info4you

Saturday, April 16, 2005

9. การพิจารณาธาตุววัฏฐาน

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๙
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

การพิจารณาธาตุววัฏฐาน


ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้ฟังการอบรมเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนากรรมฐาน และการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนา และในขณะต่อมาได้ยกเอาเรื่องการพิจารณาอสุภกรรมฐานมาพูดสู่บรรดาท่านทั้งหลายฟัง โดยหลักการพิจารณาของท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เบื้องต้น ท่านสอนให้บริกรรมภาวนา มีบริกรรมภาวนา พุทโธ เป็นต้น หรือบางครั้งก็สอนให้เจริญอานาปานสติกรรมฐาน กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ให้รู้ว่าสั้นหรือยาว ตั้งฐานที่กำหนดไว้ที่ปลายจมูกที่ลมผ่านเข้าผ่านออก จนกว่าจิตจะสงบเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ

หลังจากนั้นท่านได้แนะนำให้เจริญอสุภกรรมฐาน คือ พิจารณาร่างกายทั้งหมดนี้ให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม น่าเกลียดโสโครก โดยยึดหลักกายคตาสติ เป็นแนวทางที่พิจารณา เมื่อนักปฏิบัติได้มาพิจารณาอสุภกรรมฐาน มีความรู้ความเข้าใจชำนิชำนาญ จนสามารถรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ลงไปว่า ร่างกายทั้งสิ้นเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพัง จะโดยการรู้สึกภายในใจที่น้อมใจเชื่อด้วยศรัทธาก็ตาม หรือจะมองเห็นภาพนิมิต เห็นความปฏิกูลน่าเกลียดที่ปรากฏขึ้นในความรู้สึกในทางจิตก็ตาม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ชำนิชำนาญในการพิจารณาอสุภกรรมฐาน

ในอันดับต่อไป ท่านสอนให้พิจารณาธาตุวัวัฏฐาน โดยยกเอาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขึ้นมาตั้งเป็นหลัก โดยท่านแนะนำให้กำหนดรู้ว่า ธาตุแท้ที่มีอยู่ในโลกนี้มีอยู่ ๔ ธาตุด้วยกัน คือ

ปฐวี - ธาตุดิน
อาโป-ธาตุน้ำ
เตโช- ธาตุไฟ
วาโย-ธาตุลม

ทีนี้ การพิจารณาธาตุทั้งสี่ ก็ยกเอากายของเราเป็นหลัก คือ พิจารณาตั้งแต่ผม คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทนฺตา ฟัน ตโจ หนัง มํสํ เนื้อ นหารู เอ็น อฏฺฐิ กระดูก อฏฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก วกฺกํ ม้าม หทยํ หัวใจ ยกนํ ตับ กิโลมกํ พังผืด ปิหกํ ไต ปปฺผาสํ ปอด อนฺตํ ไส้ใหญ่ อนฺตคุณํ ไส้น้อย อุทฺริยํ อาหารใหม่ กรีสํ อาหารเก่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นึกว่าเป็น ธาตุดิน เพราะมีลักษณะแข้นและแข็ง สามารถมองเห็นด้วยตา จับต้องได้ด้วยมือ โดย

พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นแต่เพียงธาตุดินเท่านั้น เพราะเหตุว่าในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื้อหนังมังสังก็ปรากฏในความรู้สึกว่า เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นกระดูก ตามสมมติบัญญัติขึ้นที่ชาวโลกเขาเรียกกัน แต่ในเมื่อสิ่งเหล่านี้สลายตัวลงไป ในที่สุดจะต้องกลายไปเป็นดินตามธรรมชาติ เพราะเหตุว่าสิ่งเหล่านี้ก็ได้มาจากดิน เพราะฉะนั้นธาตุเหล่านี้จึงเป็นดิน แล้วก็พยายามน้อมจิตพินิจพิจารณากลับไป กลับมาจนกระทั่งจิตใจเชื่อลงไปว่าร่างกายทั้งสิ้นนี้เป็นธาตุดิน

