info4you

Saturday, April 16, 2005

7. การเจริญอสุภกรรมฐาน

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๗
วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
การเจริญอสุภกรรมฐาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เมื่อตะกี้ท่านได้ฟังธรรมะจากท่านอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ซึ่งก็เป็นหลักการที่ถูกต้องและน่าฟังอย่างจับใจ นอกจากจะน่าฟังแล้วยังเป็นสิ่งที่ควรยึดถือเป็นคติในการปฏิบัติธรรมด้วย

ท่านบอกว่า การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่พื้นฐานคือ ศีล ศีลคือวินัย ต้องละเอียดและบริสุทธิ์สะอาด จึงจะเป็นฐานที่รองรับสมาธิคือการตั้งจิตมั่น เมื่อสมาธิการตั้งจิตมั่นมีพร้อมแล้ว ก็เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา หมายถึงปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง อันนี้เป็นหลักการสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ผู้หวังความเจริญในการปฏิบัติจำเป็นต้องรักษาต้นพรหมจรรย์คือศีล ให้บริสุทธิ์สะอาด เพราะศีลนี้เป็นการปรับพื้นฐาน คือ กาย วาจา ให้อยู่ในระเบียบพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ในเมื่อพื้นฐานที่เราปรับดีแล้ว เราจะปลูกฝังศีล สมาธิ ปัญญา ลงไป มันก็เป็นสิ่งที่จะผลิดอกออกผลได้ง่าย อันนี้เป็นหลัก และท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่า หลักการใหญ่ๆ ในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เราจะต้องยึดศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นหลักกการที่จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องศีล ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ นอกจากจะอบรมสมาธิให้มีให้เป็นขึ้นง่ายแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัยอีกด้วย ผู้ปฏิบัติแล้วเกิดสัญญาวิปลาศสำคัญผิดว่าเป็นถูก สาเหตุเนื่องมาจากความเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ การทำสมาธินั้น ไม่เฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนา แม้ในลัทธิศาสนาอื่นๆ เขาก็มีการทำสมาธิกัน เช่นอย่างในลัทธิศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาพราหมณ์นี้ มีมาก่อนพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก เพราะฉะนั้น ในหลักการของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงยกว่าศีลเป็นหลักการสำคัญ เพราะศีลที่บริสุทธิ์สะอาดแล้วนั้น มันเป็นสิ่งซึ่งเป็นกำแพงกั้นความเข้าใจผิดในพระพุทธศาสนามิให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้หวังความเจริญพึงยังศีลของตนให้บริสุทธิ์ ในเมื่อศีลบริสุทธิ์ บำเพ็นสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นแล้ว เราจะใช้สมาธิของเราไปในแนวไหน เราก็เอาหลักศีลมาเป็นเครื่องวัดมาเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าหากการใช้สมาธิออกไปนอกขอบเขตของศีลก็เรียกว่า เราใช้สมาธิผิด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้มุ่งหวังที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน หรือแม้แต่คุณธรรมชั้นสูงที่ถูกต้องตามหลักคำสอนนั้น จะต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์

สำหรับวันนี้ ใคร่ที่จะนำเรื่องการเจริญอสุภกรรมฐานมากล่าวพอเป็นคติแก่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ตามแนวทางที่ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้เคยอบรมสั่งสอนมา ท่านให้คติเตือนใจไว้ว่า ผู้ที่มาเจริญบริกรรมภาวนาจนทำจิตให้เป็นสมาธิได้ดีแล้ว ควรจะต้องผ่านการพิจารณาอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาร่างกายของตนเองและร่างกายของผู้อื่นให้เห็นเป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก เมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานเป็นที่เข้าใจ จนจิตยอมรับว่า ร่างกายทั้งสิ้น ทั้งของตนและของคนอื่น เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกสกปรก ยอมรับลงไปอย่างจริงจังแล้ว หลังจากนั้น เพื่อความก้าวหน้าของการบำเพ็ญ ท่านแนะนำให้เจริญธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณากายของตนเองแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้จิตยอมรับลงไปว่า ร่างกายที่เรายึดถือว่าเป็นของๆ เราอยู่นี้ แท้ที่จริงก็หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี เป็นสักแต่ว่าความประชุมของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาศัยวิญญาณเข้าไปสิงสถิตยึดครองโดยยึดมั่น ถือมั่น โดยการถือว่าเป็นของๆ ตน นี่ท่านอาจารย์เสาร์ได้ให้คำแนะนำและแนะแนวไว้อย่างนี้ ดังนั้น สำหรับวันนี้ จึงจักนำวิธีการพิจารณาอสุภกรรมฐาน ตามคำแนะนำของท่านอาจารย์เสาร์ซึ่งได้ให้การอบรมสั่งสอนมา

