info4you

Saturday, April 16, 2005

2. การตามรู้จิต ตามรู้ความคิด

การตามรู้จิต ตามรู้ความคิด
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทุกท่าน

เมื่อวานนี้ได้กล่าวถึงในหลักการนั่งสมาธิเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนาพุทโธ การบริกรรมภาวนานั้น เป็นการปฏิบัติสมาธิขั้นสมถะอารมณ์ของสมถกรรมฐานมี ๔๐ ประการ มีพุทธานุสสติปรากฏอยู่ด้วยข้อหนึ่ง ดังนั้น การภาวนาบริกรรมพุทโธอันเป็นพุทธานุสสติจึงจัดอยู่ในขั้นสมถกรรมฐาน ซึ่งเรียกว่าบริกรรมภาวนา ซึ่งท่านทั้งหลายก็เคยได้ยินได้ฟังและได้เคยศึกษามาแล้วว่ากรรมฐานอันใดเกี่ยวเนื่องด้วยบริกรรม กรรมฐานนั้นชื่อว่า สมถกรรมฐาน นอกจากเราจะมาบริกรรมภาวนาพุทโธแล้ว เราจะใช้คำใดคำหนึ่งมาบริกรรมภาวนาก็ได้ทั้งนั้น เช่น จะใช้คำว่า ธัมโม สังโฆ หรือ อิติปิโส ภควา เป็นต้น คำใดคำหนึ่งสุดแท้แต่ใจชอบ ความมุ่งหมายของการบริกรรมภาวนาก็เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ซึ่งจัดอยู่ในระดับฌาน นี้คือความมุ่งหมายของสมถภาวนา

ทีนี้ ผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการภาวนาเพื่อให้จิตเป็นสมถกรรมฐาน เป็นสมาธิ ก็เพื่อกำจัดนิวรณ์ ๕ ประการ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางคุณงามความดีไม่ให้เกิดขึ้น ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว

ทีนี้ มีปัญหาว่า ถ้าหากว่าเรามาบริกรรมภาวนา จิตมันไม่สงบเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สงบ ถ้าหากว่านักปฏิบัติภาวนาทำจิตให้เข้าสู่ระดับอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็เป็นอันว่าชาตินี้ทั้งชาติเราก็ต้องตายเปล่า เพราะการภาวนาไม่ได้ผล เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร

ท่านเคยได้ยินมิใช่หรือว่า มีพระอรหันต์จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “สุขวิปัสสโก” (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน) ในเมื่อเราบริกรรมภาวนาจิตไม่เป็นอัปปนาสมาธิ เราก็ใช้อุบายวิธีอย่างอื่น เป็นต้นว่า เราจะพิจารณาอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โดยภาวนาอสุภกรรมฐาน หรือภาวนาธาตุววัฏฐาน หรือจะภาวนาวิปัสสนากรรมฐานเสียเลยทีเดียว เช่น ยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมาพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยหัวคิดและสติปัญญาที่เราเรียน เราทรงจำมา คือ ใช้ความคิดอย่างที่เรารู้ตามแบบตามแผนที่จำมาด้วยสัญญา คิดเอา ปรุงเอา แต่งเอา ว่ารูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ว่าเอาเอง พร้อมๆ กับน้อมใจเชื่อลงไปว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไปจริงๆ แต่ในขณะที่เราพิจารณาอยู่นั้น บางทีจิตอาจจะสงบลงเป็นสมาธิเพราะการค้นคิดในเหตุผล ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นภาคปฏิบัติ ก็เป็นอุบายที่จะทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราภาวนาให้จิตเป็นอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ยกเอาสภาวธรรมขึ้นมาพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ภาษาคัมภีร์เรียกว่า พิจารณาพระไตรลักษณ์ คือน้อมใจไปว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนครบขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ ตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยนึกคิดเอา คือจนกระทั่งจิตมันชำนาญจนเชื่อมั่นลงไปว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการปลูกศรัทธา ความเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นในคุณธรรม เราจะได้เกิดความปลื้มปีติ ความเบิกบานสำราญใจ ในธรรมะที่เราพิจารณานั้น แล้วก็จะมี สติ มี วิริยะ มี สมาธิ แล้วก็มี ปัญญา เป็นลำดับๆ ไป เป็นอุบายสำหรับสร้างให้จิตเกิดพละ คือจิตเกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นด้วยพิจารณาสภาวธรรม

อีกนัยหนึ่ง ถ้าเราจะมาอาศัยลำพังเพียงบริกรรมภาวนาให้จิตสงบเป็นสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ไม่มีการก้าวไปข้างหน้า ไม่มาข้างหลัง จิตก็ไม่มีความรู้ความเห็นอะไรเกิดขึ้น ทำทีไรก็ได้แต่ปีติ สุข เอกัคคตา ปีติ สุข เอกัคคตา อยู่อย่างนั้น ถ้าจิตมันติดอยู่แต่เพียงเท่านี้ก็เรียกว่า จิตมันติดความสุขอยู่ในขั้นสมาธิ มันก็ได้เพียงแค่ขั้นสมถะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝึกฝนจิตของตนเองอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิจนชำนิชำนาญแล้ว ถ้าจิตไม่ปฏิวัติตัวเองไปสู่ภูมิวิปัสสนา ก็พิจารณาเอาด้วยปัญญาความคิดสดๆ ร้อนๆ เพื่อเป็นแนวทางให้จิตเกิดความรู้ความเข้าใจในสภาวธรรม เมื่อจิตมีความรู้ความเข้าใจเชื่อมั่นในความเป็นของสภาวธรรมว่า มีความเป็นเช่นนั้นจริง แล้วมันจะเกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ขึ้นเป็นคุณธรรมของจิต

และอีกอย่างหนึ่ง การบริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาสภาวธรรมก็ดี ทำเท่าไร ภาวนาเท่าไร จิตไม่สงบ ได้แต่ความฟุ้งซ่านรำคาญ มีแต่ส่งกระแสไปในทางอื่น ถ้าหากเราไม่สามารถจะควบคุมจิตของเราอยู่ในอารมณ์ภาวนา หรือในแนวทางแห่งสภาวธรรมที่เรายกขึ้นมาพิจารณา ไม่สามารถที่จะให้อยู่ในเรื่องในราวที่เราต้องการนั้นได้ เราก็ปล่อยให้จิตมันปลงไปตามยถากรรม แต่เราต้องกำหนดสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นความคิดของตนเอง อย่าละ พร้อมๆ กันนั้นก็เอาพระไตรลักษณ์ตามจี้มันไปเรื่อย คือจี้ว่าอย่างไร จี้ว่าความคิดนี้มันก็ไม่เที่ยงมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันก็มีแต่เกิดแต่ดับ สภาวธรรมทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งในกายในใจ ทั้งนอกกายนอกใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ชื่อว่าเป็นสภาวธรรมนั้น มันต้องตกอยู่ในลักษณะทั้ง ๓ คือ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น จุดรวมใหญ่ของมันอยู่ที่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เอาความคิดอันนี้ตามรู้ความคิดความเห็นของตน ตามจี้ไปเรื่อย แต่อันนี้ต้องใช้ความพากเพียรพยายามอดทนหน่อย เพราะความฟุ้งซ่านรำคาญของจิตนั้น ล้วนแต่จะทำให้เกิดความเดือดร้อน ทำให้จิตมันฟุ้งเรื่อยไป แต่เราก็ต้องอาศัยขันติ คือ ความอดทน ตั้งสติสัมปชัญญะ กำหนดตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ ในเมื่อจิตมันไปจนถึงที่สุดแล้ว มันก็หยุดของมันเอง มันหยุดอยู่ที่ไหนก็กำหนดรู้อยู่ที่นั้น อย่าใช้ความคิดต่อไปอีก จนกว่าจิตนั้นมันจะเคลื่อนที่ของมันไปเอง แล้วเราก็ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อย อันนี้เป็นวิธีการอันหนึ่งซึ่งเป็นการปฏิบัติอนุวัติตามจริตและนิสัย ของนักปฏิบัติซึ่งอาจจะไม่ตรงกัน

การที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงวางหลักกรรมฐานไว้ถึง ๔๐ ประการ ก็เพราะทรงเห็นว่าคนเกิดมาบนโลกนี้มันต่างจิตต่างใจต่างอุปนิสัยวาสนาบารมี บางคนก็มีจิตใจอุปนิสัยชอบอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ชอบอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีมากมายก่ายกอง ยกตัวอย่างเช่น พระจุลปันถก ใครจะสอนท่านก็ไม่ได้ มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ใครจะสอนให้ท่านเรียนคาถาเพียงบาทเดียว ท่านก็จำไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าสอนว่า รโชหรณํ รชํ หรติ มอบผ้าขาวให้ผืนเดียว ท่านก็บริกรรมภาวนาอยู่ จิตก็ปลงตกลงไปว่า ผ้านี้เดิมมันก็เป็นของขาวสะอาดแต่มาถูกด้วยเหงื่อไคลของตัวเราเอง ก็เกิดเป็นของสกปรกไปได้ นี้มันก็เป็นลักษณะเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตาทั้งนั้น เสร็จแล้วก็ปลงจิตลงสู่สภาวะความเป็นพระอรหันต์ สำเร็จพระอรหันต์ แล้วก็สามารถสำเร็จปฏิสัมภิทา สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้หลายอย่างตามพุทธประวัติที่กล่าวไว้ ท่านทั้งหลายก็คงทราบอยู่แล้ว

การกล่าวธรรมะเป็นคติเตือนใจสำหรับบรรดาท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายในวันนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้…

---------------
คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com/wiroj_c/dhamma/preach27.doc

3. สมาธิวิธี

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๓
วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

สมาธิวิธี

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

บัดนี้ ความพร้อมเพรียงของพวกท่านทั้งหลายได้ถึงพร้อมแล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังธรรมะเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติสมาธิภาวนา ซึ่งผมจะได้ขอถวายความคิดเห็นตามสติปัญญาเท่าที่ได้ศึกษา ปฏิบัติและเรียนรู้มา

การปฏิบัติธรรม ซึ่งเราเรียกโดยทั่วไปว่า ปฏิบัติพระกรรมฐาน นั้น มีสิ่งซึ่งเราจะพึงปฏิบัติเพื่อเป็นการประกอบกับเรื่องการปฏิบัติธรรม ที่จำเป็นอย่างหนึ่งคือ ความวิเวก นักปฏิบัติจะต้องยึดถือความวิเวก หรือความสงัดเงียบเป็นปัจจัยสำคัญ วิเวกตามแบบปริยัติ ท่านจัดแบ่งไว้ ๓ ประการ ซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะทราบอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการย้ำเตือนท่านทั้งหลาย ให้มีความสังวรระวัง หรือยึดเป็นหลักปฏิบัติประกอบการปฏิบัติทางด้านจิตใจ จึงจะขอนำมากล่าวพอเป็นแนวทาง

วิเวก ๓ ประการ คือ กายวิเวก – ความสงัดกาย ความสงัดกาย เรากำหนดเอาตั้งแต่การก้าวย่างเข้าไปสู่สถานที่หรือป่าอันสงบเงียบ เรียกว่า ความสงัด อันนนี้เกี่ยวกับเรื่องของกาย ทีนี้ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกาย คือ วาจา ได้แก่ คำพูด การคบหาสมาคมระหว่างเพื่อนสหธรรมิกนั้น เราควรจะให้เป็นเวล่ำเวลา คือ การคุยกัน การคลุกคลีกัน มันเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งซึ่งคอยกางกั้นความเจริญทางจิต เพราะส่วนมากถ้าหากเราสนทนากันด้วยเรื่องของธรรม เรื่องของการปฏิบัติ ก็จะเป็นปัจจัยให้การปฏิบัติทางจิตเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าหากเรานำเรื่องซึ่งไม่มีสาระ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ มาสนทนาปราศรัยกัน เป็นเรื่องสนุกสนานหรือตลกคะนอง ซึ่งผิดวิสัยของนักปฏิบัติผู้หวังความเจริญทางด้านจิตใจ จะเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของกายวิเวกจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการเข้าไปสู่ที่สงัดเงียบนั้น เราก็ได้ความสงบทางจิตเป็นเดิมพันอยู่แล้วอย่างน้อย ๒๕ เปอร์เซ็นต์

ทีนี้ กายวิเวก – ความสงัดกาย ในเมื่อเราหาสถานที่เป็นที่สบาย ประกอบไปด้วยความสงัดเงียบ ปราศจากการคลุกคลีด้วยหมู่ ด้วยคณะ ก็ย่อยเป็นปัจจัยให้เกิด จิตวิเวก เป็นปัจจัยให้มีโอกาสได้บำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างสะดวกสบาย ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง

เมื่อเราได้โอกาสในอันที่จะบำเพ็ญเพียนรทางจิตโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ แล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้จิตสงบได้ง่าย ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว เราก็ได้ อุปธิวิเวก ขึ้นมา ถึงจะเป็นการชั่วขณะก็ยังเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่ผู้สนใจในการปฏิบัติได้ตามสมควร

ต่อไป จะได้พูดถึงวิธีทำสมาธิในเบื้อต้น เพราะเมื่อวานนี้ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของสมาธิโดยทั่วๆ ไป แต่สำหรับวันนี้จะได้กล่าวเฉพาะเรื่อง การทำสมาธิ หรือ สมาธิวิธี เกี่ยวกับเรื่องการทำบริกรรมภาวนา พุทโธ โดยเฉพาะ

สมาธิวิธี ผู้ที่มุ่งหวังความเจริญในการปฏิบัติ ภายหลังจากได้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญพรหมวิหารเสร็จแล้ว พึงนั่งขัดบัลลังก์ นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาวางทับขาซ้าย มือซ้ายวายลงบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย ให้หัวแม่มือจรดกัน แต่อย่าให้ตึงระหว่างหัวแม่มือกับหัวแม่มือ ตั้งกายให้ตรง นั่งในท่าที่รู้สึกว่าสบายที่สุด อย่าเกร็ง หรือกดข่มประสาทส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ตรวจดูการนั่งของเราว่า เรานั่งในท่าที่สบายดีแล้ว อย่าให้ก้มนัก และก็อย่างให้เงยนัก อย่าให้เอียงไปข้างซ้าย อย่าให้เอียงไปข้างขวา เมื่อตรวจดูการนั่งของเราเรียบร้อยว่าเป็นการถูกต้องแล้ว พึงกำหนดจิตคือทำจิตให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า คือมุ่งตรงต่อการที่จะทำสมาธิ และพิจารณาดูจิตของตนว่า จิตของเราเอนเอียงไปข้างรักหรือข้างชัง หรือว่าจิตของเราเป็นกลางๆ ในเมื่อเรากำหนดพิจารณาดูจิตของเราให้ทราบพื้นฐานของจิตของเราว่าเป็นอย่างไร ในชั้นต่อไปพึงพยายามสำรวมจิต ดังพระบาลีว่า มนสา สํวโร สาธุ – การสำรวมจิตเป็นการดี

การสำรวมจิต ของเรานั้น ก่อนอื่น ให้เราปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นในตัวของเรา คือเชื่อว่าเราสามารถปฏิบัติให้เกิด ให้มี ให้ได้รับผล คือสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิ การปฏิบัตินี้ไม่เหลือวิสัยที่เราจะพึงปฏิบัติได้ และเชื่อมันในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ แล้วสำรวมจิตเอาไว้ให้มั่น และเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิตใจของเราอย่างมั่นคง

ในเมื่อเราตรวจดูจิตของเราว่า เรามีความเชื่อมั่นในสมรรถภาพของตัวเอง และเชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่วแน่แล้ว ในขั้นต่อไปพึงกำหนดิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบแล้ว แล้วก็มากำหนดนึกบริกรรมภาวนาภายในจิตว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพียงคำเดียว ทำอยู่อย่างนั้นจนกว่าจิตจะมีความสงบลง หรือจนกว่าจิตจะมีความจดจ้องอยู่ที่คำบริกรรมภาวนานั้นๆ ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิตของเรานั้น เราพยายามปลูกความเชื่อมั่นลงไปเสมอว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่จิตของเราจริงๆ ในเมื่อเราบริกรรมพุทโธๆๆ เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พร้อมๆ กันนนั้นก็ชื่อว่าระลึกถึงคุณพระธรรมและพระสงฆ์ไปพร้อมกัน เพราะผู้ใดระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ผู้นั้นชื่อว่าระลึกถึงพระธรรม ผู้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม ผู้นั้นชื่อว่าระลึกถึงพระสงฆ์ แล้วดำรงจิตของตนให้มีความรู้สึกอยู่ที่จิต ในขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่นั้น ถ้าหากจิตของเราส่งกระแสไปในทางอื่น ก็พยายามนึกน้อมเข้ามาไว้ที่เดิม ที่เดินั้นอยู่ที่ไหน คือความรู้สึกอยู่ที่ไหน เช่น อยู่ที่พุทโธ ที่เดิมของจิตก็อยู่ที่นั้น ให้กำหนดอย่างนี้