ทีนี้ เมื่อพิจารณากลับไปกลับมาจนจิตใจเชื่อมั่นลงไปว่าธาตุดินจริง โดยไม่มีการสงสัยน้อมนึก แล้วก็หยุดพิจารณาเสีย โดยกำหนดจิตบริกรรมภาวนาว่า ปฐวี ปฐวี หรือจะบริกรรมภาวนาว่า ดินๆๆ จนกระทั่งทำจิตให้สงบตั้งมั่นลงไปเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ ถ้าหากว่าภูมิจิตของท่านนักปฏิบัติมีกำลังเพียงพอ ก็จะมองเห็นภาพนิมิตปรากฏขึ้นคล้ายกับว่าจิตได้ออกจากร่างกาย ปรากฏตัวอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง แล้วก็ส่งแสงลงมาดูร่างกายที่นอนเหยียดยาวอยู่ หรือในท่านั่งอยู่ก็ตาม แล้วแต่นิมิตและอุปนิสัยของท่านผู้ใดจะเกิดขึ้น ในเมื่อปรากฏนิมิตขึ้นมาอย่างนี้ จิตก็จะจ้องมองดูร่างกายเฉยอยู่ ทีนี้ ทางฝ่ายร่างกาย ก็จะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับๆ เป็นขั้นเป็นตอน ในระยะแรกเนื้อหนังมังสังที่มองเห็นอยู่นั้นจะค่อยหลุดลงไปทีละชิ้น สองชิ้น

ในที่สุดก็จะยังเหลืออยู่แต่โครงกระดูก สุดท้ายที่สุด แม้แต่โครงกระดูกก็จะถูกทำลายย่อยยับลงไปเป็นผง บางทีอาจมองเห็นคล้ายๆ ขี้เถ้าหรือฝุ่นโปรยอยู่บนพื้นแผ่นดิน แล้วในที่สุดก็จะหายเข้าไปในพื้นแผ่นดิน มองไม่เห็นส่วนที่จะเป็นผงที่ปรากฏนั้น จะมองเห็นแต่ดินโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นธาตุแท้ และพึงสังเกตจิตของตนเองในขณะนั้น ถ้าหากว่าจิตสามารถมองเห็นนิมิตขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งร่างกายมีการแสดงอาการเน่าเปื่อยผุพังลงไป ย่อยยับลงไปเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งถึงยังเหลืออยู่แต่โครงกระดูก แล้วก็กลายเป็นผง จนกระทั่งหายเข้าไปในพื้นแผ่นดิน ยังเหลือแต่พื้นดินธรรมดา มองหาอะไรไม่เห็น

ในขณะนั้นจิตจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าไม่ได้นึกไม่ได้คิด และสิ่งที่ปรากฏอยู่ก็คือจิตที่เป็นธรรมชาติ ของผู้รู้ปรากฏอยู่เด่นชัด ส่วนร่างกายซึ่งมีการแสดงปฏิกิริยาให้จิตรู้ และจิตเป็นขั้นเป็นตอนนั้นก็จะแสดงให้ปรากฏอยู่ และในขณะนั้นจะไม่มีภาษาสมมติบัญญัติเรียกว่าอะไรเป็นอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งที่รู้มีอยู่ สิ่งที่ให้รู้ก็มีอยู่ อันนี้คือปรากฏการณ์โดยธรรมชาติ ซึ่งจิตอยู่ในสภาพเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงซึ่งเรียกว่า "สัจธรรมปรากฏขึ้นภายในจิต" คือ ปรากฏขึ้นมาว่าร่างกายทั้งปวงนี้มีแต่ดินเท่านั้น

ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ในขณะนั้นความนึกคิดอย่างนี้จะไม่มีเลย และไม่มีความคิดใดทั้งนั้น มีแต่สภาพจิตที่รู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ สิ่งให้รู้ให้เห็นก็แสดงปฏิกริยาเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว อันนี้คือลักษณะที่จิตรู้จริงเห็นจริงเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง สภาวธรรมคือร่างกายของเรานี้ ในเมื่อมันสลายลงไปแล้ว สิ่งรองรับในขั้นแรกก็คือ ปฐวี ธาตุดิน เพราะส่วนที่แข็งในร่างกายทั้งสิ้นเป็นธาตุดิน

อันนี้ ในเมื่อนักปฏิบัติได้มาหมั่นพิจพิจารณาอย่างนี้ เมื่อจิตมีความสงบและมีความก้าวไปเป็นขั้นเป็นตอนในการพิจารณาธาตุววัฏฐาน จะปรากฏความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นดังที่กล่าวมานี้

ทีนี้ มีปัญหาที่น่าสงสัยอยู่ว่า เมื่อในขณะที่จิตรู้เห็นตามเป็นจริงอยู่นั้นภาษาสมมิตเรียกบัญญัติในสิ่งนั้นไม่มีปรากฏในความรู้สึก ถ้าเช่นนั้นนักปราชญ์ผู้ให้การอบรมสั่งสอน มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเอาภาษาสมมติเรียกขานสิ่งเหล่านั้นมาจากไหน