การพิจารณาอสุภกรรมฐานนั้น เราจะยึดอะไรเป็นหลัก เราก็ยึดกายกับใจนั้นแหละเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญ ในที่นี้ขอใช้คำว่า จิต พูดทั้งจิตทั้งใจเดี๋ยวจะเป็นการเข้าใจสับสน จะขอใช้คำว่า จิต กับ กาย เราเอาจิตนี้พิจารณาร่างกาย ตั้งแต่เบื้องบนลงมาถึงเบื้องล่าง ตั้งแต่เบื้องล่างขึ้นไปถึงเบื้องบน โดยแยกออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเรียกว่า กายคตาสติ ซึ่งมีอาการ ๓๒ พิจารณาตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดังที่พระอุปัชฌายะท่านได้ให้มูลกรรมฐานในเบื้องต้น ในวันที่เราบรรพชาเป็นสามเณร ท่านจะสอนมูลกรรมฐาน คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา แต่สุดท้ายท่านจะย้ำเตือนว่า ให้พิจารณาสิ่งทั้งห้านี้ให้เห็นเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เพื่อจะเป็นอุบายให้จิตมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นจริงโดยธรรมชาติ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก จะได้เป็นอุบายถ่ายถอน ราคะ ความกำหนัดยินดี มิให้เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ เราจะได้อยู่เย็นเป็นสุขในพระธรรมวินัยสืบไป อันนี้เป็นโอวาทที่พระอุปัชฌายะสอนบรรดากุลบุตรผู้เข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรในวาระแรก เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงยังไม่ลืม

ดังนั้น การพิจารณา ผม อุปัชฌายะท่านสอนว่า ผมคือสิ่งที่เป็นเส้นๆ เกิดอยู่บนศีรษะ เบื้องหน้ากำหนดตั้งแต่หน้าผาก เบื้องหลังกำหนดท้ายทอยตรงปลายคอต่อ เบื้องข้างกำหนดแต่หมวกหูทั้งสอง ผมนี้เมื่อน้อยก็ยังมีสีดำ เมื่อแก่มาเปลี่ยนเป็นสีขาว และลงผลสุดท้ายก็จะร่วงหลุดลงไปเน่าเปื่อยผุพังเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ซึ่งโดยปกติแล้ว ผมก็เกิดอยู่ในสถานที่ปฏิกูลสกปรกชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิตที่มีอยู่ในร่างกายอันนี้ ท่านให้พิจารณากลับไปกลับมา

แล้วก็พิจารณา ขน ในสภาวะเช่นเดียวกัน คือเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เพราะที่เกิดนั้นเต็มไปด้วยปุพโพโลหิตอันมีอยู่ภายในร่างกาย ซึ่งขนมีอยู่ทั่วร่างกายโดยทั่วๆ ไป เว้นฝ่ามือและฝ่าเท้า

ในขั้นต่อไป ท่านให้ฝึกหัดพิจารณา เล็บ ซึ่งคือสิ่งที่เป็นเกล็ดๆ ที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท่าทั้ง ๒๐ นิ้ว พิจารณาดูความสกปรกโสโครก เราใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ไปถูกต้องกับสิ่งที่ปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เราต้องเป็นภาระต้องไปทำความสะอาด คอยแกะคอยแคะมูลเล็บ และล้างด้วยสบู่ด้วยน้ำ รักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพราะว่าเล็บนี้ก็เกิดอยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก

ฟัน ซึ่งเป็นกระดูกที่เป็นชิ้นๆ เกิดอยู่ภายในปาก เราใช้เคี้ยวบดอาหาร ฟันนี้ยิ่งเป็นของสกปรกเพราะยิ่งชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิตตลอดเวลา ภายในปากก็มีน้ำลายไหลออกมาอยู่เสมอ ให้พิจารณาน้อมลงไปว่า ฟันนี้ก็เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เราต้องคอยบริหารรักษาเอาใจใส่แกะแคะขี้ฟัน และแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ เช่นอย่างฉันจังหันแล้วไม่แคะไม่จิ้ม สิ่งที่ติดอยู่ภายในซอกฟัน หรือว่าไม่แปรงฟันให้สะอาดแล้ว ภายหลังจะเกิดความบูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดยิ่งนัก