ต่อไปนี้เป็นวิธีสังเกต ก่อนที่จิตจะสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ ในเมื่อบริกรรมภาวนาไปพอสมควรแล้ว เมื่อจิตมีความจดจ้องอยู่กับบริกรรมภาวนา จิตจะค่อยสงบลงไปทีละน้อยๆ บางท่านจะปรากฏว่าจิตสงบรวมวูบลงไป บางท่านก็วับแวบลงไป บางท่านก็รวมวูบลงไป แล้วแต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด ในเมื่อจิตรวมลงไปแล้ว ความรู้สึกเบากายเบาใจก็จะปรากฏขึ้น ความรู้สึกอ่อนกายอ่อนใจ แต่ไม่ใช่อ่อนปวกเปียก เพราะยังมีกำลัง ก็จะปรากฏขึ้น ความรู้สึกสงบกายสงบใจก็จะปรากฏขึ้น ความที่กายสมควรแก่การทำสมาธิ จิตคล่องแคล่ว ก็จะปรากฏขึ้น ในเมื่ออาการลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติจะทำให้นักปฏิบัตนั้นมีความเบากายเบาจิต ทุกขเวทนาต่างๆ จะค่อยสงบระงับไปทีละน้อยๆ ในที่สุดจิตก็สงบรวมลงเป็นสมาธิ

ในเมื่อจิตสงบรวมลงเป็นสมาธิ ถ้าหากว่าจิตรวมลงเพียงชั่วขณะนิดหน่อย ภาษาปริยัติท่านก็เรียกว่า ขณิกสมาธิ อย่างเช่น เราบริกรรมภาวนา มีอาการเคลิ้มนิดหนึ่งแล้วก็ปรากฏมีแสงวับแวบขึ้นมา อันนี้เป็นเครื่องหมายแห่งขณิกสมาธิ

ถ้าหากว่าจิตของเราสงบรวมลงไปแล้วก็มีแสงสว่างปรากฏขึ้นในความรู้สึก แสงสว่างนั้นในขณะนี้คล้ายๆ กับเรามองเห็นแสงสว่างด้วยตาเนื้อ แล้วก็มีอาการคล้ายๆ กับว่าครึ่งหลับครึ่งตื่น บางทีก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บางทีก็มีอาการเผลอๆ ลืมๆ ไป หรือบางทีก็มีความสว่างและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตลอดกาล แต่ความรู้สึกในภายนอก บางครั้งก็ปรากฏอยู่ บางครั้งก็หายไป ลักษณะนี้เรียกว่าจิตอยู่ใน อุปจารสมาธิ

ถ้าหากว่าจิตมีความสงบนิ่งลงไปกว่านี้ คือ ความสว่างก็ยังปรากฏอยู่ และจิตไม่ได้ส่งกระแสออกไปข้างนอก แล้วรวมลงสู่ที่จิตแห่งเดียว ละจากสัญญาอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้น ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่มี ความรู้สึกสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มี ปรากฏแต่จิตที่สงบนิ่งอยู่อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่ร่างกายที่เคยปรากฏว่ามีอยู่ก็หายไป ยังเหลือแต่จิตที่สงบนิ่งเป็น อัปปนาสมาธิ หรือ เอกัคคตาจิต ประกอบด้วยองค์ คือ อุเบกขา ในเมื่อจิตเป็นเอกัคคตา ถึงความเป็นหนึ่ง อุเบกขาซึ่งเป็นผลพลอยได้ ก็ย่อมปรากฏขึ้นเป็นเงาตามตัว อันนี้เรียกว่าจิตตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ

จิตจะตั้งมั่นอยู่ในสมาธิขั้นนี้ จะเพียงนิดหน่อย หรือว่าจะได้นานเป็น ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือชั่วโมง ๒ ชั่วโมง หรือตลอด ๗ วัน ๗ คืน ๑๕ วัน ๑๕ คืน อันนี้ก็แล้วแต่ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญของผู้ฝึกอบรม

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นอุบายเกี่ยวกับการปฏิบัติด้วยการบริกรรมภาวนา พุทโธๆ

สำหรับการกล่าวแนะนำเรื่องเกี่ยวกับการทำสมาธิภาวนาพุทโธ ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.....

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

4. นิมิต

นิมิต
โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑


การฝึกฝนอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ ธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย โดยปกติแล้ว คนเรามีนิสัยชอบสบาย แต่ก็ไม่เชิงนัก บางทีก็ชอบลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนสถานที่เกี่ยวกับการปฏิบัตินั้น เข้าใจว่าคงจะได้ประโยชน์แก้ผู้สนใจในการปฏิบัติ บ้างตามสมควร

ตามประวัติของครูบาอาจารย์ เท่าที่ได้ทราบมา การเดินธุดงค์ ท่านอาศัยการเดินเท้าเปล่า จะเป็นเพราะสมัยนั้น การคมนาคม ไม่ค่อยสะดวกสบาย เหมือนอย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้ แต่ส่วนมาก มักจะใช้ทางเดินเท้าเปล่านั้นแหละ เป็นส่วนมาก อย่างท่านอาจารย์ฝั้น (อาจาโร) เคยเดินธุดงค์รอบภาคอีสาน ไม่เคยขึ้นนั่งรถยนต์รถไฟ จากสกลนครมานครราชสีมา ก็เดินมาด้วยเท้าเปล่า จากนครราชสีมา กลับไปที่อุบลฯ ก็เดินด้วยเท้าเปล่า จนกระทั่งภายหลัง มีเรื่องปรากฏขึ้นกับตัวท่านเอง ซึ่งท่านเคยเล่าให้ฟัง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่อง นอกประเด็น แต่ก็เข้าใจว่าคงจะเป็นประโยชน์ สำหรับท่านนักศึกษาทั้งหลาย บ้างตามสมควร

ท่านเคยเล่าว่า นับตั้งแต่ออกเดินธุดงค์กรรมฐานมา ไม่เคยนั่งยวดยานพาหนะเลยแม้แต่ครั้งเดียว อยู่มาสมัยหนึ่ง มีญาติโยมที่สกลนคร เขาซื้อรถยนต์กัน ก่อนที่จะออกวิ่ง ก็ต้องการอยากจะให้ครูบาอาจารย์นั่งให้เป็นสิริมงคล ไปนิมนต์ท่านให้ขึ้นนั่งรถ ท่านก็ไม่ยอม คราวนั้นท่านจะเดินทางจาก สกลนครไปอำเภอพรรณานิคม ท่านก็เดินไปด้วยเท้าเปล่า ด้วยความปรารถนา ที่จะให้ท่านอาจารย์ ขึ้นนั่งรถให้เป็นสิริมงคล เจ้าของรถก็ขับรถคลานตาม หลังท่านไป แล้วก็ไปจอดคอยนิมนต์ท่านขึ้นนั่ง ท่านก็ไม่ยอม ตั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๔ ท่านทนอ้อนวอนไม่ไหว ท่านก็เลยขึ้นไปนั่งรถยนต์ให้โยม

ทีนี้ในขณะที่ขึ้นไปนั่งอยู่บนรถนั้น เพราะความที่ไม่เคยนั่งรถยนต์ ท่านก็นึกว่าท่านเกรงจะตกรถ ท่านก็กำหนดจิตภาวนา ท่านบอกว่าภาวนากำหนดดูอาการ ๓๒ กำหนดตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไปจนกระทั่ง หทยํ หัวใจ พอจิตมันไปถึง หทยํ หัวใจ ก็มองเห็น แทนที่มันจะดูอยู่ที่หัวใจ ตัวเองมันกลับวิ่งเข้าไปสู่เครื่องยนต์ แล้วไปจดจ้องอยู่ที่จุดหนึ่ง ท่านไม่บอกว่าเป็นอะไร แต่หากมันมีลักษณะคล้าย ๆ กับถ้วย เหมือนถ้วยน้ำชาเรานี่แหละ เป็นลักษณะขาวกลม แล้วก็มีสายโยงต่อไป ท่านว่าอย่างนั้น พอจิตมันไปจดจ้องอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ทราบว่าเครื่องยนต์มันหยุดตั้งแต่เมื่อไหร่ จนกระทั่งเจ้าของรถเขาพยายามแก้จนสุดความสามารถ พอเสร็จแล้วเขาก็นึกสงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะท่านอาจารย์นั่งสมาธิ เครื่องยนต์มันจึงได้หยุด เขาก็มาเขย่าหัวเข่าท่าน อย่างแรง ท่านก็มีความรู้สึกตัวตื่นขึ้น พอท่านตื่นขึ้นมาคนรถก็บอกว่า ท่านอาจารย์นั่งสมาธิเครื่องยนต์มันดับ รถมันไม่วิ่ง ท่านก็ตอบว่า ถ้าหากเป็นเพราะ ฉันนั่งสมาธิจริง ๆ ก็ลองติดเครื่องดูซิ มันจะไปได้ไหม พอเสร็จแล้วคนรถเขาก็ติดเครื่องยนต์ รถมันก็วิ่งไปได้

อันนี้เป็นประสบการณ์อันหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติกรรมฐานนี้ เราจะต้องผ่านประสบการณ์ หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในตอนต้นนี้ เราได้ฝึกอบรมขั้นสมถกรรมฐาน ยังไม่ได้ขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน หลักสูตรที่เราเรียน ๆ กันอยู่นี้เป็นหลักสูตรสมถกรรมฐาน เกี่ยวเนื่อง ด้วยบริกรรมภาวนา

ทีนี้ การบริกรรมภาวนานั้น ในช่วงระยะที่จิตมันเริ่มจะสงบเป็นสมาธิ มีอาการเคลิ้ม ๆ แล้วจิตก็สงบวูบลง เกิดสว่าง ในขณะที่จิตเกิดสว่างนี้ จิตอยู่ในขั้น อุปจารสมาธิ บางขณะมันจะส่งกระแสออกไปข้างนอก บางขณะก็มาจดจ้องอยู่ที่จิตคือที่ใจนั้นเอง ไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก อันนี้แล้วแต่อุปนิสัยของแต่ละท่าน ถ้าบางท่านที่กระแสจิตไปถึงไหน จิตก็ส่งกระแสไปถึงนั้น แล้วมันจะเกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ขึ้น บางทีอาจจะเกิดเป็นภาพเหมือนกับจอหนัง แล้วก็มีรูปภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น มันก็จะมีภาพคนบ้าง สัตว์บ้าง หรือเทวดาบ้าง แล้วแต่ความเข้าใจของผู้เห็นนิมิตนั้น จะนึกว่าอะไรในช่วงที่จิตกำลังเกิดสว่างแล้วก็ส่ง กระแสออกไปข้างนอก ถ้าเราจะนึกให้มันรู้มันเห็นอะไรขึ้นมา จิตมันจะแสดงจะปรุงสิ่งนั้นขึ้นมาให้เรารู้เราเห็น ส่วนมากจะเข้าใจว่า เราไปเห็นสิ่งอื่น แต่แท้ที่จริงนั้นจิตมันปรุง ขึ้นมาเอง เพราะความอยากรู้อยากเห็น มันมีอยู่แต่เบื้องต้น ในเมื่อจิตสงบอยู่ในระดับนี้ ถ้าเรานึกอยากจะเห็นเทวดา รูปเทวดามันจะปรากฏขึ้น นึกอยากจะเห็นคน คนมันจะปรากฏขึ้น นึกอยากจะเห็นเลขหวยเบอร์ เลขมันก็จะปรากฏขึ้น ผิดถูกแล้วแต่ความแน่วแน่ของจิต พึงเข้าใจว่า เป็นตัวสังขารซึ่งมันปรุงขึ้นภายในจิตเท่านั้น อย่าเพิ่งไปสำคัญว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นมันเป็นสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ เป็นของจริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเห็นเช่นนั้นพึงกำหนดเข้ามาภายในจิต เอาจิตไว้ที่จิต ถ้าหากรู้สึกว่า จิตมันจะหลงในสิ่งเหล่านั้น ก็พึงนึกว่านั้นเป็นแต่เพียงภาพนิมิตเท่านั้น ไม่ใช่ของจริงของจังแล้วก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตเฉยอยู่ ภายหลังภาพนิมิตเหล่านั้น มันจะหายไปเอง อันนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

และในบางขณะ จิตไม่เฉพาะแต่มองเห็นเท่านั้น มันจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กับ ในเมื่อจิตส่งออกไปข้างนอกแล้ว จะมีความรู้สึกว่าคล้าย ๆ กับตัวเรานี้เดินออกไปข้างนอก เป็นรูปเป็นร่างอื่นต่างหากจากตัวเดิมที่มีอยู่ แล้วทีนี้จิตนึกไปถึงไหน รูปร่างอันนั้นมันก็จะไปถึงนั้น จะไปดูนรก ดูสวรรค์ หรือจะไปติดต่อกับวิญญาณในโลกอื่นก็ใช้จิตในช่วงนี้ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติผู้หวังความเจริญในทางการปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้น ขอได้โปรดอย่าได้ไปยึดถือหรือสำคัญผิดในเรื่องเหล่านี้ คือว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวงเท่านั้น

มันมีปัญหาที่เราจะทำความเข้าใจอยู่ว่าความรู้กับความเห็นนี้ บางทีเราอาจจะเข้าใจผิดรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ต้องเห็นอะไรอย่างหนึ่ง เป็นสักขีพยานขึ้นมา เราอาจจะเข้าใจอย่างนั้น คือ เห็นรูป เห็นนิมิตต่าง ๆ เป็นต้น แต่ความจริง ความรู้ความเห็นที่ถูกต้องนั้น หมายถึงสิ่งที่จิตมันเกิดรู้ขึ้นมา เช่นอย่างรู้ว่าร่างกายทั้งสิ้นนี้ มันเป็นปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก เป็นของสกปรก ไม่สวยไม่งาม ในเมื่อจิตมันรู้อยู่อย่างนี้ ความเห็นมันก็ซึ้งลงไปว่าเป็นอย่างนั้นด้วย โดยไม่มีความสงสัย ซึ่งบางครั้ง มันอาจจะเกิดนิมิตขึ้นมา ประกอบกับความรู้อันนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นจึงแยกได้เป็น ๒ ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นนิมิตเป็นรูปเป็นร่างปรากฏขึ้นในสมาธิ

ประเด็นที่สอง เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นจริงตามที่รู้ แล้วก็เกิดความเชื่อมั่นลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้มันเป็นอย่างนั้น เช่น เห็นปฏิกูลก็ปฏิกูลจริง ๆ จิตปลงตกลงไปว่า เป็นของปฏิกูลจริง ๆ อันนี้พึงทำความเข้าใจอย่างนี้

และอีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติธรรมนั้น ข้อสำคัญอยู่กับการทำจริง เช่นอย่างสมมติว่าเราบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ เราก็ตั้งใจทำมันจริง ๆ ลงไป ส่วนมากอุปสรรคมักจะเกิดมีขึ้น พอบางที บริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ลงไป มันปวดหลังปวดเอว แล้วก็รู้สึกเมื่อย ทีนี้ ถีนมิทธะ มันก็เข้ามาครอบงำ บางทีมันให้ปวดต้นคอ บางทีมันปวดหลัง พึงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือกิริยาของ ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ที่เราเคยเรียนผ่านมาแล้ว อันนี้มันจะมาตัดรอนความสำเร็จของเรา

