info4you

Saturday, April 16, 2005

6. ศีลคือกรอบของการใช้กิเลส

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๖
วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
ศีลคือกรอบของการใช้กิเลส

ท่านสหธรรมิกและท่านพุทธบริษัททั้งหลาย

วันนี้ เรามาพร้อมเพรียงกันทั้งบริษัทภายนอก และบริษัทภายใน บริษัทภายในก็คือพระภิกษุสามเณร ส่วนภายนอกก็คือชาวบ้านทั้งหลาย ได้สละเวลามาร่วมการกุศลทำบุญฉลองอายุครบรอบ ๕๓ ปี ของท่านพระอาจารย์สมชาย (ฐิตวิริโย) ซึ่งเราท่านทั้งหลายได้เสียสละเวลามาด้วยจิตใจเลื่อใสศรัทธาในคุณงามความดีของท่านอาจารย์สมชาย ได้เคยฟังโอวาทของท่านพ่อลี ซึ่งเป็นพระเถระซึ่งเป็นที่พึ่งของชาวจันทบุรีมานาน ซึ่งขณะนี้ท่านก็ได้มรณภาพไปแล้วท่านให้โอวาทเป็นที่จับใจอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งมีใจความว่า การปฏิบัติธรรมในเมื่อเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สามารถที่จะทำจิตให้บรรลุคุณงามความดีพอสมควรแล้ว เราจะปรารถนาสมบัติอันเป็นโลกีย์ หรือโลกุตระก็ได้ ดังความประสงค์ ในเมื่อนึกถึงโอวาทของท่านพ่อลีในข้อนี้ ทำให้หวนนึกถึงคุณงามความดีของท่านอาจารย์สมชาย ซึ่งท่านก็ได้เสียสละกำลังกาย กำลังความคิด กำลังสติปัญญาทุกสิ่งทุกส่วนทุ่มเทลงบูชาการปฏิบัติธรรม จนได้มีคุณธรรมเป็นที่กระเดื่องเลื่องลือไปทั่วประเทศ ซึ่งใครก็รู้สึกมีศรัทธาเลื่อมใสในคุณงามความดีของท่านเป็นอย่างมาก

อันนี้ก็เป็นหลักฐานพยานอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนจิตของบรรดาเราทั้งหลายให้มีความตระหนักในโอวาทคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในข้อที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะอาศัยการกระทำความดีของท่านอาจารย์สมชาย คุณงามความดีอันนั้นจึงฝังลึกเข้าไปในจิตใจของพุทธบริษัททุกหนทุกแห่ง ซึ่งเป็นการเสริมพุทธโอวาทข้อที่ว่า ทำดีได้ดี และอีกนัยหนึ่ง เป็นหลักฐานพยานส่อแสดงให้เห็นผลปรากฏชัดของผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะในการปฏิบัติพระกรรมฐาน ในเมื่อบรรลุคุณธรรมแล้ว สมบัติอันเป็นโลกีย์ย่อมไหลมาเทมาตามที่ปรากฏอยู่แล้ว ถ้าจะว่าไปแล้ว พระในประเทศไทยที่มีความสมบูรณ์พูนสุขเพียบพร้อมไปด้วยสมบัตินานัปการก็เห็นจะยากที่จะเกินท่านอาจารย์สมชาย บางทีพระสงฆ์บางท่านอ่าจจะมีรถยนต์ประจำตำแหน่งอย่างมากก็ไม่เกิน ๑ คัน แต่ท่านอาจารย์สมชายของเรามีรถเป็นโหลๆ ใครๆ ก็มีศรัทธาต้องการจะถวายท่าน อันนี้ก็เพราะอาศัยคุณงามความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมาดังกล่าวแล้ว ซึ่งตรงกับโอวาทของท่านพ่อลีซึ่งเคยเป็นขวัญใจของชาวจันทบุรีมาครั้งหนึ่งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ในข้อที่ว่า “การปฏิบัติธรรม เมื่อทำถึงที่แล้ว แม้เราจะปรารถนาสมบัติอันเป็นโลกีย์หรือโลกุตระก็ได้” อันเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นแก่วันราษฎร์บูรณะคุณาราม หรือวัดเขาสุกิมแห่งนี้ มีท่านอาจารย์สมชายเป็นหลักและเป็นผู้นำประชาชน นอกจากในเบื้องต้นท่านจะได้เสียสละกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังสติปัญญาเพื่อศึกษาหาความรู้ความฉลาดนั้น คือการปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุคุณธรรมจนน่าอัศจรรย์แล้ว ท่านก็ยังได้เสียสละเพื่อมาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เป็นต้นว่า ช่วยอบรมสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และได้ช่วยเหลือทางราชการหลายสิ่งหลายอย่าง ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวในที่นี้