หนัง ที่เป็นสอ่งที่ห่อหุ้มอยู่ทั่วร่างกาย ถ้าจะม้วนเข้ามาแล้ว หนังจะได้ก้อนโตขนาดผลพุทราอย่างใหญ่ หนังเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มสิ่งที่ปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกเอาไว้ เพราะภายในนั้นย่อมเต็มไปด้วยน้ำเหลือง เลือด สารพัด เวลาเกิดร้อนเหงื่อไคลไหลออกมาล้วนแต่เป็นสิ่งสกปรกโสโครกเหม็นสาบปฏิกูล ท่านให้พิจารณาอย่างนี้
แล้วก็พิจารณากลับไปกลับมา ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วก็ถอยย้อนขึ้นไปถึงผม ในขั้นแรกนี้ เราก็พิจารณาเอาด้วยความนึกคิดที่เราเคยเรียนมาด้วยสัญญา ความจดจำ สิ่งใดอุบายใดที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกในสิ่งทั้งห้าดังที่กล่าวมานี้ เราก็พยายามน้อมนึกคิดเอาด้วยปัญญาสดๆ ร้อนๆ พร้อมกับน้อมจิตน้อมใจให้มันเชื่อมั่นลงไป ให้มันยอมรับรู้สภาพความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งห้านี้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก จะแม้ด้วยการน้อมใจเชื่อโดยกาน้อมนึกปรุงแต่งเอาก็ตาม

ภายหลังจากที่เราน้อมนึกคิดพิจารณาอย่างนี้แล้ว เราอาจจะบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเพ่งจดจ้องอยู่ที่ผมแล้วก็บริกรรมภาวนาว่า เกสาๆๆ พยายามส่งจิตส่งใจจดจ้องเพ่งเล็งดูอยู่ที่ผม จนกระทั่งจิตมันสงบมองเห็นผมชัดเจนขึ้นมา หรือมิฉะนั้นจะบริกรรมพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ นขา โลมา เกสา ก็ได้ จนกว่าจิตมันจะสงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิตามสมควร ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิแล้ว ถ้าหากปัญญาเราสามารถที่จะรู้จริงเห็นจริง เราจะมองเห็นสิ่งทั้งห้านี้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกขึ้นมาโดยนิมิตและความรู้แจ้งอย่างชัดเจน ในเมื่อมีความรู้ความเห็นปรากฏขึ้นมาแล้ว จิตจะยอมรับทันทีว่าสิ่งทั้งห้าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก

แม้การพิจารณาในอาการทั่วๆ ไปภายในร่างกาย ก็ให้ยึดถึงหลักการพิจารณาตามแนวที่กล่าวมานี้ หรือจะพิจารณารวดเดียวไปจนครบอาการ ๓๒ แยกออกเป็นส่วนๆ ตามที่เราได้จดจำมาตามหลักปริยัติ แม้แต่จิตจะสงบลงก็ตาม ไม่สงบก็ตาม จิตจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เราก็ต้องพยายามปฏิบัติ พยายามพิจารณา โดยปลูกศรัทธาน้อมใจเชื่อลงไป เพราะการค้นคิดพิจารณานั้นเป็นอุบายให้จิตของเราเกิดพลัง คือเกิด ศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความเพียร สติ ความรู้เท่าทัน สมาธิ ความตั้งใจมั่น ปัญญา ความรู้จริงเห็นจริงตามสภาวธรรม ในเมื่อจิตเกิดความรู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรมขึ้นมาแล้ว จิตก็จะยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในร่างกาย แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก แม้ตายไปแล้ว เกิดเน่าขึ้นมา ยิ่งเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก อันนี้แล้วแต่ภูมิปัญญาของท่านนักปฏิบัติจะพิจารณาได้กว้างแคบเท่าไร สุดแท้แต่ความสามารถ