เพราะฉะนั้น ในภาษิตข้อต้นของโอวาทปาฏิโมกข์ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติความอด ความทน ความอดกลั้น ทนทานเป็นตบะธรรม คือความเพียรเผาบาปอย่างยิ่ง ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงถือคตินี้ แล้วก็พยายามใช้ความอดทน พากเพียรพยายามทำให้มันจริงลงไป ประกอบพร้อมกับปลูกศรัทธาความเชื่อว่า เรามีสมรรถภาพสามารถที่จะทำให้สำเร็จได้ตามภูมิแห่งความสามารถของแต่ละท่าน

----------------
คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com/wiroj_c/dhamma/preach28.doc

5. อานาปานสติกรรมฐาน

อานาปานสติกรรมฐาน
โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

วันนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่อง การเจริญอานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งเป็น กรรมฐานประเภทหนึ่ง คือเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับจริตของบุคคลทั่วไป

การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่เราจะต้องฝึก ฝึกให้มีความรู้ความชำนาญ เพราะกรรมฐานเกี่ยวกับลมหายใจนี้ เรื่องของลมหายใจมันไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน เพราะทุกๆ ครั้งที่เราสามารถทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการบริกรรมภาวนา เมื่อจิตของเราสงบลงไปแล้ว จิตจะละวางคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วลมหายใจก็จะผุดขึ้น ถ้าจิตเดินทางที่ถูก จิตจะยึดเอาลมหายใจหายขาดไป แล้วจิตจึงจะละวางลมหายใจ เมื่อลมหายใจหายขาดไปแล้ว ความรู้สึกในร่างกายทุกสิ่งทุกส่วนไม่ปรากฏว่ามีอยู่ กายก็ไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี ในความรู้สึกในขณะนั้นมีแต่สภาวะจิตที่นิ่ง คือ ตัวผู้รู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ จิตมีความสว่างไสวอยู่และรู้รอบคอบอยู่ที่จิตโดยเฉพาะ นี้คือการภาวนาที่ถึงขั้นละเอียด

ทีนี้ จะได้กล่าวถึงการเริ่มต้นของการเจริญกรรมฐานว่าด้วยอานาปานสติกรรมกรรมฐาน บุรพกิจในเบื้องต้นของการเจริญนั้น ก็เช่นเดียวกันกับการเริ่มของการเจริญกรรมฐานอื่นๆ คือ มีการไหว้พระ สวดมนต์ เจริญพรหมวิหาร มีการแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล หรือบอกกล่าวสิ่งซึ่งเราเชื่อว่าอาจมีแฝงอยู่ตามป่า ตามดง หรือตามสถานที่นั้นๆ โดยที่เราอาจจะกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี้ มาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม มิได้มุ่งหมายที่จะมายึดครองหรือยึดกรรมสิทธิ์เอาที่ดินหรือสถานที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้าแต่ประการใด เพียงแต่ มาอาศัยบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็จะโยกย้ายไปที่อื่น” อันนี้เป็นกิจอันหนึ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายเมื่อเข้าไปสู่สถานที่แปลกๆ หรือใหม่ๆ จะต้องกล่าวให้สิ่งทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาให้เขาได้รับรู้

และอีกนัยหนึ่ง ในตำนานแห่งกรณียเมตตสูตร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เคยสอนให้พระภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ซึ่งถูกภูตผีปีศาจไปรบกวนโดยพระองค์ทรงแนะนำว่า เมื่อเธอทั้งหลายเข้าไปสู่ประตูแห่งป่าแล้ว ให้ยืนกำหนดจิตระลึกถึงเราตถาคต โดยนัยแห่ง อิติปิ โส ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ... ภควาติ เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วให้สวดกรณียเมตตสูตร แล้วจึงเข้าไปในป่านั้น บรรดาภูตผีปีศาจที่คิดร้ายรบกวนต่อพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหายไปและจะช่วยอุปการะรักษาความสงัดเงียบมิให้มีสิ่งรบกวนเกิดขึ้นแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายก็เรียน พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และกรณียเมตตสูตร จากสำนักของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เข้าไปสู่ป่าแห่งนั้น ปฏิบัติตามพุทธดำรัสทุกประการ แล้วก็เข้าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ภูตผีปีศาจที่เคยแสดงความน่าเกลียดน่ากลัว หรือรบกวนท่านเหล่านั้นก็สงบเงียบไป มิหนำซ้ำยังช่วยรักษาความสงบ คือมิให้เกิดมีเสียงต่างๆรบกวน แม้แต่เสียงนกเสียงกาก็ไม่มี เป็นการสะดวกแก่การเจริญสมณธรรมของท่านเหล่านั้น ซึ่งในที่สุดท่านเหล่านั้นก็สำเร็จมรรคผลนิพพานไปตามๆกัน อันนี้เป็นกิจสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จำเป็นจะต้องกล่าวการเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และกรณียเมตตสูตร ตามนัยตำนานแห่งกรณียเมตตสูตรที่ปรากฏอยู่แล้ว

ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง อานาปานสติกรรมฐาน

อานาปานะ ก็หมายถึง ลม การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น หมายถึงการเจริญกรรมฐานเกี่ยวเนื่องด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจ

เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายนั่งคู้บัลลังก์ โดยขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือซ้ายวางลงบนตัก เอามือขวาวางทับลงไป แบบพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ แล้วกำหนดระลึกถึงพระบรมครู โดยนัยว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เช่นเดียวกันกับการเจริญกรรมฐานพุทโธ แล้วก็กำหนดจิตของตนเองว่า จิตของตนมีความลำเอียงไปข้างรักหรือข้างชัง ส่งไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ให้รู้ชัดลงไปแล้วก็ตั้งใจกำหนดจิต ดูลมหายใจของตนเองเฉยอยู่

ในขั้นต้น เราอาจจะแต่งลมหายใจของเรา โดยกำหนดจิตให้แน่วแน่แล้วก็ค่อยสูดลมหายใจยาวๆ ช้าๆ จนกระทั่งหมดแรง แล้วก็ปล่อยออกมาอย่างช้าๆจนกระทั่งหมด แล้วก็สูดเข้าไปอีกทีหนึ่ง แล้วก็ปล่อยออกมาอีกทีหนึ่ง ทำอย่างนี้ถึง๕ ครั้ง เข้าออกเป็นครั้งหนึ่ง ต่อไปหายใจอย่างปกติ ไม่ต้องไปแต่งลมหายใจหน้าที่ของเรามีเพียงแต่ว่ากำหนดรู้ลมหายใจที่เป็นเองโดยธรรมชาติเท่านั้น คือดูให้รู้ว่าการหายใจเบาหรือหายใจแรง หายใจสั้นหรือหายใจยาว ก็ให้รู้อยู่ทุกจังหวะกำหนดตัวผู้รู้ไว้ที่ลมผ่านเข้า ซึ่งมีการสัมผัสอยู่ที่ปลายจมูก โดยจะนึก พุทพร้อมกับลมหายใจเข้า โธ พร้อมกับลมหายใจออกก็ได้ หรือหากไม่ทำอย่างนั้นไม่ต้องนึกพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้า หายใจออก เพียงแต่กำหนดรู้ลมเข้าออกเฉยอยู่ เมื่อจิตของเราส่งไปทางอื่น เรารู้ว่าจิตส่งไปทางอื่น ก็กลับเอามารู้ไว้ที่ปลายจมูก ตรงฐานที่ตั้ง กำหนดดูอยู่อย่างนั้นจนกว่าจิตของเราจะยึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์จริงๆ คืออยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งในบางครั้งเมื่อจิตมาอยู่ที่ ๆ เรากำหนดไว้แล้วบางทีจิตอาจจะวิ่งออกวิ่งเข้าตามกระแสทางเดินแห่งลม ก็ปล่อยให้จิตของเราเดินออกเดินเข้าตามกระแสแห่งลม

ในตอนนี้แสดงว่าจิตของเรายึดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์แล้วให้ดูลมหายใจเฉยอยู่ อย่าไปทำความนึกคิดอะไรอื่น นอกจากการดูลมหายใจเท่านั้น แล้วก็กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นตลอดไป ให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อยู่ที่จิตกับลมหายใจลมหายใจกับจิตอย่าให้พรากจากกัน และก็พยายามทำจิตให้เป็นกลาง อย่าไปยินดีในความเป็นของลมหายใจ หรืออย่าไปยินร้ายในความเป็นของลมหายใจ อย่าไปตกอกตกใจในอาการที่ลมหายใจมันอาจจะมีการแสดงกริยาไปต่างๆ เช่น บางทีอาจจะมีความรู้สึกว่าหายใจแรงผิดปกติ ก็อย่าไปทำความตกใจ บางทีจะมีอาการคล้ายๆ กับว่าลมหายใจมันจะหยุด ก็อย่าไปทำความตกใจ มันจะเป็นอย่างไรก็ตามให้กำหนดรู้เฉยอยู่อย่างนั้น ผู้รู้คือจิตนั้นเป็นตัวสำคัญ อย่าเผลอ ลมหายใจเป็นเพียงแต่อารมณ์เป็นเครื่องช่วยให้จิตสงบเท่านั้น แต่ตัวจิตคือผู้รู้กับสติสัมปชัญญะนี้ก็จะต้องประคับประคองจิตของเราไว้ให้ดี และในขณะที่เราปฏิบัติอยู่นั้น อย่าไปทำความรู้สึกว่าอยากรู้อยากเห็น หรืออยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแต่กำหนดรู้ลมออกลมเข้า และความเป็นไปต่างๆ ของลมเท่านั้น เมื่ออาการอย่างไรเกิดขึ้นก็ให้รักษาจิตไว้ให้ดีให้มีสติสัมปชัญญะ อย่าไปตื่น อย่าไปตกใจ อย่าไปมีอาการใดๆทั้งสิ้น ให้เรารู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้น นี้คือการปฏิบัติเกี่ยวกับลมหายใจ

ทีนี้ เมื่อเรากำหนดรู้อยู่อย่างนั้น ถ้าหากจิตของเราเป็นไปตามแนวแห่งสมาธิหายใจจะละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ทุกทีๆ ในที่สุดลมหายใจก็จะหายไปหมดเมื่อลมหายใจหายไปจากความรู้สึกแล้ว ความสว่างภายในจิตก็จักปรากฏขึ้น เมื่อความสว่างภายในจิตปรากฏขึ้น ร่างกายก็หายไปในขณะนั้น เมื่อร่างกายหายไปแล้วก็ให้นึกว่าร่างกายยังมีอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความตกใจ พอร่างกายและลมหายใจหายไปหมดแล้ว จิตมันจะไปอยู่ที่ไหน ตรงนี้ต้องพยายามทำสติสัมปชัญญะให้รู้เท่าทันอาการเหล่านั้นให้ดี บางทีบางท่านอาจจะเกิดความวิตกขึ้นมาว่า เมื่อร่างกายและลมหายใจหายขาดไปแล้ว จิตมันจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหวั่นวิตกหรือความกลัวก็จะเกิดขึ้น แล้วจะทำให้จิตถอยจากสมาธิ ถ้าหากมีความกลัวติดอยู่ในความรู้สึก เมื่อจิตดำเนินไปถึงขั้นนี้ พอจะเข้าขั้นละเอียดกันจริงๆแล้วมักจะเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วจิตจะถอยจากสมาธิ วิธีแก้ก็คือ พยายามทำบ่อยๆ ทำให้มากๆ อาศัยภาวิตา อบรมให้มากๆ พหุลีกตา กระทำให้มากๆ และมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทัน นี้คือเหตุผลแห่งการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถะ

ความจริงการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถะ ในเบื้องต้นเราต้องพยายามที่จะละความรู้ต่างๆ ที่เราเรียนมา เรามีความรู้เต็มภูมิก็ทำเหมือนไม่รู้ ทำความรู้ให้รู้สึกว่ามีอยู่แค่บริกรรมภาวนาเท่านั้น การภาวนาในขั้นนี้ไม่ต้องการเหตุผลอะไรมากมายนัก เพียงแต่ต้องการให้จิตสงบ ตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ เพื่อให้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตเดิมที่ไร้นิวรณ์ของเราว่าจิตเดิมของเรานั้นเป็นอยู่อย่างไร นักปฏิบัติจะรู้สภาพความเป็นจริงของจิตของตนต่อเมื่อสามารถทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ ทำจิตให้ว่างปราศจากความรู้สึกว่ามีกาย มีลมหายใจ มีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่า ในโลกนี้มีจิตดวงเดียวเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติประภัสสร เป็นจิตที่ใสสะอาด แต่ไม่ใช่ใสสะอาดชนิดที่หมดกิเลส เป็นแต่เพียงใสสะอาดประภัสสรชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

ในอันดับต่อไป ในเมื่อเรารู้สภาพความเป็นกลางของจิต คือความที่จิตใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เอนเอียงไปข้างรักไม่เอนเอียงไปข้างชัง มีแต่ความเป็นกลาง ในหลักธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านว่า กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนให้พัวพันในกาม อัตตกิลมถานุโยค ความประกอบตนให้พัวพันในสิ่งที่ทรมานตน ซึ่งหมายถึงอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นั่นเอง ก็ไม่มีในขณะนั้น ยังเหลือสภาพความเป็นกลางของจิตโดยเที่ยงธรรมปรากฏเด่นชัดอยู่ ในขณะนี้ตัวผู้รู้คือพุทโธก็ปรากฏขึ้น ผู้เบิกบานคือพุทโธก็ปรากฏขึ้น นี้คือจิตเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์สมาธิขั้นนี้ รวมเอาองค์อริยมรรคทั้ง ๗ ประการรวมลงไปสู่สัมมาสมาธิตัวเดียวเท่านั้น

ในเมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิ มีตัวรู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ ต่อไปเราปฏิวัติจิตของเราให้ดำเนินไปสู่แนวทางแห่งกุศลกรรมด้วยวิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบและความรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลายตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ชี้แนวเอาไว้ ก็ย่อมเป็นจิตที่เราสามารถจะน้อมไปสู่อารมณ์ใดๆ ได้ทั้งนั้น แต่การน้อมจิตไปสู่อารมณ์นั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องน้อมจิตในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ หรือระหว่างร่างกายละลมหายใจ แล้วก็น้อมไปในขณะนั้น อันนี้ย่อมเป็นการเข้าใจผิด เพราะในขณะที่จิตอยู่ในอัปปนาสมาธิปราศจากความรู้สึกในทางร่างกายและลมหายใจ จะนิ่งเด่นรู้อยู่เฉพาะตัว ในขณะนั้นจิตมีสมรรถภาพสามารถทรงตัวอยู่ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยอะไร จิตก็อันนั้น อารมณ์ก็อันนั้น สมกับคำว่า เอกัคคตา จริงๆ ก็คือไม่มี ๒ มีแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะให้ความรู้สึกนึกคิดน้อมไปทางไหนได้ทั้งนั้น

ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องคอยจนกว่าจิตมันจะออกมาจากสภาพเช่นนั้นแล้ว ถอยมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิ คือจิตมีลักษณะสว่างและรู้อยู่ในบริเวณกว้างๆ สามารถที่น้อมเอาอารมณ์อื่นๆ มาเป็นเครื่องพิจารณาได้ในตอนนี้เราก็รีบหยิบยกเอาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจารณา คือพิจารณา รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์โดยการน้อมนึกคิดพิจารณาเอา อย่างที่เราเคยเรียนเคยรู้มาจากตำรับตำรา เช่นว่า รูปํ อนิจจัง รูปไม่เที่ยงเวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เราก็นึกเอา ทีนี้ในเมื่อเรานึกเอาเช่นนั้นแล้ว บางทีในขณะที่ เรากำลังนึกกำลังพิจารณาอยู่นั้น จิตทำท่าจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปล่อยให้มันสงบลึกลงไป ในเมื่อมันสงบลึกลงไปแล้ว บางท่านก็ไปสงบนิ่งอยู่เฉย และบางท่านเมื่อจิตสงบไปแล้ว จิตปฏิวัติ ตนไปสู่ความรู้ความเห็นซึ่งผุดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี้เรียกว่า ปริยัติภายในมันเกิดขึ้น