ในเมื่อคุณงามความดีของท่านผู้มีความดีพร้อมได้ปรากฏเป็นสักขีพยาน เป็นคติกระตุ้นเตือนใจผู้ที่จะดำเนินการปฏิบัติในภายหลังปรากฏเป็นประจักษ์พยานอยู่แล้ว พวกเราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาตลอดจนประเทศชาติก็ไม่ควรพากันประมาท ในการที่เรามาร่วมบุญกุศลคราวนี้ ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายจงได้พินิจพิจารณาว่า เราได้อะไรดีๆ จากท่านอาจารย์สมชายบ้าง นอกจากน้ำมนต์หรือเหรียญหรือหนังสือที่ได้รับไป สิ่งที่เราจะพึงได้อันเป็นคุณสมบัติภายในมีอะไรบ้าง ขอให้เราทั้งหลายได้พิจารณาตรวจตราดูด้วยจิตใจของตนเอง

ทีนี้ ในเมื่อท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังบรรลุคุณธรรมอยู่ เราซึ่งมีร่างกายและจิตใจเป็นสมบัติของตน ซึ่งมีความสามารถพอๆ กับท่านผู้อื่น ก็เชื่อว่าทุกท่านก็มีสมรรถภาพในการประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ศาสดาของเราที่ยิ่งใหญ่ก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์เป็นผู้บัญญัติศาสนาที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า พระพุทธเจ้าก็มีกาย มีใจ เราทั้งหลายก็มีกาย มีใจ เป็นสมบัติของเรา พระพุทธเจ้ามีการสำหรับใช้เดินเหินไปไหนมาไหนได้ และมีใจสำหรับตรึกนึกคิดในสิ่งต่างๆ จนสามารถที่จะยังพระองค์ให้สำเร็จเป็นบุคคลผู้รู้ ซึ่งได้ชื่อว่า พุทธะ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็มีกายสำหรับเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ทำกิจธุระการงานทุกสิ่งทุกอย่างได้ และมีใจเป็นผู้คิดเป็นผู้รู้ ดังนั้น เราจึงมีสมบัติเหมือนๆ กับพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงมี พระพุทธเจ้าทรงใช้กายกับใจเป็นเครื่องปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จนสามารถได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบเอง เราจึงยกย่องพระองค์ว่าเป็นศาสดาในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะคำสอนและได้ปฏิบัติตาม จนกระทั่งได้รับผลประโยชน์ตามสมควรแก่ฐานะเท่าที่เราจะสามารถปฏิบัติได้ ทีนี้ ในเมื่อพระพุทธเจ้ามีจิต มีใจ และมีร่างกาย โดยเฉพาะมีจิต มีใจเป็นเครื่องรู้ เราทุกคนก็มีจิต มีใจเป็นเครื่องรู้เหมือนกัน ในเมื่อเรามีจิต มีใจเป็นเครื่องรู้ เราก็สามารถที่จะใช้จิตใช้ใจของเราปฏิบัติธรรม หรือพิจารณาค้นคว้าหาของจริง

ธรรมอันเป็นสิ่งธรรมชาติ ในเมื่อกล่าวถึงธรรม ก็ใคร่ที่จะขอทำความเข้าใจกับบรรดาท่านทั้งหลายในข้อที่ว่า ธรรมสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาเคยได้ไปแสดงธรรมที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม โดยไปยกขึ้นว่า ธรรมะคือกายกับใจ เมื่อเทศน์จบลงแล้ว มีท่านนักศึกษาที่สำเร็จปริญญาที่เป็นฝ่ายคณะสงฆ์จะสำเร็จจากสถาบันใดไม่ทราบเพราะไม่ได้ถาม ท่านก็มาคัดค้ายว่าธรรมะไม่ใช่กายกับใจ กายกับใจเป็นสภาวธรรม ใครว่าธรรมะคือกายกับใจ คนนั้นเข้าใจผิด และไม่รู้จักธรรมะ ท่านว่าอย่างนั้น ทีนี้ ธรรมะตามความหมายของท่านนั้น หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักแห่งการปฏิบัติ นี้ขอฝากบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายไว้พิจารณาด้วย ทีนี้ ถ้าหากว่ากายกับใจไม่ใช่ธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายคิดดูซิว่า ถ้าสมมติว่า เรามีแต่กาย ใจไม่มี มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามีแต่ใจ กายไม่มี จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น กายกับใจจึงอยู่พร้อมกัน