ข้อนี้พึงทำความเข้าใจว่า ในขณะที่รู้เห็นตามเป็นจริง ภาษาไม่มีอยู่ก็จริง แต่เมื่อจิตถอนออกจากสภาพความเป็นเช่นนั้นแล้วมาสู่สภาพปกติธรรม คือ ในขณะที่จิตยังไม่สงบ ลักษณะความทรงจำในตำรับตำรา หรือได้ยินได้ฟังมาตามครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน สิ่งที่เป็นขึ้นมีขึ้นภายใจจิตนั้นจะวิ่งออกมารับสมมติ ซึ่งเรามีอยู่เต็มโลก ปฐวี ธาตุดิน เขาก็เรียกกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด กระดูกเขาก็เรียกกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เนื้อหนังมังสังเขาก็เรียกมาแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด

เมื่อจิตออกมาจากสภาพความรู้จริงเห็นจริงซึ่งไม่มีสมมติบัญญัติแล้ว จิตก็มารับเอาสมมติบัญญัติของโลก พระพุทธเจ้ารู้ธรรมที่จริงแล้วก็มาบัญญัติคำสอนตามภาษาของชาวโลก แต่ภาษาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นมิได้เหมือนภาษาของชาวโลกทั้งปวง เฉพาะภาษาของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว พระองค์ก็รู้แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่เมื่อจะสอนเวไนยสัตว์ จึงเอาธรรมที่ตรัสรู้แล้วนั้นมาบัญญัติเป็นภาษาของมนุษย์ เพราะพระองค์จะเทศน์ให้มนุษย์ฟัง ก็ต้องเอาภาษามนุษย์มาบัญญัติเรียกชื่อธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว อันนี้เป็นแผนเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายด้วยความเป็นธาตุดินโดยย่อ

ทีนี้ ในเมื่อเรามาพิจารณาธาตุดิน จนกระทั่งจิตมีความสงบรู้แจ้งเห็นจริง เชื่อมั่นลงไปว่าร่างกายทั้งสิ้นเป็นธาตุดิน ในอันดับต่อไป เราก็มาหัดพิจารณาดูธาตุน้ำคืออาโปบ้าง เราจับเค้าพิจารณาตั้งแต่ ปิตฺตํ น้ำดี เสมฺหํ น้ำเสลด ปุพฺโพ น้ำเหลือง โลหิตํ น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อสฺสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฺฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มุตตํ น้ำมูตร โดยสิ่งเหล่านี้ มีลักษณะไหล ซึมซาบขังอยู่ภายในร่างกาย เราสมมติพิจารณาว่าเป็น ธาตุน้ำ ที่พิจารณาว่าเป็นธาตุน้ำเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของเหลว เมื่อมันลงไปผสมกับน้ำ มันก็กลายเป็นน้ำไป สิ่งใดที่มันเป็นธาตุแท้อันเดียวกัน ในเมื่อมันผสมกันเข้าแล้วมันก็เข้ากันได้ อย่างเลือดหรือปุพโพโลหิตต่างๆ ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ในเมื่อตกลงไปในน้ำหรือหยดลงไปในน้ำ มันก็สลายตัวปนไปเป็นน้ำทั้งหมด เรามิได้มองเห็นว่าอันนี้เป็นเหงื่อ เป็นไคล เป็นอะไรทั้งนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นน้ำเราพยายามน้อมนึกในใจ

น้อมความเชื่อลงไปว่า ภายในร่างกายนี้มีแต่ธาตุน้ำ เป็นน้ำจริง เป็นอื่นไปไม่ได้พอเสร็จแล้ว ในเมื่อจิตมีความเชื่อมั่นลงไปเป็นจริงเป็นจังว่า มีธาตุน้ำอยู่ในร่างกาย เราก็มากำหนดจิตบริกรรมภาวนาว่า อาโปๆๆๆ จนกว่าจิตนั้นตั้งมั่นลงเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ถ้าหากว่ากำลังจิตกำลังสมาธิกับสติปัญญาของท่านผู้ปฏิบัติพร้อมแล้ว ก็จะปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมาให้เห็นภายในจิตอย่างแจ่มแจ้งว่า ภายในร่างกายนี้มีน้ำเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง แล้วก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นเด่นชัดภายในดวงจิต