ในเมื่อความรู้ความเห็นมันผุดขึ้นเป็นระยะๆ เช่นนั้น ผู้ปฏิบัติก็ตั้งสติ กำหนดจิตรู้ตามอาการเหล่านั้น มันจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม ถ้าหากมันอยู่ในสายความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติ ก็ปล่อยให้จิตมันดำเนินไปตามวิถีทางแห่งความรู้ซึ่งมันผุดขึ้น แต่ในเมื่อรู้แล้วอย่าไปหลงในความรู้ เห็นแล้วอย่า ไปหลงในความเห็น เพียงแต่กำหนดจิตรู้ตามสิ่งที่ปรากฏขึ้นหรือความรู้ที่ปรากฏขึ้น ถ้าหากว่าจิตมันจะไปหลงเพลิดเพลินในสิ่งนั้นจนเกินไป ก็สำนึกว่ารู้ก็สักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน อันนี้สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยย่อมปฏิบัติได้ง่ายอย่างนี้ ถ้าหากผู้มีอุปนิสัยอ่อนลงมาหน่อย ในเมื่อใช้ความคิดพิจารณาตามที่กล่าวแล้ว จิตไม่สามารถให้เกิดความรู้อย่างนั้น ก็หยุดพิจารณาเสีย แล้วบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเอาคำว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา” มาบริกรรมภาวนาจนกว่าจิตจะสงบนิ่งลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วจิตถอนจากความเป็นอัปปนาสมาธิมานิดหน่อย แล้วจะเกิดผุดรู้ผุดเห็นเป็นอัตโนมัติ ตามที่กล่าวมาแล้ว อันนี้แล้วแต่ความฉลาดของนักปฏิบัติจะใช้ความสังเกตดูที่จิตของตัวเอง ซึ่งบางทีความรู้ความเห็นความเป็นภายในจิตนั้นอาจจะไม่ตรงกันกับตำรับตำราที่เราเคยเรียนมาก็ได้เพราะว่าสิ่งใดซึ่งเป็นสัจธรรม สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริง จริงอย่างที่ใครๆ เรียกชื่อหรือบัญญัติศัพท์ที่จะเรียกชื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกก็มี หรือแล้วแต่วาสนาบารมีของใคร เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้กันด้วยจิตด้วยใจตามที่กล่าวอธิบายมานี้

ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจได้แล้วกระมังว่า การบำเพ็ญจิตเกี่ยวกับสมณธรรมนั้นสมถะกับวิปัสสนามันพรากจากกันไม่ออก ในช่วงที่จิตไม่สงบนั้นเราก็ใช้อารมณ์มาพิจารณา ตามที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงที่จิตมันจะสงบ เราก็ปล่อยให้มันสงบไปเราพิจารณาไปก่อนที่มันจะรู้จริงเห็นจริงอย่างแท้จริงนั้น จิตจะต้องหยุดนิ่งเข้าสู่อัปปนาสมาธิบ้างเพียงนิดหน่อยพอสมควร พอได้กำลังแล้วจึงจะมีอาการแวบขึ้นมาแล้วก็รู้จริงขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร ในขณะที่เรารู้จริงเห็นจริงนั้นย่อมจะไม่มีสมมติบัญญัติ จิตก็ไม่เรียกตัวเองว่าจิต อารมณ์ที่รู้ก็ไม่เรียกว่าอารมณ์ ที่ตัวรู้ก็เป็นแต่เพียงว่ามีสภาพผู้รู้มีอยู่ สิ่งที่ให้รู้ ให้เห็นก็มีปรากฏอยู่ แต่ภาษาที่จะเรียกว่าอะไรเป็นอะไรในขณะนั้นจะไม่มีโดยเด็ดขาด

ถ้าอย่างนั้นภาษาที่พูดกันอยู่นี้มาจากไหน มันมีมาต่อเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว แล้วก็สามารถรับรู้อารมณ์ภายนอก สัญญาอารมณ์เก่าๆ ที่เราเรียนมาจากตำรับตำรา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาพูดมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ของจริงซึ่งไม่มีภาษาสมมติบัญญัติ เมื่อพระองค์จะแสดงธรรมแก่ชาวโลก พระองค์ก็เอาภาษาของชาวโลกนั้นแหละมาสมมติบัญญัติ แต่งตั้งชื่อธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ถ้าไม่เอาภาษามนุษย์ภาษาของโลกมาพูดภาษาการตรัสรู้ ภาษาการเป็นพระพุทธเจ้านั้นย่อมไม่เหมือนภาษาของใคร เพราะมันไม่มีภาษาเรียก แต่พระองค์ก็มายืมเอาภาษาของโลกที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นแหละมาบัญญัติธรรมที่พระองค์รู้พระองค์เห็น ชาวโลกเขาสมมติแต่งตั้งบัญญัติภาษาพูดกันอย่างไร พระองค์ก็บัญญัติธรรมของพระองค์ที่รู้แล้วตามภาษาของชาวโลก ถ้าไม่ทำอย่างนั้นใครจะสามารถฟังภาษาของพระพุทธเจ้าออก ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงเข้าใจอย่างนี้ สำหรับการกล่าวธรรมเป็นการอบรมจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายสำหรับวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้…

--------------
คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com/wiroj_c/dhamma/preach29.doc

6. ศีลคือกรอบของการใช้กิเลส

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๖
วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
ศีลคือกรอบของการใช้กิเลส

ท่านสหธรรมิกและท่านพุทธบริษัททั้งหลาย

วันนี้ เรามาพร้อมเพรียงกันทั้งบริษัทภายนอก และบริษัทภายใน บริษัทภายในก็คือพระภิกษุสามเณร ส่วนภายนอกก็คือชาวบ้านทั้งหลาย ได้สละเวลามาร่วมการกุศลทำบุญฉลองอายุครบรอบ ๕๓ ปี ของท่านพระอาจารย์สมชาย (ฐิตวิริโย) ซึ่งเราท่านทั้งหลายได้เสียสละเวลามาด้วยจิตใจเลื่อใสศรัทธาในคุณงามความดีของท่านอาจารย์สมชาย ได้เคยฟังโอวาทของท่านพ่อลี ซึ่งเป็นพระเถระซึ่งเป็นที่พึ่งของชาวจันทบุรีมานาน ซึ่งขณะนี้ท่านก็ได้มรณภาพไปแล้วท่านให้โอวาทเป็นที่จับใจอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งมีใจความว่า การปฏิบัติธรรมในเมื่อเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สามารถที่จะทำจิตให้บรรลุคุณงามความดีพอสมควรแล้ว เราจะปรารถนาสมบัติอันเป็นโลกีย์ หรือโลกุตระก็ได้ ดังความประสงค์ ในเมื่อนึกถึงโอวาทของท่านพ่อลีในข้อนี้ ทำให้หวนนึกถึงคุณงามความดีของท่านอาจารย์สมชาย ซึ่งท่านก็ได้เสียสละกำลังกาย กำลังความคิด กำลังสติปัญญาทุกสิ่งทุกส่วนทุ่มเทลงบูชาการปฏิบัติธรรม จนได้มีคุณธรรมเป็นที่กระเดื่องเลื่องลือไปทั่วประเทศ ซึ่งใครก็รู้สึกมีศรัทธาเลื่อมใสในคุณงามความดีของท่านเป็นอย่างมาก

อันนี้ก็เป็นหลักฐานพยานอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนจิตของบรรดาเราทั้งหลายให้มีความตระหนักในโอวาทคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในข้อที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะอาศัยการกระทำความดีของท่านอาจารย์สมชาย คุณงามความดีอันนั้นจึงฝังลึกเข้าไปในจิตใจของพุทธบริษัททุกหนทุกแห่ง ซึ่งเป็นการเสริมพุทธโอวาทข้อที่ว่า ทำดีได้ดี และอีกนัยหนึ่ง เป็นหลักฐานพยานส่อแสดงให้เห็นผลปรากฏชัดของผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะในการปฏิบัติพระกรรมฐาน ในเมื่อบรรลุคุณธรรมแล้ว สมบัติอันเป็นโลกีย์ย่อมไหลมาเทมาตามที่ปรากฏอยู่แล้ว ถ้าจะว่าไปแล้ว พระในประเทศไทยที่มีความสมบูรณ์พูนสุขเพียบพร้อมไปด้วยสมบัตินานัปการก็เห็นจะยากที่จะเกินท่านอาจารย์สมชาย บางทีพระสงฆ์บางท่านอ่าจจะมีรถยนต์ประจำตำแหน่งอย่างมากก็ไม่เกิน ๑ คัน แต่ท่านอาจารย์สมชายของเรามีรถเป็นโหลๆ ใครๆ ก็มีศรัทธาต้องการจะถวายท่าน อันนี้ก็เพราะอาศัยคุณงามความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมาดังกล่าวแล้ว ซึ่งตรงกับโอวาทของท่านพ่อลีซึ่งเคยเป็นขวัญใจของชาวจันทบุรีมาครั้งหนึ่งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ในข้อที่ว่า “การปฏิบัติธรรม เมื่อทำถึงที่แล้ว แม้เราจะปรารถนาสมบัติอันเป็นโลกีย์หรือโลกุตระก็ได้” อันเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นแก่วันราษฎร์บูรณะคุณาราม หรือวัดเขาสุกิมแห่งนี้ มีท่านอาจารย์สมชายเป็นหลักและเป็นผู้นำประชาชน นอกจากในเบื้องต้นท่านจะได้เสียสละกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังสติปัญญาเพื่อศึกษาหาความรู้ความฉลาดนั้น คือการปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุคุณธรรมจนน่าอัศจรรย์แล้ว ท่านก็ยังได้เสียสละเพื่อมาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เป็นต้นว่า ช่วยอบรมสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และได้ช่วยเหลือทางราชการหลายสิ่งหลายอย่าง ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวในที่นี้

ในเมื่อคุณงามความดีของท่านผู้มีความดีพร้อมได้ปรากฏเป็นสักขีพยาน เป็นคติกระตุ้นเตือนใจผู้ที่จะดำเนินการปฏิบัติในภายหลังปรากฏเป็นประจักษ์พยานอยู่แล้ว พวกเราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาตลอดจนประเทศชาติก็ไม่ควรพากันประมาท ในการที่เรามาร่วมบุญกุศลคราวนี้ ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายจงได้พินิจพิจารณาว่า เราได้อะไรดีๆ จากท่านอาจารย์สมชายบ้าง นอกจากน้ำมนต์หรือเหรียญหรือหนังสือที่ได้รับไป สิ่งที่เราจะพึงได้อันเป็นคุณสมบัติภายในมีอะไรบ้าง ขอให้เราทั้งหลายได้พิจารณาตรวจตราดูด้วยจิตใจของตนเอง

ทีนี้ ในเมื่อท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังบรรลุคุณธรรมอยู่ เราซึ่งมีร่างกายและจิตใจเป็นสมบัติของตน ซึ่งมีความสามารถพอๆ กับท่านผู้อื่น ก็เชื่อว่าทุกท่านก็มีสมรรถภาพในการประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ศาสดาของเราที่ยิ่งใหญ่ก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์เป็นผู้บัญญัติศาสนาที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า พระพุทธเจ้าก็มีกาย มีใจ เราทั้งหลายก็มีกาย มีใจ เป็นสมบัติของเรา พระพุทธเจ้ามีการสำหรับใช้เดินเหินไปไหนมาไหนได้ และมีใจสำหรับตรึกนึกคิดในสิ่งต่างๆ จนสามารถที่จะยังพระองค์ให้สำเร็จเป็นบุคคลผู้รู้ ซึ่งได้ชื่อว่า พุทธะ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็มีกายสำหรับเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ทำกิจธุระการงานทุกสิ่งทุกอย่างได้ และมีใจเป็นผู้คิดเป็นผู้รู้ ดังนั้น เราจึงมีสมบัติเหมือนๆ กับพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงมี พระพุทธเจ้าทรงใช้กายกับใจเป็นเครื่องปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จนสามารถได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบเอง เราจึงยกย่องพระองค์ว่าเป็นศาสดาในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะคำสอนและได้ปฏิบัติตาม จนกระทั่งได้รับผลประโยชน์ตามสมควรแก่ฐานะเท่าที่เราจะสามารถปฏิบัติได้ ทีนี้ ในเมื่อพระพุทธเจ้ามีจิต มีใจ และมีร่างกาย โดยเฉพาะมีจิต มีใจเป็นเครื่องรู้ เราทุกคนก็มีจิต มีใจเป็นเครื่องรู้เหมือนกัน ในเมื่อเรามีจิต มีใจเป็นเครื่องรู้ เราก็สามารถที่จะใช้จิตใช้ใจของเราปฏิบัติธรรม หรือพิจารณาค้นคว้าหาของจริง

ธรรมอันเป็นสิ่งธรรมชาติ ในเมื่อกล่าวถึงธรรม ก็ใคร่ที่จะขอทำความเข้าใจกับบรรดาท่านทั้งหลายในข้อที่ว่า ธรรมสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาเคยได้ไปแสดงธรรมที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม โดยไปยกขึ้นว่า ธรรมะคือกายกับใจ เมื่อเทศน์จบลงแล้ว มีท่านนักศึกษาที่สำเร็จปริญญาที่เป็นฝ่ายคณะสงฆ์จะสำเร็จจากสถาบันใดไม่ทราบเพราะไม่ได้ถาม ท่านก็มาคัดค้ายว่าธรรมะไม่ใช่กายกับใจ กายกับใจเป็นสภาวธรรม ใครว่าธรรมะคือกายกับใจ คนนั้นเข้าใจผิด และไม่รู้จักธรรมะ ท่านว่าอย่างนั้น ทีนี้ ธรรมะตามความหมายของท่านนั้น หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักแห่งการปฏิบัติ นี้ขอฝากบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายไว้พิจารณาด้วย ทีนี้ ถ้าหากว่ากายกับใจไม่ใช่ธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายคิดดูซิว่า ถ้าสมมติว่า เรามีแต่กาย ใจไม่มี มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามีแต่ใจ กายไม่มี จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น กายกับใจจึงอยู่พร้อมกัน

สภาวธรรมนั้น ซึ่งเป็นวัตถุหรือเป็นพื้นฐานที่เราจะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวงให้รู้จริงเห็นแจ้งประจักษ์แก่ใจ ธรรมที่เรียกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนฺตตา ที่ปรากฏในพระบาลีนั้น ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่า สภาวธรรม สภาวธรรมก็คือกายกับใจของเรา และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกายใจของเรา เช่นอย่างโลก แผ่นดิน แผ่นฟ้า อากาศ ภูเขา ต้นไม้ รถ เรือน ทั้งหลายทั้งปวดเหล่านั้น เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เรียกอีกโวหารหนึ่งว่า สังขาร เพราะเป็นสิ่งซึ่งปรุงแต่งขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีความเจริญและมีความเสื่อสลายตัว สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีการปรากฏขึ้นในเบื้องต้น และก็ทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็สลายตัวลงในที่สุด นี้คือความเป็นจริของสภาวธรรม พูดตามภาษาวัดๆ ท่านก็เรียกว่า สภาวธรรมทั้งหลายนั้น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อันนนี้เป็นภาษาวัดที่พูดกัน

ทีนี้ ถ้าหากว่ากายกับใจไม่ใช่ธรรม เช่นอย่างในพระอภิธรรมจิต เจตสิก รูป นิพพาน ตามที่นักศึกษาทั้งหลายได้ศึกษาแล้ว จิตมันก็หมายถึงจิตใจ รูปก็หมายถึงรูปกาย เจตสิกก็หมายถึงสิ่งที่ประกอบกับจิต นิพพานก็หมายถึงการดับกิเลสของผู้ปฏิบัติ ในเมื่อกายกับใจไม่ใช่ธรรม เรื่องอะไรจะต้องเอาจิต เจตสิก รูป นิพพาน ไปเป็นพระอภิธรรม นี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดพิจารณาให้ซึ้ง

ทีนี้ โดยปกติแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรม สภาวธรรมที่เรามีอยู่นี้โดยปกติแล้วมันก็มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่พระพุทธเจ้านอกจากจะรู้ความเป็นจริงว่า สภาวธรรมมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระองค์ยังสามารถรู้กฎ หรือระเบียบที่จะกล่อมเกลาปรับปรุงสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้น จึงได้บัญญัติหลักปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้คือหลักกล่อมเกลาสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น