สภาวธรรมนั้น ซึ่งเป็นวัตถุหรือเป็นพื้นฐานที่เราจะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวงให้รู้จริงเห็นแจ้งประจักษ์แก่ใจ ธรรมที่เรียกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนฺตตา ที่ปรากฏในพระบาลีนั้น ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่า สภาวธรรม สภาวธรรมก็คือกายกับใจของเรา และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกายใจของเรา เช่นอย่างโลก แผ่นดิน แผ่นฟ้า อากาศ ภูเขา ต้นไม้ รถ เรือน ทั้งหลายทั้งปวดเหล่านั้น เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เรียกอีกโวหารหนึ่งว่า สังขาร เพราะเป็นสิ่งซึ่งปรุงแต่งขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีความเจริญและมีความเสื่อสลายตัว สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีการปรากฏขึ้นในเบื้องต้น และก็ทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็สลายตัวลงในที่สุด นี้คือความเป็นจริของสภาวธรรม พูดตามภาษาวัดๆ ท่านก็เรียกว่า สภาวธรรมทั้งหลายนั้น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อันนนี้เป็นภาษาวัดที่พูดกัน

ทีนี้ ถ้าหากว่ากายกับใจไม่ใช่ธรรม เช่นอย่างในพระอภิธรรมจิต เจตสิก รูป นิพพาน ตามที่นักศึกษาทั้งหลายได้ศึกษาแล้ว จิตมันก็หมายถึงจิตใจ รูปก็หมายถึงรูปกาย เจตสิกก็หมายถึงสิ่งที่ประกอบกับจิต นิพพานก็หมายถึงการดับกิเลสของผู้ปฏิบัติ ในเมื่อกายกับใจไม่ใช่ธรรม เรื่องอะไรจะต้องเอาจิต เจตสิก รูป นิพพาน ไปเป็นพระอภิธรรม นี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดพิจารณาให้ซึ้ง

ทีนี้ โดยปกติแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรม สภาวธรรมที่เรามีอยู่นี้โดยปกติแล้วมันก็มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่พระพุทธเจ้านอกจากจะรู้ความเป็นจริงว่า สภาวธรรมมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระองค์ยังสามารถรู้กฎ หรือระเบียบที่จะกล่อมเกลาปรับปรุงสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้น จึงได้บัญญัติหลักปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้คือหลักกล่อมเกลาสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น

ทีนี้ ในเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักการปฏิบัติหรือหลักกล่อมเกลาสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มุ่งที่จะให้หมดกิเลส หรือละกิเลสให้หมดจากจิตสันดานของตน แต่อาตมาว่า ในขณะที่เรา โดยเฉพาะฆราวาส ยังไม่สำเร็จมรรค ผล นิพพาน อย่าเพิ่งให้กิเลสมันหมดไปเร็วนัก เอาไว้สำหรับใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่นอย่างความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือตัณหา ความทะเยอทะยาน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัณหาความทะเยอทะยาน กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อย่าเพิ่งให้มันหมดไปจากจิตสันดาน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนทุกคนมีความหมั่น มีความขยัน เช่นอย่างหลักกการแสดงหาประโยชน์ในปัจจุบัน พระองค์ก็ทรงสอนให้ถึงพร้อมด้วย อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น อารักขสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษา กัลยาณมิตตตา คบมิตรดี สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตให้พอเหมาะพอควรแก่ฐานะ ไม่มากไม่น้อย นี้เป็นธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ ถ้าเราพิจารณาในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ และในการแสวงหาคุณงามความดี ทีนี้ ถ้าหากว่าคนเราทุกคนไม่มีความอยาก คือ ไม่มีความอยากดี อยากมี อยากเป็นแล้ว เราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติและคุณงามความดีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น กิเลสคือตัวตัณหานี้ควรเลี้ยงเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้มันหมด