และอีกนัยหนึ่ง ถ้าหากสมมติว่า ท่านอาจจะขี้เกียจพิจารณาไปมากๆ การจะนึกไปจนครบอาการ ๓๒ นั้น มันเป็นการลำบาก ท่านก็มีอุบายวิธีให้ปฏิบัติอย่างหนึ่ง คือให้กำหนดเอาแต่อย่างเดียว เช่นว่าท่านจะแนะนำให้กำหนดดูกระดูก โดยเราจะจ้องมองหรือเพ่งเล็งดูกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ ทางที่ดีควรจะเอากระดูกหน้าอก คือกำหนดแหวกหนังออกด้วยความนึกคิด คือ นึกเอา ปรุงเอา แต่งเอง แล้วก็เถือเนื้อออก น้อมจิตให้มันนึกลงไปถึงกระดูก ตอนนี้เราเห็นกันด้วยความคิด ทีนี้ ก็พิจารณาถอยออกถอยเข้าอยู่อย่างนั้น ให้เชื่อมั่นลงไปว่ากระดูกมันมีอยู่ตรงนี้ แหวกหนังออก เถือเนื้อออก จิตก็จดจ่อลงไปทีละนิด จิตมันเกิดเชื่อมั่นลงไปว่า กระดูกอยู่ที่ตรงนี้กระดูกหน้าอก ภายหลังเมื่อเราพิจารณาเมื่อยแล้ว เราก็มาบริกรรมภาวนาว่า อัฏฐิๆๆ แล้วก็จ่อจิตลงไปตรงที่เรากำหนดแหวกหนังออก เถือเนื้อออก จ่อลงไปทีละนิด บริกรรมภาวนาว่า อัฏฐิๆๆ อยู่อย่างนั้น ในเมื่อหนักๆ เข้า จิตของเราตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ มันก็จะเกิดนิมิตเห็นกระดูกตรงจุดนั้น อันนี้ถ้าหากว่าสมาธิของเราสามารถที่จะสงบแก่กล้า มีสติสัมปชัญญะ สามารถที่จ้องมองดูได้ ถ้าหากไม่เห็นนิมิตอย่างที่ว่า เอากันแต่เพียงความเชื่อมั่นว่ากระดูกมีอยู่จะเพ่งเล็งดู อันนี้ก็เป็นอุบายอีกอันหนึ่ง หรือจะยึดเอาอาการ ๓๒ อีกอันใดอันหนึ่ง หยิบยกขึ้นมาพิจารณาจ้องมองดูแต่ส่วนนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่เพื่อที่จะให้จิตมันเกิดพลัง หรือเกิดสติปัญญากว้างขวางยิ่งขึ้น ก็ควรจะกำหนดพิจารณาไปจนครบอาการ ๓๒ แล้วจึงมาค่อยเพ่งจ้องมองพิจารณาดูอาการใดอาการหนึ่งโดยเฉพาะ

ทีนี้ ในขณะที่เรากำหนดพิจารณาในอาการ ๓๒ ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ถ้าหากในขณะที่เราพิจารณาอยู่นั้น จิตของเราทำท่าจะสงบเป็นสมาธิอยู่ในอาการใด เราก็ปล่อยให้มันสงบนิ่งอยู่ในอาการนั้น อย่าไปฝืน ฝืนเฉพาะที่มันจะส่ายออกไปข้างนอก ไปหาเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่หน้าที่ ถ้าหากว่ามันจดจ้องอยู่ในเรื่องราวที่เราพิจารณาและทำท่าจะสงบลง ในเมื่อเรานึกถึงในอาการใดอาการหนึ่ง ก็ปล่อยให้มันสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น แล้วก็เพ่งเล็งจดจ้องอยู่ที่ตรงนั้น จนกว่ามันจะมองเห็นนิมิตผุดขึ้นมาให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าหากว่าจิตมันจะจดจ้องเพ่งเล็งมองดูอยู่อย่างนั้น เราก็ปล่อยให้มันดูอยู่อย่างนั้นไปก่อน ในเมื่อจิตมีกำลังกล้าพอสมควรแล้ว จิตมันก็จะปรุงจะแต่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เราจ้องมองดูอยู่นั้นให้เป็นไปต่างๆ ตามหลักเกณฑ์แห่งของที่เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดตามที่เราได้พิจารณาไว้แต่เบื้องต้น อันนี้เป็นวิธีการเจิรญกายคตาสติ

หลักสำคัญ ผู้ที่ปฏิบัติด้วยการเจริญกายคตาสตินี้ควรจะจดจำอาการ ๓๒ คือ อยํ โข เม กาโย กายของเรานี้หนอ อุทฺธํ ปาทตลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อโธ เกามตฺถกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโร นานปฺปการสฺส อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ เกสา คือผมทั้งหลาย โลมา คือขนทั้งหลาย นขา คือเล็บทั้งหลาย ทนฺตา คือฟันทั้งหลาย ตโจ คือหนัง จนกระทั่งครบอาการ ๓๒ ถ้าท่องจำได้ทั้งบาลีและคำแปลได้ยิ่งดี จะเป็นคู่มือในการฝึกหัดพิจารณา เพราะการพิจารณาธรรมนั้น เราจะต้องอาศัยหลักปริยัติเป็นสำคัญ ถ้าหากเราไม่รู้หลักปริยัติบ้าง ก็ไม่รู้จะเอาหลักอะไรมาพิจารณา ฉะนั้น การที่จดจำอาการ ๓๒ ให้ได้จนคล่องปากนั้น เป็นปัจจัยเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง และเป็นิส่งจำเป็นที่นักปฏิบัติทั้งหลายจะต้องพยายามจดจำให้ได้

สำหรับการกล่าวเรื่องการเจริญอสุภกรรมฐาน พอเป็นแนวทางสำหรับท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเพียงย่อๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้...

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home