ทีนี้ ในเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักการปฏิบัติหรือหลักกล่อมเกลาสภาวธรรมให้มีสภาพดียิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มุ่งที่จะให้หมดกิเลส หรือละกิเลสให้หมดจากจิตสันดานของตน แต่อาตมาว่า ในขณะที่เรา โดยเฉพาะฆราวาส ยังไม่สำเร็จมรรค ผล นิพพาน อย่าเพิ่งให้กิเลสมันหมดไปเร็วนัก เอาไว้สำหรับใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่นอย่างความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือตัณหา ความทะเยอทะยาน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัณหาความทะเยอทะยาน กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อย่าเพิ่งให้มันหมดไปจากจิตสันดาน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนทุกคนมีความหมั่น มีความขยัน เช่นอย่างหลักกการแสดงหาประโยชน์ในปัจจุบัน พระองค์ก็ทรงสอนให้ถึงพร้อมด้วย อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น อารักขสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษา กัลยาณมิตตตา คบมิตรดี สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตให้พอเหมาะพอควรแก่ฐานะ ไม่มากไม่น้อย นี้เป็นธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ ถ้าเราพิจารณาในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ และในการแสวงหาคุณงามความดี ทีนี้ ถ้าหากว่าคนเราทุกคนไม่มีความอยาก คือ ไม่มีความอยากดี อยากมี อยากเป็นแล้ว เราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติและคุณงามความดีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น กิเลสคือตัวตัณหานี้ควรเลี้ยงเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้มันหมด

แต่พระพุทธเจ้าให้ใช้ตัณหาในขอบเขต ขอบเขตของการใช้กิเลสตัณหาให้เกิดประโยชน์แก่ตนนั้น พระพุทธเจ้าให้ถือหลักศีล ฆราวาสโดยทั่วไปก็ให้ถือศีล ๕ เป็นหลักประกัน พระภิกษุสามเณรก็ให้รับให้ถือศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นหลักประกัน บุคคลแต่ละชั้น แต่ละเพศ แต่ละภูมิ ถ้าหากว่าใช้กิเลสของตนให้นอกเหนือไปจากขอบเขตดังกล่าวแล้วนั้น เป็นการใช้กิเลสผิดทาง พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ ใครจะโลภแสวงหาทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าไร ก็เชิญโลภไปเถิด แต่อย่าให้มาผิดศีล ๕ ก็แล้วกัน อยากรวย ไปจี้ ไปปล้น ไปลัก ไปขโมย ไปฉ้อ ไปโกง อันนี้เขาเรียกว่าใช้กิเลสผิดทาง ผิดศีลของพระพุทธเจ้า ใช้กิเลสอย่างไม่มีขอบเขต แต่คนที่ต้องการอยากจะร่ำรวยแสวงหาทรัพย์สมบัติด้วยสัมมาอาชีวะโดยอาศัยศีล ๕ เป็นขอบเขตแห่งการแสวงหา บุคคลนั้นแม้จะขยันหมั่นเพียรสักเท่าไร พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่าเป็นคนขี้โลภ กลับยกย่องว่าเป็นคนรู้จักถือโอกาสน้ำขึ้นให้รีบตัก อย่างสมมติว่าท่านตั้งร้านค้าขายของอยู่ร้านหนึ่ง มีคนมาอุดหนุนตลอดวันยันรุ่ง ท่านจะขายของตลอดวันยันค่ำโดยไม่หยุดไม่กินไม่หลับไม่นอน พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสว่าท่านเป็นคนขี้โลภ โลภก็โลภอยู่ในขอบเขต การที่โลภอยู่ในขอบเขตก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั่วๆ ไป ถ้าหากเห็นคนที่หมั่นขยันหาทรัพย์สมบัติหรือทะเยอทะยานในความอยากมีอยากเป็น ก็ไปตำหนิกันว่าเป็นคนขี้โลภ อันนี้ออกจะเป็นการเข้าใจผิด สำหรับประชาชนโดยทั่วๆ ไปนั้น จะบิณฑบาตฉันอย่างพระเจ้าพระสงฆ์ไม่ได้ ทุกๆ คนก็ต้องแสวงหาด้วยน้ำพักน้ำแรง เพราะฉะนั้น การแสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อตั้งหลักฐานให้มั่นคงนั้น จะต้องประกอบด้วยความหมั่น ความขยัน ความโลภที่มีอยู่ ปรุงแต่งมันขึ้น ให้มันเป็นยากำลังใจสำหรับแสวงหาสมบัติและคุณงามความดี แต่ให้เป็นไปในกรอบแห่งศีล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

สำหรับการกล่าวให้โอวาทในวันนี้ เป็นการกล่าวโดยสาธารณะทั่วไปแก่พระภิกษุสามเณรและพุทธบริษัทภายนอกด้วย ดังนั้น เราพุทธบริษัททั้งภายนอกภายใน เป็นกำลังค้ำจุนอุดหนุนพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าได้มอบมรดกชิ้นสำคัญ คือ พระพุทธศาสนาไว้เป็นสมบัติของเราพุทธบริษัท พระองค์เคยตรัสว่า ศาสนาของเราตถาคตจะเสื่อมจะเจริญก็ขึ้นอยู่กับบริษัท ๔ ไม่มีใครอื่นที่เขาจะมาทำลายล้างมรดกของเราให้สูญเสียไป เพราะฉะนั้น ความตั้งใจมั่นในการที่จะดำรงพระพุทธศาสนาด้วยการศึกษาและปฏิบัตินั้นย่อมเป็นแนวทางสำหรับมนุษย์ทุกคน

การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล การศึกษาพระปริยัติธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจในคัมภีร์คำสอนของพระพุทธศาสนา แม้จะเรียนพระไตรปิฎกจนจบก็ยิ่งวิเศษใหญ่ ถ้าเราเรียนจบรู้พระปริยัติธรรมกว้างขวาง แล้วสละเวลามาปฏิบัติสมาธิภาวนา ในเมื่อภาวนารู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว ก็จะช่วยสนับสนุนความรู้ที่เราเรียนมาจากพระปริยัตินั้นให้มีความแตกฉานมากมาย ฉะนั้น การศึกษาและการปฏิบัติจึงเป็นของคู่กันไป จะทิ้งเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คนที่หนักในการปฏิบัติฝ่ายเดียว ไม่มีหลักปริยัติประกอบนั้นเปรียบเหมือนคนตาเดียว แต่ถ้าคนมีแต่ปริยัติอย่างเดียว ไม่มีการปฏิบัติด้วย ก็เปรียบเหมือนคนตาเดียว ทำกิจพระศาสนาได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ถ้าหากท่านผู้ใดทรงไว้ซึ่งปริยัติธรรมด้วย ทรงไว้ซึ่งปฏิบัติธรรมด้วย ท่านผู้นั้นได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ทั้ง ๒ อย่าง จะทำกิจพระศาสนาก็ทำไปอย่างมีเหตุผล ทำไปอย่างปัญญาชน ผู้มีความรู้

ผู้ที่มีการศึกษาน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณรโดยเฉพาะหลักพระวินัยที่เราจำเป็นจะต้องเอาใจใส่ศึกาาให้มีความรู้ความเข้าใจ สมมติว่าเราไม่สนใจศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านพระวินัย เราก็จะไม่รู้ว่าอะไรที่ควรละ อะไรที่ควรเจริญ อะไรเป็นอาบัติเบา อะไรเป็นอาบัติหนัก ลำดังแต่เพียงจะดูตัวอย่าง และจดจำมาจากครูบาอาจารย์อย่างเดียวนั้นย่อมไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น เราจะต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติม

ผู้ที่ไม่มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเลย ถ้าหากสมมติว่ามาปฏิบัติธรรม ก็สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ แต่ถ้าหากผู้ที่ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ เพราะอาศัยความไม่เข้าใจ ภายหลังอายุพรรษาเพิ่มมากขึ้นๆ เราทำอะไรก็ไม่ถูกต้องตามแบบแผนจารีตประเพณีของคณะสงฆ์นัก เพราะอาศัยความไม่เข้าใจ ภายหลังเราจะกลายเป็นผู้นำในทางศาสนาผิด

สังฆคุณตามที่เราท่องบ่นสาธยายอยู่ทุกๆ วันนี้ อันนี้ผมจะขอเสนอความคิดเห็นของผมในข้อที่ว่า อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลิกรณีโย ซึ่งเราแปลกันโดยทั่วไปว่า อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาสักการะ ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ของอันเขาพึงให้ อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้อัญชลีของคนทั่วไป อันนี้ถ้าเราจะมุ่งหมายถึงคุณสมบัติของผู้ที่มีความรู้ความสามารถจนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคลก็ย่อมเป็นความหมายที่ถูกต้องอย่างไม่มีปัญหา แต่สำหรับปัจจุบันนี้ คณะสงฆ์ควรจะได้รับการพิจารณาว่า อาหุเนยฺโย มีความหมายอย่างอื่นอีกได้ไหม เช่น อาหุเนยฺโย ผมของให้ความหมาย อันนี้เป็นคำเสนอมตินะครับ ไม่ใช่เสนอให้ท่านถือเป็นหลักการปฏิบัติ อาหุเนยฺโย ตามความเข้าใจของผมนั้น หมายถึง ท่านผู้ควรชักจูงบุคคลเข้ามา เรียกว่าควรนำบุคคลภายนอกเข้ามาสู่พระศาสนา ปาหุเนยฺโย ท่านเป็นผู้ควรแก่การให้การต้อนรับทั้งอามิสและธรรม เพราะท่านมีความรู้ความสามารถพอที่จะหยิบยื่นให้บรรดาผู้ที่เข้าไปหามาสู่ ทกฺขิเณยฺโย ผู้ควรแก่การให้ คือให้คุณธรรม ให้ธรรมคำสั่งสอน ให้หลักการอบรมบ่มนิสัยที่ถูกต้อง ไม่นำพระพุทธศาสนาไปในทางที่ผิด อญฺชลิกรณีโย ควรแก่การอัญชลี หมายถึงทั้งควรแก่การที่บุคคลภายนอกมากราบมาไหว้ด้วย หมายถึงท่านเป็นผู้ควรที่จะให้การกราบไหว้ด้วย คือหมายความว่าคนอื่นมากราบมาไหว้แล้วไม่เสียผล ไม่เสียประโยชน์ ใครมากราบมาไหว้ก็เป็นบุญเป็นกุศล นี้ตามความหมายที่ผมลองคิดดดู ได้ความว่าอย่างนี้ ขอฝากบรรดาท่านนักศึกษาไว้พิจารณาด้วย ผิดถูกประการใดต้องขออภัยด้วย

ในการที่ได้กล่าวโอวาทตักเตือนในวันนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา ในท้ายที่สุดนี้ ขออำนวยพรแก่ท่านสหธรรมิกและพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้มาร่วมการกุศลแสดงมุทิตาจิตในการที่ครบวันเกิดของท่านอาจารย์สมชาย และครบรอบอายุ ๕๓ ปี ด้วยบุญกุศลอันนี้ ขอจงดลบันดาลให้ทุกท่านสำเร็จความปรารถนาตามที่ท่านมุ่งมาดปรารถนาไว้โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญฯ

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

7. การเจริญอสุภกรรมฐาน

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๗
วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
การเจริญอสุภกรรมฐาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เมื่อตะกี้ท่านได้ฟังธรรมะจากท่านอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ซึ่งก็เป็นหลักการที่ถูกต้องและน่าฟังอย่างจับใจ นอกจากจะน่าฟังแล้วยังเป็นสิ่งที่ควรยึดถือเป็นคติในการปฏิบัติธรรมด้วย

ท่านบอกว่า การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่พื้นฐานคือ ศีล ศีลคือวินัย ต้องละเอียดและบริสุทธิ์สะอาด จึงจะเป็นฐานที่รองรับสมาธิคือการตั้งจิตมั่น เมื่อสมาธิการตั้งจิตมั่นมีพร้อมแล้ว ก็เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา หมายถึงปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง อันนี้เป็นหลักการสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ผู้หวังความเจริญในการปฏิบัติจำเป็นต้องรักษาต้นพรหมจรรย์คือศีล ให้บริสุทธิ์สะอาด เพราะศีลนี้เป็นการปรับพื้นฐาน คือ กาย วาจา ให้อยู่ในระเบียบพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ในเมื่อพื้นฐานที่เราปรับดีแล้ว เราจะปลูกฝังศีล สมาธิ ปัญญา ลงไป มันก็เป็นสิ่งที่จะผลิดอกออกผลได้ง่าย อันนี้เป็นหลัก และท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่า หลักการใหญ่ๆ ในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เราจะต้องยึดศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นหลักกการที่จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องศีล ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ นอกจากจะอบรมสมาธิให้มีให้เป็นขึ้นง่ายแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ป้องกันความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัยอีกด้วย ผู้ปฏิบัติแล้วเกิดสัญญาวิปลาศสำคัญผิดว่าเป็นถูก สาเหตุเนื่องมาจากความเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ การทำสมาธินั้น ไม่เฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนา แม้ในลัทธิศาสนาอื่นๆ เขาก็มีการทำสมาธิกัน เช่นอย่างในลัทธิศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาพราหมณ์นี้ มีมาก่อนพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก เพราะฉะนั้น ในหลักการของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงยกว่าศีลเป็นหลักการสำคัญ เพราะศีลที่บริสุทธิ์สะอาดแล้วนั้น มันเป็นสิ่งซึ่งเป็นกำแพงกั้นความเข้าใจผิดในพระพุทธศาสนามิให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้หวังความเจริญพึงยังศีลของตนให้บริสุทธิ์ ในเมื่อศีลบริสุทธิ์ บำเพ็นสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นแล้ว เราจะใช้สมาธิของเราไปในแนวไหน เราก็เอาหลักศีลมาเป็นเครื่องวัดมาเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าหากการใช้สมาธิออกไปนอกขอบเขตของศีลก็เรียกว่า เราใช้สมาธิผิด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้มุ่งหวังที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน หรือแม้แต่คุณธรรมชั้นสูงที่ถูกต้องตามหลักคำสอนนั้น จะต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์

สำหรับวันนี้ ใคร่ที่จะนำเรื่องการเจริญอสุภกรรมฐานมากล่าวพอเป็นคติแก่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ตามแนวทางที่ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้เคยอบรมสั่งสอนมา ท่านให้คติเตือนใจไว้ว่า ผู้ที่มาเจริญบริกรรมภาวนาจนทำจิตให้เป็นสมาธิได้ดีแล้ว ควรจะต้องผ่านการพิจารณาอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาร่างกายของตนเองและร่างกายของผู้อื่นให้เห็นเป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก เมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานเป็นที่เข้าใจ จนจิตยอมรับว่า ร่างกายทั้งสิ้น ทั้งของตนและของคนอื่น เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกสกปรก ยอมรับลงไปอย่างจริงจังแล้ว หลังจากนั้น เพื่อความก้าวหน้าของการบำเพ็ญ ท่านแนะนำให้เจริญธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณากายของตนเองแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้จิตยอมรับลงไปว่า ร่างกายที่เรายึดถือว่าเป็นของๆ เราอยู่นี้ แท้ที่จริงก็หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี เป็นสักแต่ว่าความประชุมของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาศัยวิญญาณเข้าไปสิงสถิตยึดครองโดยยึดมั่น ถือมั่น โดยการถือว่าเป็นของๆ ตน นี่ท่านอาจารย์เสาร์ได้ให้คำแนะนำและแนะแนวไว้อย่างนี้ ดังนั้น สำหรับวันนี้ จึงจักนำวิธีการพิจารณาอสุภกรรมฐาน ตามคำแนะนำของท่านอาจารย์เสาร์ซึ่งได้ให้การอบรมสั่งสอนมา

การพิจารณาอสุภกรรมฐานนั้น เราจะยึดอะไรเป็นหลัก เราก็ยึดกายกับใจนั้นแหละเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญ ในที่นี้ขอใช้คำว่า จิต พูดทั้งจิตทั้งใจเดี๋ยวจะเป็นการเข้าใจสับสน จะขอใช้คำว่า จิต กับ กาย เราเอาจิตนี้พิจารณาร่างกาย ตั้งแต่เบื้องบนลงมาถึงเบื้องล่าง ตั้งแต่เบื้องล่างขึ้นไปถึงเบื้องบน โดยแยกออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเรียกว่า กายคตาสติ ซึ่งมีอาการ ๓๒ พิจารณาตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดังที่พระอุปัชฌายะท่านได้ให้มูลกรรมฐานในเบื้องต้น ในวันที่เราบรรพชาเป็นสามเณร ท่านจะสอนมูลกรรมฐาน คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา แต่สุดท้ายท่านจะย้ำเตือนว่า ให้พิจารณาสิ่งทั้งห้านี้ให้เห็นเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เพื่อจะเป็นอุบายให้จิตมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นจริงโดยธรรมชาติ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก จะได้เป็นอุบายถ่ายถอน ราคะ ความกำหนัดยินดี มิให้เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ เราจะได้อยู่เย็นเป็นสุขในพระธรรมวินัยสืบไป อันนี้เป็นโอวาทที่พระอุปัชฌายะสอนบรรดากุลบุตรผู้เข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรในวาระแรก เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงยังไม่ลืม