แต่พระพุทธเจ้าให้ใช้ตัณหาในขอบเขต ขอบเขตของการใช้กิเลสตัณหาให้เกิดประโยชน์แก่ตนนั้น พระพุทธเจ้าให้ถือหลักศีล ฆราวาสโดยทั่วไปก็ให้ถือศีล ๕ เป็นหลักประกัน พระภิกษุสามเณรก็ให้รับให้ถือศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นหลักประกัน บุคคลแต่ละชั้น แต่ละเพศ แต่ละภูมิ ถ้าหากว่าใช้กิเลสของตนให้นอกเหนือไปจากขอบเขตดังกล่าวแล้วนั้น เป็นการใช้กิเลสผิดทาง พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ ใครจะโลภแสวงหาทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าไร ก็เชิญโลภไปเถิด แต่อย่าให้มาผิดศีล ๕ ก็แล้วกัน อยากรวย ไปจี้ ไปปล้น ไปลัก ไปขโมย ไปฉ้อ ไปโกง อันนี้เขาเรียกว่าใช้กิเลสผิดทาง ผิดศีลของพระพุทธเจ้า ใช้กิเลสอย่างไม่มีขอบเขต แต่คนที่ต้องการอยากจะร่ำรวยแสวงหาทรัพย์สมบัติด้วยสัมมาอาชีวะโดยอาศัยศีล ๕ เป็นขอบเขตแห่งการแสวงหา บุคคลนั้นแม้จะขยันหมั่นเพียรสักเท่าไร พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่าเป็นคนขี้โลภ กลับยกย่องว่าเป็นคนรู้จักถือโอกาสน้ำขึ้นให้รีบตัก อย่างสมมติว่าท่านตั้งร้านค้าขายของอยู่ร้านหนึ่ง มีคนมาอุดหนุนตลอดวันยันรุ่ง ท่านจะขายของตลอดวันยันค่ำโดยไม่หยุดไม่กินไม่หลับไม่นอน พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสว่าท่านเป็นคนขี้โลภ โลภก็โลภอยู่ในขอบเขต การที่โลภอยู่ในขอบเขตก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั่วๆ ไป ถ้าหากเห็นคนที่หมั่นขยันหาทรัพย์สมบัติหรือทะเยอทะยานในความอยากมีอยากเป็น ก็ไปตำหนิกันว่าเป็นคนขี้โลภ อันนี้ออกจะเป็นการเข้าใจผิด สำหรับประชาชนโดยทั่วๆ ไปนั้น จะบิณฑบาตฉันอย่างพระเจ้าพระสงฆ์ไม่ได้ ทุกๆ คนก็ต้องแสวงหาด้วยน้ำพักน้ำแรง เพราะฉะนั้น การแสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อตั้งหลักฐานให้มั่นคงนั้น จะต้องประกอบด้วยความหมั่น ความขยัน ความโลภที่มีอยู่ ปรุงแต่งมันขึ้น ให้มันเป็นยากำลังใจสำหรับแสวงหาสมบัติและคุณงามความดี แต่ให้เป็นไปในกรอบแห่งศีล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

สำหรับการกล่าวให้โอวาทในวันนี้ เป็นการกล่าวโดยสาธารณะทั่วไปแก่พระภิกษุสามเณรและพุทธบริษัทภายนอกด้วย ดังนั้น เราพุทธบริษัททั้งภายนอกภายใน เป็นกำลังค้ำจุนอุดหนุนพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าได้มอบมรดกชิ้นสำคัญ คือ พระพุทธศาสนาไว้เป็นสมบัติของเราพุทธบริษัท พระองค์เคยตรัสว่า ศาสนาของเราตถาคตจะเสื่อมจะเจริญก็ขึ้นอยู่กับบริษัท ๔ ไม่มีใครอื่นที่เขาจะมาทำลายล้างมรดกของเราให้สูญเสียไป เพราะฉะนั้น ความตั้งใจมั่นในการที่จะดำรงพระพุทธศาสนาด้วยการศึกษาและปฏิบัตินั้นย่อมเป็นแนวทางสำหรับมนุษย์ทุกคน

การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล การศึกษาพระปริยัติธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจในคัมภีร์คำสอนของพระพุทธศาสนา แม้จะเรียนพระไตรปิฎกจนจบก็ยิ่งวิเศษใหญ่ ถ้าเราเรียนจบรู้พระปริยัติธรรมกว้างขวาง แล้วสละเวลามาปฏิบัติสมาธิภาวนา ในเมื่อภาวนารู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว ก็จะช่วยสนับสนุนความรู้ที่เราเรียนมาจากพระปริยัตินั้นให้มีความแตกฉานมากมาย ฉะนั้น การศึกษาและการปฏิบัติจึงเป็นของคู่กันไป จะทิ้งเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คนที่หนักในการปฏิบัติฝ่ายเดียว ไม่มีหลักปริยัติประกอบนั้นเปรียบเหมือนคนตาเดียว แต่ถ้าคนมีแต่ปริยัติอย่างเดียว ไม่มีการปฏิบัติด้วย ก็เปรียบเหมือนคนตาเดียว ทำกิจพระศาสนาได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ถ้าหากท่านผู้ใดทรงไว้ซึ่งปริยัติธรรมด้วย ทรงไว้ซึ่งปฏิบัติธรรมด้วย ท่านผู้นั้นได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ทั้ง ๒ อย่าง จะทำกิจพระศาสนาก็ทำไปอย่างมีเหตุผล ทำไปอย่างปัญญาชน ผู้มีความรู้