แต่ในขณะที่รู้เห็นอยู่นั้นก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับในขณะที่จิตเห็นกายว่าเป็นธาตุดิน คือผู้รู้ก็ปรากฏมีอยู่ และสิ่งที่ให้รู้ให้เห็นก็ปรากฏอยู่ แต่ภาษาเรียกว่านี้คือจิต นี้คือน้ำ จะไม่มีความรู้ในขณะนั้น ภาษาสมมติว่าจิต ว่าน้ำ มันจะมีขึ้นต่อเมื่อจิตถอนออกมาจากสภาพความเป็นจริงนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นปกติ คือในขณะที่เรายังไม่ได้ภาวนา แล้วความรู้สึกสมมติบัญญัติในภาษาจะเกิดขึ้นมารับสิ่งที่เรารู้เห็นภายในจิตทันที แล้วจึงจะเป็นภาษาพูดขึ้นว่า อันนั้นคือน้ำ อันนั้นคือดิน ในทำนองนี้

ในเมื่อเราหัดพิจารณา ดิน น้ำ จนชำนิชำนาญคล่องแคล่ว สามารถรู้จริงเห็นจริงแล้ว อันดับต่อไปก็พิจารณาดูไฟ ซึ่งมีอยู่ในร่างกาย ความร้อนที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหมดนั้นจัดเป็นธาตุไฟ เช่น ความร้อนที่ลมหายใจออก ความอุ่นที่หนัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ธาตุไฟ แล้วก็น้อมจิตเชื่อมั่นลงไป เพ่งเล็งลงไปให้เห็นนิมิตว่า ในร่างกายนี้มีไฟเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง ซึ่งปรากฏเด่นชัดตามที่กล่าวมาแล้วในการพิจารณาดินและน้ำ

ในเมื่อจิตเห็นชัดลงไปเช่นนั้น ในขั้นต่อไปก็พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับ ลม ลม ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในไส้ จนกระทั่งลมหายใจเข้าออก ให้นึกว่าภายในส่วนประกอบของความเป็นร่างกายนี้ มีลมอยู่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนประกอบ จะขาดเสียไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็กำหนดรู้ดูลมซึ่งมีอยู่ภายในร่างกาย จนกระทั่งเกิดนิมิตมองเห็นลมได้เด่นชัด แล้วจิตก็จะมีความสงบเพ่งลงไปเป็นระยะๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว ถ้าหากว่าภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นมีกำลังพอสมควรที่สามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้ ลมก็จะปรากฏเป็นนิมิตให้จิตรู้โดยประการต่างๆ บางทีก็จะปรากฏคล้ายกับว่ามีสิ่งที่ลอยเลื่อนไป มีลักษณะเหมือนก้อนเมฆ หรือเหมือนสำลี ประกอบด้วยความสว่างไสว ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติทั้งนั้น

จิตผู้รู้ก็ปรากฏอยู่ สิ่งที่ให้รู้โดยอาการเปลี่ยนไปของลม หรือความมีลมที่ปรากฏอยู่ก็จะมีปรากฏอยู่โดยอัตโนมัติ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น แล้วจะไม่มีคำพูดที่ว่า นี้คือ จิต นี้คือลม ต่อเมื่อจิตถอนออกมาจากสภาพรู้จริงเห็นจริงในลักษณะดังกล่าว มาสู่สภาพปกติสามัญธรรมดา เหมือนกับในขณะที่เรายังไม่ภาวนา ภาษาที่สมมติ ว่าลม ว่าจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับกับความรู้ที่เราได้รู้นั้น

อันนี้เป็นวิถีทางการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ คนสัตว์เป็นแค่เพียงสมมติบัญญัติ เรียกเอาเท่านั้น ในเมื่อร่างกายทั้งหมดนี้สลายลงไปแล้วก็จะกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เข้าไปสู่ธาตุแท้ ซึ่งมีอยู่ดั้งเดิม คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม ในเมื่อสิ่งเหล่านี้มันยังประชุมพร้อมกันอยู่ตราบใด ยังไม่แตกสลายตราบใด ปฏิสนธิวิญญาณเข้ามายึดครองซึ่งเราเรียกว่าจิตมายึดมั่นถือมั่นเป็นตนเป็นของตน เป็นเราเป็นเขา ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน เราก็ยังรู้สึกว่าเรามีตัวมีตน เป็นคนเป็นสัตว์ แต่ที่แท้ก็เป็นแต่เพียงสมมติบัญญติ