ดังนั้น การพิจารณา ผม อุปัชฌายะท่านสอนว่า ผมคือสิ่งที่เป็นเส้นๆ เกิดอยู่บนศีรษะ เบื้องหน้ากำหนดตั้งแต่หน้าผาก เบื้องหลังกำหนดท้ายทอยตรงปลายคอต่อ เบื้องข้างกำหนดแต่หมวกหูทั้งสอง ผมนี้เมื่อน้อยก็ยังมีสีดำ เมื่อแก่มาเปลี่ยนเป็นสีขาว และลงผลสุดท้ายก็จะร่วงหลุดลงไปเน่าเปื่อยผุพังเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ซึ่งโดยปกติแล้ว ผมก็เกิดอยู่ในสถานที่ปฏิกูลสกปรกชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิตที่มีอยู่ในร่างกายอันนี้ ท่านให้พิจารณากลับไปกลับมา

แล้วก็พิจารณา ขน ในสภาวะเช่นเดียวกัน คือเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เพราะที่เกิดนั้นเต็มไปด้วยปุพโพโลหิตอันมีอยู่ภายในร่างกาย ซึ่งขนมีอยู่ทั่วร่างกายโดยทั่วๆ ไป เว้นฝ่ามือและฝ่าเท้า

ในขั้นต่อไป ท่านให้ฝึกหัดพิจารณา เล็บ ซึ่งคือสิ่งที่เป็นเกล็ดๆ ที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท่าทั้ง ๒๐ นิ้ว พิจารณาดูความสกปรกโสโครก เราใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ไปถูกต้องกับสิ่งที่ปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เราต้องเป็นภาระต้องไปทำความสะอาด คอยแกะคอยแคะมูลเล็บ และล้างด้วยสบู่ด้วยน้ำ รักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพราะว่าเล็บนี้ก็เกิดอยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก

ฟัน ซึ่งเป็นกระดูกที่เป็นชิ้นๆ เกิดอยู่ภายในปาก เราใช้เคี้ยวบดอาหาร ฟันนี้ยิ่งเป็นของสกปรกเพราะยิ่งชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิตตลอดเวลา ภายในปากก็มีน้ำลายไหลออกมาอยู่เสมอ ให้พิจารณาน้อมลงไปว่า ฟันนี้ก็เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เราต้องคอยบริหารรักษาเอาใจใส่แกะแคะขี้ฟัน และแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ เช่นอย่างฉันจังหันแล้วไม่แคะไม่จิ้ม สิ่งที่ติดอยู่ภายในซอกฟัน หรือว่าไม่แปรงฟันให้สะอาดแล้ว ภายหลังจะเกิดความบูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดยิ่งนัก

หนัง ที่เป็นสอ่งที่ห่อหุ้มอยู่ทั่วร่างกาย ถ้าจะม้วนเข้ามาแล้ว หนังจะได้ก้อนโตขนาดผลพุทราอย่างใหญ่ หนังเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มสิ่งที่ปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกเอาไว้ เพราะภายในนั้นย่อมเต็มไปด้วยน้ำเหลือง เลือด สารพัด เวลาเกิดร้อนเหงื่อไคลไหลออกมาล้วนแต่เป็นสิ่งสกปรกโสโครกเหม็นสาบปฏิกูล ท่านให้พิจารณาอย่างนี้
แล้วก็พิจารณากลับไปกลับมา ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วก็ถอยย้อนขึ้นไปถึงผม ในขั้นแรกนี้ เราก็พิจารณาเอาด้วยความนึกคิดที่เราเคยเรียนมาด้วยสัญญา ความจดจำ สิ่งใดอุบายใดที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกในสิ่งทั้งห้าดังที่กล่าวมานี้ เราก็พยายามน้อมนึกคิดเอาด้วยปัญญาสดๆ ร้อนๆ พร้อมกับน้อมจิตน้อมใจให้มันเชื่อมั่นลงไป ให้มันยอมรับรู้สภาพความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งห้านี้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก จะแม้ด้วยการน้อมใจเชื่อโดยกาน้อมนึกปรุงแต่งเอาก็ตาม

ภายหลังจากที่เราน้อมนึกคิดพิจารณาอย่างนี้แล้ว เราอาจจะบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเพ่งจดจ้องอยู่ที่ผมแล้วก็บริกรรมภาวนาว่า เกสาๆๆ พยายามส่งจิตส่งใจจดจ้องเพ่งเล็งดูอยู่ที่ผม จนกระทั่งจิตมันสงบมองเห็นผมชัดเจนขึ้นมา หรือมิฉะนั้นจะบริกรรมพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ นขา โลมา เกสา ก็ได้ จนกว่าจิตมันจะสงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิตามสมควร ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นลงเป็นสมาธิแล้ว ถ้าหากปัญญาเราสามารถที่จะรู้จริงเห็นจริง เราจะมองเห็นสิ่งทั้งห้านี้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกขึ้นมาโดยนิมิตและความรู้แจ้งอย่างชัดเจน ในเมื่อมีความรู้ความเห็นปรากฏขึ้นมาแล้ว จิตจะยอมรับทันทีว่าสิ่งทั้งห้าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก

แม้การพิจารณาในอาการทั่วๆ ไปภายในร่างกาย ก็ให้ยึดถึงหลักการพิจารณาตามแนวที่กล่าวมานี้ หรือจะพิจารณารวดเดียวไปจนครบอาการ ๓๒ แยกออกเป็นส่วนๆ ตามที่เราได้จดจำมาตามหลักปริยัติ แม้แต่จิตจะสงบลงก็ตาม ไม่สงบก็ตาม จิตจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เราก็ต้องพยายามปฏิบัติ พยายามพิจารณา โดยปลูกศรัทธาน้อมใจเชื่อลงไป เพราะการค้นคิดพิจารณานั้นเป็นอุบายให้จิตของเราเกิดพลัง คือเกิด ศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความเพียร สติ ความรู้เท่าทัน สมาธิ ความตั้งใจมั่น ปัญญา ความรู้จริงเห็นจริงตามสภาวธรรม ในเมื่อจิตเกิดความรู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรมขึ้นมาแล้ว จิตก็จะยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในร่างกาย แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก แม้ตายไปแล้ว เกิดเน่าขึ้นมา ยิ่งเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก อันนี้แล้วแต่ภูมิปัญญาของท่านนักปฏิบัติจะพิจารณาได้กว้างแคบเท่าไร สุดแท้แต่ความสามารถ

และอีกนัยหนึ่ง ถ้าหากสมมติว่า ท่านอาจจะขี้เกียจพิจารณาไปมากๆ การจะนึกไปจนครบอาการ ๓๒ นั้น มันเป็นการลำบาก ท่านก็มีอุบายวิธีให้ปฏิบัติอย่างหนึ่ง คือให้กำหนดเอาแต่อย่างเดียว เช่นว่าท่านจะแนะนำให้กำหนดดูกระดูก โดยเราจะจ้องมองหรือเพ่งเล็งดูกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ ทางที่ดีควรจะเอากระดูกหน้าอก คือกำหนดแหวกหนังออกด้วยความนึกคิด คือ นึกเอา ปรุงเอา แต่งเอง แล้วก็เถือเนื้อออก น้อมจิตให้มันนึกลงไปถึงกระดูก ตอนนี้เราเห็นกันด้วยความคิด ทีนี้ ก็พิจารณาถอยออกถอยเข้าอยู่อย่างนั้น ให้เชื่อมั่นลงไปว่ากระดูกมันมีอยู่ตรงนี้ แหวกหนังออก เถือเนื้อออก จิตก็จดจ่อลงไปทีละนิด จิตมันเกิดเชื่อมั่นลงไปว่า กระดูกอยู่ที่ตรงนี้กระดูกหน้าอก ภายหลังเมื่อเราพิจารณาเมื่อยแล้ว เราก็มาบริกรรมภาวนาว่า อัฏฐิๆๆ แล้วก็จ่อจิตลงไปตรงที่เรากำหนดแหวกหนังออก เถือเนื้อออก จ่อลงไปทีละนิด บริกรรมภาวนาว่า อัฏฐิๆๆ อยู่อย่างนั้น ในเมื่อหนักๆ เข้า จิตของเราตั้งมั่นลงเป็นสมาธิ มันก็จะเกิดนิมิตเห็นกระดูกตรงจุดนั้น อันนี้ถ้าหากว่าสมาธิของเราสามารถที่จะสงบแก่กล้า มีสติสัมปชัญญะ สามารถที่จ้องมองดูได้ ถ้าหากไม่เห็นนิมิตอย่างที่ว่า เอากันแต่เพียงความเชื่อมั่นว่ากระดูกมีอยู่จะเพ่งเล็งดู อันนี้ก็เป็นอุบายอีกอันหนึ่ง หรือจะยึดเอาอาการ ๓๒ อีกอันใดอันหนึ่ง หยิบยกขึ้นมาพิจารณาจ้องมองดูแต่ส่วนนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่เพื่อที่จะให้จิตมันเกิดพลัง หรือเกิดสติปัญญากว้างขวางยิ่งขึ้น ก็ควรจะกำหนดพิจารณาไปจนครบอาการ ๓๒ แล้วจึงมาค่อยเพ่งจ้องมองพิจารณาดูอาการใดอาการหนึ่งโดยเฉพาะ

ทีนี้ ในขณะที่เรากำหนดพิจารณาในอาการ ๓๒ ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ถ้าหากในขณะที่เราพิจารณาอยู่นั้น จิตของเราทำท่าจะสงบเป็นสมาธิอยู่ในอาการใด เราก็ปล่อยให้มันสงบนิ่งอยู่ในอาการนั้น อย่าไปฝืน ฝืนเฉพาะที่มันจะส่ายออกไปข้างนอก ไปหาเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่หน้าที่ ถ้าหากว่ามันจดจ้องอยู่ในเรื่องราวที่เราพิจารณาและทำท่าจะสงบลง ในเมื่อเรานึกถึงในอาการใดอาการหนึ่ง ก็ปล่อยให้มันสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น แล้วก็เพ่งเล็งจดจ้องอยู่ที่ตรงนั้น จนกว่ามันจะมองเห็นนิมิตผุดขึ้นมาให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าหากว่าจิตมันจะจดจ้องเพ่งเล็งมองดูอยู่อย่างนั้น เราก็ปล่อยให้มันดูอยู่อย่างนั้นไปก่อน ในเมื่อจิตมีกำลังกล้าพอสมควรแล้ว จิตมันก็จะปรุงจะแต่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เราจ้องมองดูอยู่นั้นให้เป็นไปต่างๆ ตามหลักเกณฑ์แห่งของที่เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดตามที่เราได้พิจารณาไว้แต่เบื้องต้น อันนี้เป็นวิธีการเจิรญกายคตาสติ

หลักสำคัญ ผู้ที่ปฏิบัติด้วยการเจริญกายคตาสตินี้ควรจะจดจำอาการ ๓๒ คือ อยํ โข เม กาโย กายของเรานี้หนอ อุทฺธํ ปาทตลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อโธ เกามตฺถกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโร นานปฺปการสฺส อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ เกสา คือผมทั้งหลาย โลมา คือขนทั้งหลาย นขา คือเล็บทั้งหลาย ทนฺตา คือฟันทั้งหลาย ตโจ คือหนัง จนกระทั่งครบอาการ ๓๒ ถ้าท่องจำได้ทั้งบาลีและคำแปลได้ยิ่งดี จะเป็นคู่มือในการฝึกหัดพิจารณา เพราะการพิจารณาธรรมนั้น เราจะต้องอาศัยหลักปริยัติเป็นสำคัญ ถ้าหากเราไม่รู้หลักปริยัติบ้าง ก็ไม่รู้จะเอาหลักอะไรมาพิจารณา ฉะนั้น การที่จดจำอาการ ๓๒ ให้ได้จนคล่องปากนั้น เป็นปัจจัยเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง และเป็นิส่งจำเป็นที่นักปฏิบัติทั้งหลายจะต้องพยายามจดจำให้ได้

สำหรับการกล่าวเรื่องการเจริญอสุภกรรมฐาน พอเป็นแนวทางสำหรับท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเพียงย่อๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้...

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

8. อาการจิตในสมาธิ

****************
อาการจิตในสมาธิ
หลวงพ่อพุทธ ฐานิโย
****************


บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๘
วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้รับการอบรมเรื่องสมถภาวนามาเป็นเวลา ๑ อาทิตย์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ถ้าหากว่าแต่ละท่านตั้งอกตั้งใจปฏิบัติกันจริงจัง เข้าใจว่าจะมีผลบังเกิดขึ้นบ้างตามสมควร เพราะว่าการที่จะสำรวมจิตให้สงบเข้าไปสู่สมาธินั้น เหตุผลอยู่ตรงที่มีความตั้งอกตั้งใจ ความพากเพียรพยายาม พยายามที่จะกำหนดรู้จิต หรือพยายามเอาจิตไปไว้ที่บริกรรมภาวนา หรือเอาจิตไปไว้กับอารมณ์ที่เราพินิจพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจ หรือโดยที่สุดแม้จะกำหนดรู้ลมหายใจตามสภาพความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เอาใจใส่จดจ้องต่อการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

ทีนี้ สำหรับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติกันจริงจัง ย่อมจะเกิดความสงบขึ้นบ้างตามสมควร ในระยะที่จิตกำลังเริ่มจะมีความสงบนั้น บางท่านหรือบางโอกาสของนักปฏิบัติ จะต้องมีเหตุกราณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นกับความรู้สึก บางทีก็มีอาการรู้สึกว่าตัวนี้หนัก บางทีก็รู้สึกว่าตัวนี้เบา จิตก็เบา บางทีก็เกิดมีนิมิตเห็นรูปภาพต่าง ๆ บางครั้งก็เกิดมีแสง แสงที่เกิดขึ้นบางทีเราก็อาจจะมองเห็นอยู่ในระยะไกล แล้วก็ลอยใกล้เข้ามา บางทีก็มาวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัว หรือบางทีก็มีความสว่างรอบตัวเกิดขึ้น

เหตุกราณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นธรรมดาของนักปฏิบัติจะต้องประสบกันแทบทุกท่าน แต่จะด้วยประการใดก็ตาม เราจะเห็นรูปภาพนิมิต เห็นแสง หรือได้ยินเสียงอะไรเกิดขึ้น พึงทำความรู้สึกภายในจิตของตัวเองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องของจิตปรุงแต่งขึ้น แสงก็ดี เสียงก็ดี ภาพนิมิตก็ดี มันเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้น

คือในช่วงที่จิตเริ่มสงบในตอนแรกนั้น กระแสจิตที่ส่งไปสู่ทางไกล ๆ เพิ่งจะเริ่มหดตัวเข้ามา ในระยะที่จิตมันเกิดความสงบขึ้น ในขณะนั้นมันก็ย่อมมีนิมิตต่าง ๆ บังเกิดขึ้น หรือถ้าไม่มีรูปภาพคนหรือสัตว์อะไรเกิดขึ้น แต่มันมีแสงคล้าย ๆ กับว่าเป็นลำทอดออกไป มีลักษณะคล้าย ๆ กับแสงมันออกจากตา เหมือนแสงไฟฉาย หรือบางท่านอาจจะมองเห็นมีแสงสว่างรอบตัว ทั่วบริเวณที่ตัวอยู่