ผู้ที่มีการศึกษาน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณรโดยเฉพาะหลักพระวินัยที่เราจำเป็นจะต้องเอาใจใส่ศึกาาให้มีความรู้ความเข้าใจ สมมติว่าเราไม่สนใจศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านพระวินัย เราก็จะไม่รู้ว่าอะไรที่ควรละ อะไรที่ควรเจริญ อะไรเป็นอาบัติเบา อะไรเป็นอาบัติหนัก ลำดังแต่เพียงจะดูตัวอย่าง และจดจำมาจากครูบาอาจารย์อย่างเดียวนั้นย่อมไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น เราจะต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติม

ผู้ที่ไม่มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเลย ถ้าหากสมมติว่ามาปฏิบัติธรรม ก็สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ แต่ถ้าหากผู้ที่ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ เพราะอาศัยความไม่เข้าใจ ภายหลังอายุพรรษาเพิ่มมากขึ้นๆ เราทำอะไรก็ไม่ถูกต้องตามแบบแผนจารีตประเพณีของคณะสงฆ์นัก เพราะอาศัยความไม่เข้าใจ ภายหลังเราจะกลายเป็นผู้นำในทางศาสนาผิด

สังฆคุณตามที่เราท่องบ่นสาธยายอยู่ทุกๆ วันนี้ อันนี้ผมจะขอเสนอความคิดเห็นของผมในข้อที่ว่า อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลิกรณีโย ซึ่งเราแปลกันโดยทั่วไปว่า อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาสักการะ ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของอันเขาพึงให้ อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้อัญชลีของคนทั่วไป อันนี้ถ้าเราจะมุ่งหมายถึงคุณสมบัติของผู้ที่มีความรู้ความสามารถจนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคลก็ย่อมเป็นความหมายที่ถูกต้องอย่างไม่มีปัญหา แต่สำหรับปัจจุบันนี้ คณะสงฆ์ควรจะได้รับการพิจารณาว่า อาหุเนยฺโย มีความหมายอย่างอื่นอีกได้ไหม เช่น อาหุเนยฺโย ผมของให้ความหมาย อันนี้เป็นคำเสนอมตินะครับ ไม่ใช่เสนอให้ท่านถือเป็นหลักการปฏิบัติ อาหุเนยฺโย ตามความเข้าใจของผมนั้น หมายถึง ท่านผู้ควรชักจูงบุคคลเข้ามา เรียกว่าควรนำบุคคลภายนอกเข้ามาสู่พระศาสนา ปาหุเนยฺโย ท่านเป็นผู้ควรแก่การให้การต้อนรับทั้งอามิสและธรรม เพราะท่านมีความรู้ความสามารถพอที่จะหยิบยื่นให้บรรดาผู้ที่เข้าไปหามาสู่ ทกฺขิเณยฺโย ผู้ควรแก่การให้ คือให้คุณธรรม ให้ธรรมคำสั่งสอน ให้หลักการอบรมบ่มนิสัยที่ถูกต้อง ไม่นำพระพุทธศาสนาไปในทางที่ผิด อญฺชลิกรณีโย ควรแก่การอัญชลี หมายถึงทั้งควรแก่การที่บุคคลภายนอกมากราบมาไหว้ด้วย หมายถึงท่านเป็นผู้ควรที่จะให้การกราบไหว้ด้วย คือหมายความว่าคนอื่นมากราบมาไหว้แล้วไม่เสียผล ไม่เสียประโยชน์ ใครมากราบมาไหว้ก็เป็นบุญเป็นกุศล นี้ตามความหมายที่ผมลองคิดดดู ได้ความว่าอย่างนี้ ขอฝากบรรดาท่านนักศึกษาไว้พิจารณาด้วย ผิดถูกประการใดต้องขออภัยด้วย

ในการที่ได้กล่าวโอวาทตักเตือนในวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา ในท้ายที่สุดนี้ ขออำนวยพรแก่ท่านสหธรรมิกและพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้มาร่วมการกุศลแสดงมุทิตาจิตในการที่ครบวันเกิดของท่านอาจารย์สมชาย และครบรอบอายุ ๕๓ ปี ด้วยบุญกุศลอันนี้ ขอจงดลบันดาลให้ทุกท่านสำเร็จความปรารถนาตามที่ท่านมุ่งมาดปรารถนาไว้โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญฯ

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home