณาก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง เราได้ประสบพบเห็นอะไรก็ตาม เช่นอย่างตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดธรรมรมณ์ ก็พยายามนึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นึกจนกระทั่งจิตมันติดเป็นนิสัย จนบางครั้งบางทีลืมนึกโดยไม่ได้ตั้งใจว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างที่หลวงตาองค์หนึ่งที่อยู่ที่เมืองอุบลฯ ชื่อหลวงตาสน ท่านพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งรู้จริงเห็นจริงขึ้นมา จนจิตท่านนึกจนชำนาญว่า อนิจฺจตา สงฺขารา อนิจฺจตา สงฺขารา อะไรที่ท่านทำผิดพลาดไปหรือใครทำความผิดก็ดี ท่านมันจะเปล่งอุทานออกมาว่า อนิจฺจตา สงฺขาราๆ แม้แต่เวลานอนอาพาธอยู่ก็ อนิจฺจตา สงฺขารา อยู่อย่างนั้นจนเป็นนิสัยติดสันดานอยู่ดังนี้ แล้วจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยเพื่อพอกพูนความรู้ในด้านพระไตรลักษณ์ให้ยิ่งๆ ขึ้น

สำหรับการกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.....

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home