ในเมื่อเหตุกราณ์อย่างนี้เกิดขึ้น นักปฏิบัติที่มีสติไม่รู้เท่าทัน ย่อมจะตกใจกลัวหรือตื่นในเหตุกราณ์นั้น ๆ แล้วละการกำหนดจิตของตนเสีย เอาจิตไปสนใจกับเหตุกราณ์ที่เกิดขึ้น จิตก็เปลี่ยนสภาพ ในเมื่อจิตเปลี่ยนสภาพ ก็หมายถึงว่าจิตถอนจากสมาธิที่จิตกำลังเริ่ม ๆ จะเป็นอยู่นั้น ในเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เสียงแสงสีต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นเป็นภาพนิมิตให้ปรากฏนั้นก็จะหายไปทันที

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติควรระวัง ถ้าหากว่าเหตุกราณ์ดังกล่าวนี้มันเกิดขึ้น จะด้วยประการใดก็ตาม จะเป็นลักษณะของตัวเบา ตัวหนัก ตัวใหญ่ ตัวพอง เกิดเสียง สี แสง อะไรต่าง ๆ บังเกิดขึ้น หรืออะไรก็ตาม ขอได้โปรดอย่าละจากการกำหนดรู้อยู่ที่จิตกับอารมณ์ที่บริกรรมภาวนาอยู่ ถ้าหากว่าในขณะนั้นจิตของท่านยังนึกบริกรรมภาวนาอยู่ ก็ให้นึกบริกรรมภาวนาต่อไป

ถ้าหากว่าจิตของท่านเลิกจากการบริกรรมภาวนา ให้สำรวมสติสัมปชัญญะ รู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น อย่าได้ไปสนใจกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น แล้วจิตของท่านจะดำรงมั่นอยู่ในความเป็นสมาธิ แล้วภายหลังถ้าหากว่าท่านไม่ไปตื่นกับสิ่งเหล่านั้น จิตของท่านจะไม่ถอนจากความเป็นสมาธิ ในเมื่อจิตไม่ถอนจากความเป็นสมาธิ จิตจะค่อยละเอียดยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งถึงระดับอัปปนาสมาธิเป็นที่สุด

นี่ขอเตือนนักปฏิบัติทั้งหลายพึงสังวรเอาไว้ เหตุกราณ์อะไรเกิดขึ้นก็อย่าไปตื่นไปตกใจ อย่าไปนึกว่าสิ่งอื่นมาแสดงให้ท่านรู้ท่านเห็น มันเป็นกิริยาของจิตท่านแสดงออกไปเอง อย่างภาพนิมิตต่าง ๆ จิตมันก็เป็นผู้ปรุงขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องจิตปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น

และอีกนัยหนึ่ง ในเมื่อพูดถึงเสียงแสงสีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นประสบกราณ์ของนักปฏิบัติจะพึงผ่าน จึงใคร่จะขอกล่าวเรื่องเกี่ยวกับสมาธิจิตที่สามารถส่งไปรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในภายนอกได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าท่านนักปฏิบัติ กำลังบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า บริกรรมภาวนาพุทโธก็ดี หรือกำหนดรู้ลมหายใจก็ดี หรือพิจารณาอสุภกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ดี ในเมื่อจิตมีอาการสงบลงไป แต่อยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งเรียกว่า อุปจารสมาธิ

ระดับอุปจารสมาธินี้ จิตจะมีอาการสงบ แต่ยังไม่สงบแน่วแน่ ในบางครั้งเราจะมีความรู้สึกนึกคิดของเราเองอยู่ บางครั้งก็ลืมๆ ไป แต่วางเฉยอยู่ และประกอบกับมีความสว่างไสวอยู่ในความรู้สึก ซึ่งในขณะนี้จิตสามารถจะน้อมหรือส่งกระแสออกไปข้างนอกได้ ในขณะใดที่จิตมันส่งกระแสออกไปข้างนอก ถ้าหากสมมติว่าก่อนที่จะนั่งสมาธิภาวนา เรามีความมุ่งหวังอยากจะรู้จะเห็นอะไรสัญญาในอดีตมันจะมากระตุ้นเตือนให้จิตปรุงแต่งเป็นภาพนิมิตขึ้นมา อันนี้แสดงว่าจิตส่งกระแสงออกไปข้างนอก

ในเมื่อจิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ถ้าจิตส่งกระแสออกไปข้างนอกเมื่อไร เมื่อนั้นจะเกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมาให้เห็น สุดแท้แต่จิตมันจะปรุงแต่งไป ที่เขาส่งจิตไปชมนรกชมสวรรค์กันได้ก็ใช้ระดับจิตในขั้นนี้ ถ้าหากทำจิตให้เกิดสว่างขึ้นมา ยังมีความรู้สึกที่จะน้อมนึกถึงอะไรได้อยู่ ในเมื่อเรานึกถึงนรก นึกถึงสวรรค์ นึกถึงผีสางเทวดา นึกถึงอะไรก็ตาม จิตสามารถที่จะส่งกระแสไปรู้เห็นในสิ่งนั้นได้ บางทีก็คล้ายๆ กับว่าตัวของเราทั้งตัวนี้ ลอยไปในอากาศ หรือเดินไปในสถานที่ต่างๆ ในความรู้สึกคล้ายๆ กับเราเดินไปทั้งตัว แต่แท้ที่จริงก็ไม่ได้ไป นั่งอยู่กับที่นี้แหละ แต่ว่าจิตมันส่งไปเพราะอาศัยความรู้สึกที่ว่ามีตัวมีตน
ความรู้สึกว่ามีตัวมีตนก็ปรากฏไปด้วย ลักษณะอย่างนี้นักบำเพ็ญสมาธิทั้งหลายเขาสมมิตโวหารเรียกกันว่า การถอดร่างหรือถอดจิตไปดู บางสำนักก็ว่าอันนี้เป็น ธรรมกาย เป็นกายที่ ๒ ที่แยกออกจากตัวของตัวเองตัวจริง ออกไปเป็นอีกตัวหนึ่ง แล้วก็สามารถที่จะใช้ตัวอันนี้ไปสำรวจดูอะไรที่ไหน ไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนาหรือไปที่ไหนๆ ก็ได้ทั้งนั้น

อันนี้เป็นระดับที่เขาใช้อำนาจจิตหรือใช้พลังจิตกัน เช่นอย่างการที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังด้วยการอธิฐานจิตก็ต้องใช้ระดับจิตในขั้นนี้ ถ้าหากจิตอยู่ในขณิกสมาธิเพียงนิดหน่อย กำลังไม่พอ ถ้าหากจิตลึกลงไปถึงอัปปนาสมาธิก็ไร้สมรรถภาพ ไม่สามารถที่จะทำประโยชน์อะไรได้ นอกจากความสงบนิ่งอยู่เฉพาะที่จิตอย่างเดียว ถ้าหากจะใช้จิตให้เกิดประโยชน์ในทางต่างๆ ก็จะต้องใช้ในระดับอุปจารสมาธิ แม้ว่าเราจะใช้จิตพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ พิจารณาอสุภกรรมฐาน พิจารณาธาตุววัฏฐาน พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องใช้ระดับจิตในขั้นอุปจารสมาธิ

ซึ่งอยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น บางทีก็ลืมๆ ไป บางทีก็มีสติสัมปชัญญะพร้อม แต่ว่าลักษณะของความสว่างภายในจิตนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งความสงบของจิต ไม่ว่าจิตจะอยู่ในระดับไหน เช่นอย่างท่านกำหนดบริกรรมภาวนาเกิดแสงวับๆ แวบๆ ขึ้นมาในความรู้สึกในทางจักษุเพียงนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็หายไป อันนั้นเป็นขณิกสมาธิเกิดขึ้น

ทีนี้ อุปจารสมาธิ จิตสงบอยู่ได้นาน เรียกว่าเฉียดๆ เข้าไปเกือบจะถึงอัปปนาสมาธิ แล้วก็ดำรงอยู่ในความสงบได้นาน ประกอบกับความสว่างไสวภายในจิต เป็นเครื่องหมาย ทีนี้ เมื่อจิตมันรวมลงมามีความสงบนิ่งลงไป จนกระทั่งถึงเอกัคคตา จนเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตก็จะมีความรู้สึกเฉพาะภายในจิต ในตอนนี้จิตตั้งตนอยู่โดยอิสรภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ใดๆ ความมีสติสัมปชัญญะไปประชุมพร้อมกันอยู่ที่จิตซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิ แต่จิตในอัปปนาสมาธินี้นอกจากสร้างสมรรถภาพความเข้มแข็งในทางกำลังจิตแล้ว จะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ เพราะในขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่นั้น เราจะปราศจากอารมณ์สัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จิตดวงเดียว

ถ้าหากว่าจิตยังอาศัยอามรณ์อื่นอยู่ จิตก็อยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ถ้าจิตวางอารมณ์หรือวางนิมิตทั้งหลาย ยังเหลือแต่จิตที่ตั้งเด่นใสสะอาดอยู่แล้วประกอบด้วยความสว่าง มีสติสัมปชัญญะพร้อม สติก็อันนั้น สัมปชัญญะก็อันนั้น การควบคุมจิตหรือความเป็นของจิตนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติไม่ได้ตั้งใจที่จะควบคุมจิตแต่จิตถึงสภาพความเป็นอัปปนาสมาธิโดยอิสระเสรีจริงๆ แต่มีสมรรถภาพทรงตัวอยู่ในสภาพอย่างนั้นเท่านั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะน้อมความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นไปที่ไหนได้ จิตในขั้นนี้เป็นการสร้างกำลัง สร้างความมั่นคงของจิต เป็นจิตนิ่ง

เมื่อจิตถอนออกจากสภาพความเป็นอย่างนี้ออกมาสู่ความเป็นอุปจารสมาธิ พอเกิดความรู้ขึ้นนิดหน่อย ผู้ปฏิบัติรีบฉวยโอกาสเหนี่ยวเอาอารมณ์วิปัสสนากรรมฐานมาพิจารณา เช่น จะยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาน้อมนึกคิดพิจารณาไป ทีนี้ ในเมื่อเราพิจารณาอารมณ์ในขณะที่จิตมีความสงบ จิตก็เป็นสิ่งที่น้อมเข้าไปสู่การงาน ไม่มีความฟุ้งซ่าน อาศัยกำลังหนุนจากอัปปนาสมาธิ จึงทำให้จิตมีสมรรภาพ มีกำลังเพิ่ม สามารถที่จะน้อมไปสู่อารมณ์ได้

ในขณะที่จิตน้อมเข้าไปสู่อารมณ์ เราจะน้อมเอาอะไรมาพิจารณาโดยพระไตรลักษณ์ก็ตาม ในขณะนั้นเราอาจจะไม่มีความรู้แจ้งเห็นจริงแต่ประการใด ได้แต่ความรู้สึกนึกคิดโดยเจตนาเป็นช่วงๆ บางทีจิตก็ปราศจากเจตนา ปราศจากความตั้งใจ เป็นอัตโนมัติ ผุดรู้ ผุดเห็นไปเอง บางครั้งก็ทำท่าคล้ายๆ จะถอนออกจากสภาพความเป็นอย่างนั้น พอรู้ว่าจิตจะถอนออกจากความเป็นเช่นนั้น เราก็รีบควบคุมจิตให้พิจารณาในเรื่องราวที่เราต้องการ กระทำอยู่อย่างนี้

จิตในขั้นอุปจารสมาธินี้เอง สามารถใช้ในการงานทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ใช้อำนาจทางพลังจิต จะเกิดอิทธิฤทธิ์ ก็ใช้จิตในระดับนี้ จะใช้อำนาจจิตพิจารณาสอดส่องให้รู้แจ้งเห็นจริงในสภาพธรรมดาตามความเป็นจริง ก็ต้องใช้จิตในระดับนี้ ในเมื่อเราใช้จิตในระดับนี้พิจารณาอยู่ ในเมื่อจิตจะมีความรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ลงไปตามความเป็นจริง ด้วยการยอมรับสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติตามพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เมื่อจิตมันจะตัดสินใจอะไรให้แจ่มแจ้งลงไป จิตจะนิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิพักหนึ่ง แล้วอีกพักหนึ่งถ้าจิตมันสามาถพิจารณาตัดสินรู้อะไร เห็นอะไรได้ มันจะมีอาการไหวพั่บ ถ้าสังเกตดูให้ดีๆ แล้ว มันจะคล้ายๆ กับหัวใจของเรานี้มันมีอาการไหว พร้อมๆ กันนั้นก็เกิดผุดรู้เป็นภาษาขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ในขณะที่จิตมันไปจ้องมองรู้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงอยู่นั้น จิตก็มีสภาพเป็นอีกอย่างหนึ่ง อามรณ์ที่ทำให้รู้ให้เห็นแสดงปฏิกริยาให้รู้ให้เห็นเป็นอีกเอกเทศหนึ่ง คล้ายๆ กับไม่มีความสนใจในกันและกัน ถ้าความรู้ความเห็นอันใด เรายังรู้สึกว่า อ๋อ... อันนั้นคือันนั้น อันนี้คืออันนี้ อันนี้คืออนิจจัง อันนั้นคือทุกขัง อันนั้นคืออนัตตา เรายังมีความรู้สึกนึกคิดอยู่อย่างนี้ ถึงมันจะเป็นความรู้ แต่มันก็เป็นความรู้ขั้นใช้ความคิดหรือใช้วิจาร จากการวิจัยวิจารด้วยอำนาจสัญญาเจตนา แต่ยังไม่ใช่ขั้นรู้ตามความเป็นจริง

ความรู้ตามความเป็นจริงนั้น ต้องปราศจากสัญญาเจตนา ความคิดที่มีอยู่ได้ตัดขาดตอนขาดสะบั้นลงไป แล้วจิตไปบรรลุถึงสภาวะความเป็นอีกอย่างหนึ่ง มีสภาวะรู้เด่นชัดอยู่ สภาวะที่ให้รู้ก็มีอยู่ แสดงอาการเปลี่ยนแปลงให้รู้อยู่ แต่ในขณะนั้นภาษาว่าจิตก็ไม่มี ภาษาว่าสภาวธรรมที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีแต่เพียงความมีอยู่เป็นอยู่เท่านั้น เพราะอาศัยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสมมติเรียกว่า สภาวธรรม เพราะมันมีความเป็นจริงโดยธรรมชาติของมัน

ทีนี้ ในความรู้ในขั้นสัจธรรมนั้น ไม่มีภาษาสมมติบัญญัติแต่ประการใด อาจจะมีปัญหาข้องใจเกิดขึ้นมาว่า ในเมื่อความรู้จริงเห็นจริงซึ่งเรียกว่าสัจธรรมปรากฏขึ้นกับผู้ปฏิบัตินั้น ไม่มีภาษาสมมติบัญญัติที่จะเรียกกัน แล้วพระพุทธเจ้าเอาภาษาที่ไหนมาพูดกัน นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน

ขอให้เราพิจารณาดูว่าภาษาต่างๆ ที่มีอยู่กันเต็มโลก เนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู เมื่อตรัสรู้แล้ว ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็มาสมมติบัญญัติธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นให้ตรงกับภาษาที่เขาเรียกขาน ซึ่งมีอยู่ก่อน ส่วนภาษาจริงจังในความตรัสรู้ของพระองค์นั้นมันไม่มีภาษาอะไร

แม้แต่ผู้ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ถ้ารู้จริงเห็นจริงแล้ว มันก็ไม่มีภาษาอะไรที่จะเรียก เราจะมีภาษาเรียกได้ก็เมื่อจิตออกจากสมาธิมาสู่ความเป็นปกติภาพอย่างที่เรายังไม่ได้ทำอะไร แล้วความทรงจำที่มันเกิดรู้เกิดเห็นขึ้นมานั้นมันฝังอยู่ในส่วนลึกของจิต แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่ลืม แม้บางครั้งที่เราไม่ได้นึกถึงมัน ก็คล้ายๆ กับว่ามันมีอยู่ เป็นอยู่ อัดแน่นอยู่ในหัวอกหัวใจ เป็นเจตสิกธรรม เป็นส่วนกุศลอยู่ในจิตในใจ