สิ่งที่เป็นคนเป็นสัตว์ก็เป็นไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อย่างดีก็ไม่เกินร้อยปี ในเมื่อร่างกายทั้งสิ้นได้แตกสลายลงไปแล้ว มันก็จะกลับกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตามเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้เราได้มาจากธาตุดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ โดยธรรมชาติ เช่นอย่างอาหารทั้งหลายที่เราบริโภคและดื่มลงไปมันก็ได้มาจากดิน ธาตุน้ำ ข้าวก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ผักหญ้าอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารนั้น มันก็เป็นธาตุดินทั้งนั้น นี้โดยธรรมชาติ มันเป็นอยู่อย่างนี้

ทีนี้ ในขณะที่เราน้อมนึกพิจารณาเห็น บางทีจิตมันจะสงบลงไป ในขณะที่จิตพิจารณาในอาการใดอาการหนึ่ง ถ้ามีปรากฏการณ์ อะไรปรากฏขึ้น ก็ให้จิตมันสงบนิ่งลงไปตามธรรมชาติ อย่านึกถึงสิ่งที่ปรากฏนั้น ในขณะที่จิตพิจารณาธาตุอยู่นั้น ถ้าหากปรากฏนิมิตเป็นรูปคน รูปสัตว์ อะไรปรากฏในความรู้สึก ก็ให้ยึดเอาสิ่งนั้นมาเป็นหลักพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่าท่านผู้ใดไม่อาจจดจำอาการ ๓๒ ได้ครบถ้วนตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ให้พิจารณาโดยรวมกัน

คือพิจารณานึกว่าร่างกายนี้มันก็ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันประชุมกันอยู่กลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วก็มีวิญญาณเข้าสิงสถิตอยู่อาศัยอยู่ อาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม อุปถัมภ์ชุบเลี้ยง ให้เป็นไป เรานึกพิจารณาเอารวมๆ อย่างนี้ก็ได้

แต่ในขณะที่พิจารณาอยู่นั้น บางครั้งจิตมันก็สงบ บางครั้งจิตมันก็ไม่สงบ ถึงจิตมันจะไม่สงบเราก็พยายามน้อมนึกพิจารณาเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจิตมันจะเกิดสงบขึ้นมาจริงๆ ถ้าหากมันไม่สงบในขณะนั้นหรือมันไม่รู้ไม่เห็นในขณะนั้น มันอาจจะเกิดเพราะเราอยากให้มันสงบ เราอยากรู้อยากเห็น ความอยากมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เมื่อเราทำอะไรด้วยความอยาก เราจะไม่รู้ เราจะไม่เห็น เช่น เราภาวนาด้วยความอยากให้จิตสงบ จิตของเราจะไม่สงบ ในเมื่อเราพิจารณาธรรมด้วยความอยากรู้อยากเห็น เราจะไม่รู้ไม่เห็น ต่อเมื่อเราไม่อยากรู้อยากเห็นนั้นแหละเราจึงจะรู้จะเห็นขึ้นมา

บางทีนั่งพิจารณาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่งค่อนคืน จวนๆ จะสว่าง มันก็ไม่มีความสงบ ไม่มีความรู้เกิดขึ้น แต่บางทีรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เมื่อเหนื่อยแล้วก็ทอดธุระ หมดอาลัยตายอยากในหน้าที่ที่พึ่งพิจารณา เกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาว่า พิจารณาทั้งคืนมันก็ไม่ได้ผล นอนดีกว่า นอนให้สบายดีกว่า แต่เมื่อนอนลงไปแล้ว เราตั้งใจว่าจะนอนให้มันสบาย ความอยากรู้อยากเห็นอยากมีอยากเป็นในสิ่งเหล่านั้นมันก็หายขาดไป โดยปกตินักภาวนาหรือนักปฏิบัติทั้งหลาย เวลานอนเขาไม่ได้นอนเปล่า นอนกำหนดจิตเรื่อยไป จนกว่าจะนอนหลับ ทีนี้ เมื่อกำหนดจิตเรื่อยไปจนกว่าจะนอนหลับ หลับแล้วจิตอาจจะตื่นกลายเป็นสมาธิก็ได้ เมื่อกลายเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว

สิ่งที่เราพิจารณาไว้ตั้งแต่เบื้องต้น พิจารณาด้วยความไม่รู้และพิจารณาด้วยความที่จิตไม่สงบนั้นแหละ มันจะไปสงบขึ้นในขณะที่เรานอนแล้วก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงตามแนวที่เราพิจารณานั้นในขณะที่เรานอน ในขั้นต้นเราตั้งใจจะนอนให้หลับ เพราะอาศัยผลแห่งการปฏิบัติไม่ขาดสาย เมื่อหลับลงไปแล้ว มันหลับสนิทจริงๆ แต่จิตมันกลับตื่นขึ้นเป็นสมาธิขณะนอนอยู่ แล้วสามารถที่จะรู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริงขึ้นมาแต่ในขณะที่นอนโดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ อันนี้ผู้ที่ปฏิบัติไปนานค่อยใช้ความสังเกตและพิจารณาไปเรื่อยๆ ประสบกราณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นแก่ท่านผู้เป็นนักปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริงทุกๆ ท่าน อย่างบางทีเราคอยกันอยู่ ความสงบมันก็เกิดขึ้น แล้วความรู้มันก็เกิดขึ้น

ตัวอย่างก็เคยมีอยู่แล้ว ในวันที่จะเริ่มปฐมสังคายนา พระพุทธเจ้าเคยทรงพยากรณ์พระอานนท์ว่า ท่านจะบรรลุพระอรหันต์ในวันทำสังคายนา ท่านก็เชื่อในพระโอวาทของพระพุทธเจ้า ท่านพยายามเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ตลอดคืนยั่นรุ่ง นัยว่าเดินจงกรมจนเท้าแตกก็ไม่สามารถจะบรรลุพระอรหันต์ได้ พอท่านเหน็ดเหนื่อยเต็มที่แล้วจนทนไม่ไหว ท่านก็มาคำนึงในใจว่า เรายังไม่สำเร็จพระอรหันต์เราจะพักผ่อนให้สบายก่อน ทีนี้ เมื่อจะตั้งใจพักผ่อนให้สบาย พอเอนกายลง มันวางหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ความอยากเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้นก็ไม่มี มีแต่ตั้งใจว่าเราจะนอน ในเมื่อเอนกายลงไประหว่างครึ่งนั่งครึ่งนอน จิตก็รวมพรึ่บเป็นสมาธิขึ้นมา ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น นี้คือตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราบริกรรมภาวนาพิจารณาธรรมอันใดอันหนึ่งก็ตาม ในขณะที่เราบริกรรมหรือพิจารณาอยู่ จิตของเราอาจจะไม่สงบ และอาจจะไม่มีความรู้ใดๆ เกิดขึ้น ก็ขอได้โปรดอย่าท้อถอย ให้ใช้ขันติ ความอดทน พยายามปฏิบัติไป วันหนึ่งก็จะต้องเห็นผลอย่างแน่นอน ขอให้เราตั้งใจทำจริง ปฏิบัติจริงเท่านั้นเป็นพอ โดยยึดหลักโพชฌงค์ว่า ภาวิตา - อบรมให้มากๆ พหุลีกตา กระทำให้มากๆ คือ ทำทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เว้น แต่เวลาหลับการทำสมาธิมิได้หมายความว่าเราจะมากำหนดจิตบริกรรมภาวนาหรือมาพิจารณาเฉพาะในขณะนั่งหลับตาเท่านั้น แม้เวลาอื่นนอกจากการปฏิบัติ คือนอกจาการเดินจงกรมและจากการนั่งสมาธิ เราจะทำอะไร จะพูด จะคิด จะดื่ม จะฉัน จะรับประทานอะไรก็ตาม ให้มีสติสัมปชัญญะคอยกำกับ และเอาตัวรู้สะกดตามไปด้วย คือ ให้มีผู้รู้

ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะกำกับรู้กิริยาอาการ ความเคลื่อนไหวของเราอยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คอด เราก็มีสติสังวรอยู่ การที่มีสติสังวรอยู่ สํวโร คือ การสำรวม การสำรวม ก็คือ ศีล ความตั้งมั่นจดจ้องต่อการสังวรระวัง อันนั้นก็คือ สมาธิ ความมีสติสัมปชัญญะ รู้รอบคอบอยู่ทุกอิริยาบถนั้น คือตัว ปัญญา ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงเข้าใจตามนัยที่กล่าวมานี้

การกล่าวให้โอวาทตักเตือนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาแยกธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมลงสู่ธาตุแท้ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ วาโย ธาตุลม เตโช ธาตุไฟ ให้เห็นว่าร่างกายเป็นแต่สักว่าธาตุ ๔ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้...

------------------------------------

คัดลอกจาก: อบรมกรรมฐาน
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

_/|\_ _/|\_ _/|\_ ด้วยจิตกราบบูชา


จากคุณ : mayrin

0 Comments:

Post a Comment

<< Home