ในเมื่อมันมีอยู่อย่างนั้นไม่หลงไม่ลืม สภาวะที่มันปรากฏขึ้นภายใจจิตเราก็ยังจำได้ สิ่งที่เราจำได้นั้น มันตรงกับภาษาในตำรับตำราที่ท่านเขียนเป็นแบบฉบับไว้ เราก็เอาภาษาในแบบในแผน หรือภาษาที่คนเขาพูดกันนั้นแหละ มาสมมติเรียกสิ่งที่เรารู้เราเห็น ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น อันนี้เป็นอันนี้ เพราะสภาวะที่มันเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ก็สมมติมันว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงเสีย สิ่งที่มันทนอยู่กับที่ไม่ได้เราก็สมมติมันว่า ทุกขัง เสีย สิ่งที่มันไม่เป็นไปตามอำนาจที่เราปราถนาต้องการ ไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชา เราก็สมมติสิ่งเหล่านั้นที่มันอยู่เหนืออำนาจของเราว่า อนัตตา เสีย มันเป็นอย่างนี้

ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจโดยนัยที่กล่าวมานี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ การปฏิบัติการรู้ธรรมะเห็นธรรมะ ในขั้นสมถะก็ดีหรือวิปัสสนาก็ดี จะมีลักษณะอย่างเดียวกันหมด ขอให้สังเกตให้ดีอย่างนักสมถะที่สามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงไปได้ อย่างเช่น สมมติว่าในขั้นต้นเราบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ ในเมื่อภาวนา พุทโธๆๆ จิตเริ่มสงบลงไป พอสงบลงไป ในบางระยะจิตมันจะละเลิกจากคำนึกว่าบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ แล้วจิตจะไปนิ่งเฉยอยู่ ในเมื่อจิตนิ่งเฉยอยู่ สิ่งที่มันยังมีอยู่คือลมหายใจมันจะผุดขึ้นมาให้จิตรู้

ถ้าจิตดวงใดที่เดินทางถูกต้อง มันจะต้องยึดเอาลมหายใจเป็นอารมรณ์ ดูลมหายใจเรื่อยไปจนกระทั่งลมหายใจละเอียดเข้าทุกทีๆ ลมหายใจจะละเอียดหรือไม่ละเอียดไม่รู้ล่ะ แต่จิตมันละเอียดลงไป แล้วดูทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดลงไปหมด จนกระทั่งในที่สุดจิตสงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ ลมหายใจก็หายขาดไปหมด ตัวทั้งตัวนี้ก็หายไปหมด ยังเหลืออยู่แต่สภาพจิตที่รู้ชัดเด่นอยู่ สว่างไสวอยู่อย่างเดียว ตอนนี้ท่านเรียกว่าจิตถึง พุทธะ คือ พุทโธ - ผู้รู้ พุทโธ - ผู้ตื่น พุทโธ - ผู้เบิกบาน

ในเมื่อจิตสามารถรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิ มีสติสัมปชัญญะตื่นขึ้นมาพร้อม เป็นพุทธะปรากฏขึ้นอยู่ในจิตอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน อริยมัคคสมังคีก็ประชุมพร้อมในองค์แห่งสมาธิ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นผู้รู้ แม้อยู่ในสมาธิ จิตก็เป็นผู้รู้ ตื่นอยู่ ในเมื่อออกจากสมาธิแล้ว ผลของความเป็นผู้รู้ภายในสมาธิ มันก็ยังมีผลมาอำนวยให้สภาพจิตซึ่งอยู่ปกติธรรมดามีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ตลอดกาล ถึงแม้ไม่สงบแต่ก็รู้อย่างมีสติสัมปชัญญะทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น มรรคทั้ง ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุด ในเมื่อนักปฏิบัติมารวมเอามรรค ๗ เบื้องต้น เข้าไปสู่ความเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ก็จิตเป็นผู้เห็น สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ก็จิตเป็นผู้ดำริ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ มันก็ล้วนแต่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตทั้งนั้น ในเมื่อเรารวมเอาจิตเข้าไปสู่สมาธิเสียอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นสัมมาไปหมด
เพราะฉะนั้น การรวมเอามรรคเข้าไปสู่องค์อันหนึ่งคือสัมมาสมาธิ จึงเป็นปัจจัยหนุนจิตของนักปฏิบัติให้ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง ด้วยประการฉะนี้

การกล่าวโอวาทตักเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะในวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้...

******************

คัดลอกจาก : อบรมกรรมฐาน

_/|\_ _/|\_ _/|\_ ด้วยจิตกราบบูชา

จากคุณ : mayrin

9. การพิจารณาธาตุววัฏฐาน

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๙
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

การพิจารณาธาตุววัฏฐาน


ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้ฟังการอบรมเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนากรรมฐาน และการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริกรรมภาวนา และในขณะต่อมาได้ยกเอาเรื่องการพิจารณาอสุภกรรมฐานมาพูดสู่บรรดาท่านทั้งหลายฟัง โดยหลักการพิจารณาของท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เบื้องต้น ท่านสอนให้บริกรรมภาวนา มีบริกรรมภาวนา พุทโธ เป็นต้น หรือบางครั้งก็สอนให้เจริญอานาปานสติกรรมฐาน กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ให้รู้ว่าสั้นหรือยาว ตั้งฐานที่กำหนดไว้ที่ปลายจมูกที่ลมผ่านเข้าผ่านออก จนกว่าจิตจะสงบเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ

หลังจากนั้นท่านได้แนะนำให้เจริญอสุภกรรมฐาน คือ พิจารณาร่างกายทั้งหมดนี้ให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม น่าเกลียดโสโครก โดยยึดหลักกายคตาสติ เป็นแนวทางที่พิจารณา เมื่อนักปฏิบัติได้มาพิจารณาอสุภกรรมฐาน มีความรู้ความเข้าใจชำนิชำนาญ จนสามารถรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ลงไปว่า ร่างกายทั้งสิ้นเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพัง จะโดยการรู้สึกภายในใจที่น้อมใจเชื่อด้วยศรัทธาก็ตาม หรือจะมองเห็นภาพนิมิต เห็นความปฏิกูลน่าเกลียดที่ปรากฏขึ้นในความรู้สึกในทางจิตก็ตาม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ชำนิชำนาญในการพิจารณาอสุภกรรมฐาน

ในอันดับต่อไป ท่านสอนให้พิจารณาธาตุวัวัฏฐาน โดยยกเอาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขึ้นมาตั้งเป็นหลัก โดยท่านแนะนำให้กำหนดรู้ว่า ธาตุแท้ที่มีอยู่ในโลกนี้มีอยู่ ๔ ธาตุด้วยกัน คือ

ปฐวี - ธาตุดิน
อาโป-ธาตุน้ำ
เตโช- ธาตุไฟ
วาโย-ธาตุลม

ทีนี้ การพิจารณาธาตุทั้งสี่ ก็ยกเอากายของเราเป็นหลัก คือ พิจารณาตั้งแต่ผม คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทนฺตา ฟัน ตโจ หนัง มํสํ เนื้อ นหารู เอ็น อฏฺฐิ กระดูก อฏฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก วกฺกํ ม้าม หทยํ หัวใจ ยกนํ ตับ กิโลมกํ พังผืด ปิหกํ ไต ปปฺผาสํ ปอด อนฺตํ ไส้ใหญ่ อนฺตคุณํ ไส้น้อย อุทฺริยํ อาหารใหม่ กรีสํ อาหารเก่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นึกว่าเป็น ธาตุดิน เพราะมีลักษณะแข้นและแข็ง สามารถมองเห็นด้วยตา จับต้องได้ด้วยมือ โดย

พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นแต่เพียงธาตุดินเท่านั้น เพราะเหตุว่าในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื้อหนังมังสังก็ปรากฏในความรู้สึกว่า เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นกระดูก ตามสมมติบัญญัติขึ้นที่ชาวโลกเขาเรียกกัน แต่ในเมื่อสิ่งเหล่านี้สลายตัวลงไป ในที่สุดจะต้องกลายไปเป็นดินตามธรรมชาติ เพราะเหตุว่าสิ่งเหล่านี้ก็ได้มาจากดิน เพราะฉะนั้นธาตุเหล่านี้จึงเป็นดิน แล้วก็พยายามน้อมจิตพินิจพิจารณากลับไป กลับมาจนกระทั่งจิตใจเชื่อลงไปว่าร่างกายทั้งสิ้นนี้เป็นธาตุดิน

ทีนี้ เมื่อพิจารณากลับไปกลับมาจนจิตใจเชื่อมั่นลงไปว่าธาตุดินจริง โดยไม่มีการสงสัยน้อมนึก แล้วก็หยุดพิจารณาเสีย โดยกำหนดจิตบริกรรมภาวนาว่า ปฐวี ปฐวี หรือจะบริกรรมภาวนาว่า ดินๆๆ จนกระทั่งทำจิตให้สงบตั้งมั่นลงไปเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ ถ้าหากว่าภูมิจิตของท่านนักปฏิบัติมีกำลังเพียงพอ ก็จะมองเห็นภาพนิมิตปรากฏขึ้นคล้ายกับว่าจิตได้ออกจากร่างกาย ปรากฏตัวอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง แล้วก็ส่งแสงลงมาดูร่างกายที่นอนเหยียดยาวอยู่ หรือในท่านั่งอยู่ก็ตาม แล้วแต่นิมิตและอุปนิสัยของท่านผู้ใดจะเกิดขึ้น ในเมื่อปรากฏนิมิตขึ้นมาอย่างนี้ จิตก็จะจ้องมองดูร่างกายเฉยอยู่ ทีนี้ ทางฝ่ายร่างกาย ก็จะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับๆ เป็นขั้นเป็นตอน ในระยะแรกเนื้อหนังมังสังที่มองเห็นอยู่นั้นจะค่อยหลุดลงไปทีละชิ้น สองชิ้น

ในที่สุดก็จะยังเหลืออยู่แต่โครงกระดูก สุดท้ายที่สุด แม้แต่โครงกระดูกก็จะถูกทำลายย่อยยับลงไปเป็นผง บางทีอาจมองเห็นคล้ายๆ ขี้เถ้าหรือฝุ่นโปรยอยู่บนพื้นแผ่นดิน แล้วในที่สุดก็จะหายเข้าไปในพื้นแผ่นดิน มองไม่เห็นส่วนที่จะเป็นผงที่ปรากฏนั้น จะมองเห็นแต่ดินโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นธาตุแท้ และพึงสังเกตจิตของตนเองในขณะนั้น ถ้าหากว่าจิตสามารถมองเห็นนิมิตขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งร่างกายมีการแสดงอาการเน่าเปื่อยผุพังลงไป ย่อยยับลงไปเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งถึงยังเหลืออยู่แต่โครงกระดูก แล้วก็กลายเป็นผง จนกระทั่งหายเข้าไปในพื้นแผ่นดิน ยังเหลือแต่พื้นดินธรรมดา มองหาอะไรไม่เห็น

ในขณะนั้นจิตจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าไม่ได้นึกไม่ได้คิด และสิ่งที่ปรากฏอยู่ก็คือจิตที่เป็นธรรมชาติ ของผู้รู้ปรากฏอยู่เด่นชัด ส่วนร่างกายซึ่งมีการแสดงปฏิกิริยาให้จิตรู้ และจิตเป็นขั้นเป็นตอนนั้นก็จะแสดงให้ปรากฏอยู่ และในขณะนั้นจะไม่มีภาษาสมมติบัญญัติเรียกว่าอะไรเป็นอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งที่รู้มีอยู่ สิ่งที่ให้รู้ก็มีอยู่ อันนี้คือปรากฏการณ์โดยธรรมชาติ ซึ่งจิตอยู่ในสภาพเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงซึ่งเรียกว่า "สัจธรรมปรากฏขึ้นภายในจิต" คือ ปรากฏขึ้นมาว่าร่างกายทั้งปวงนี้มีแต่ดินเท่านั้น

ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ในขณะนั้นความนึกคิดอย่างนี้จะไม่มีเลย และไม่มีความคิดใดทั้งนั้น มีแต่สภาพจิตที่รู้ปรากฏเด่นชัดอยู่ สิ่งให้รู้ให้เห็นก็แสดงปฏิกริยาเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว อันนี้คือลักษณะที่จิตรู้จริงเห็นจริงเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง สภาวธรรมคือร่างกายของเรานี้ ในเมื่อมันสลายลงไปแล้ว สิ่งรองรับในขั้นแรกก็คือ ปฐวี ธาตุดิน เพราะส่วนที่แข็งในร่างกายทั้งสิ้นเป็นธาตุดิน

อันนี้ ในเมื่อนักปฏิบัติได้มาหมั่นพิจพิจารณาอย่างนี้ เมื่อจิตมีความสงบและมีความก้าวไปเป็นขั้นเป็นตอนในการพิจารณาธาตุววัฏฐาน จะปรากฏความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นดังที่กล่าวมานี้

ทีนี้ มีปัญหาที่น่าสงสัยอยู่ว่า เมื่อในขณะที่จิตรู้เห็นตามเป็นจริงอยู่นั้นภาษาสมมิตเรียกบัญญัติในสิ่งนั้นไม่มีปรากฏในความรู้สึก ถ้าเช่นนั้นนักปราชญ์ผู้ให้การอบรมสั่งสอน มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเอาภาษาสมมติเรียกขานสิ่งเหล่านั้นมาจากไหน

ข้อนี้พึงทำความเข้าใจว่า ในขณะที่รู้เห็นตามเป็นจริง ภาษาไม่มีอยู่ก็จริง แต่เมื่อจิตถอนออกจากสภาพความเป็นเช่นนั้นแล้วมาสู่สภาพปกติธรรม คือ ในขณะที่จิตยังไม่สงบ ลักษณะความทรงจำในตำรับตำรา หรือได้ยินได้ฟังมาตามครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน สิ่งที่เป็นขึ้นมีขึ้นภายใจจิตนั้นจะวิ่งออกมารับสมมติ ซึ่งเรามีอยู่เต็มโลก ปฐวี ธาตุดิน เขาก็เรียกกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด กระดูกเขาก็เรียกกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เนื้อหนังมังสังเขาก็เรียกมาแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด

เมื่อจิตออกมาจากสภาพความรู้จริงเห็นจริงซึ่งไม่มีสมมติบัญญัติแล้ว จิตก็มารับเอาสมมติบัญญัติของโลก พระพุทธเจ้ารู้ธรรมที่จริงแล้วก็มาบัญญัติคำสอนตามภาษาของชาวโลก แต่ภาษาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นมิได้เหมือนภาษาของชาวโลกทั้งปวง เฉพาะภาษาของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว พระองค์ก็รู้แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่เมื่อจะสอนเวไนยสัตว์ จึงเอาธรรมที่ตรัสรู้แล้วนั้นมาบัญญัติเป็นภาษาของมนุษย์ เพราะพระองค์จะเทศน์ให้มนุษย์ฟัง ก็ต้องเอาภาษามนุษย์มาบัญญัติเรียกชื่อธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว อันนี้เป็นแผนเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายด้วยความเป็นธาตุดินโดยย่อ

ทีนี้ ในเมื่อเรามาพิจารณาธาตุดิน จนกระทั่งจิตมีความสงบรู้แจ้งเห็นจริง เชื่อมั่นลงไปว่าร่างกายทั้งสิ้นเป็นธาตุดิน ในอันดับต่อไป เราก็มาหัดพิจารณาดูธาตุน้ำคืออาโปบ้าง เราจับเค้าพิจารณาตั้งแต่ ปิตฺตํ น้ำดี เสมฺหํ น้ำเสลด ปุพฺโพ น้ำเหลือง โลหิตํ น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อสฺสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฺฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มุตตํ น้ำมูตร โดยสิ่งเหล่านี้ มีลักษณะไหล ซึมซาบขังอยู่ภายในร่างกาย เราสมมติพิจารณาว่าเป็น ธาตุน้ำ ที่พิจารณาว่าเป็นธาตุน้ำเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของเหลว เมื่อมันลงไปผสมกับน้ำ มันก็กลายเป็นน้ำไป สิ่งใดที่มันเป็นธาตุแท้อันเดียวกัน ในเมื่อมันผสมกันเข้าแล้วมันก็เข้ากันได้ อย่างเลือดหรือปุพโพโลหิตต่างๆ ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ในเมื่อตกลงไปในน้ำหรือหยดลงไปในน้ำ มันก็สลายตัวปนไปเป็นน้ำทั้งหมด เรามิได้มองเห็นว่าอันนี้เป็นเหงื่อ เป็นไคล เป็นอะไรทั้งนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นน้ำเราพยายามน้อมนึกในใจ

น้อมความเชื่อลงไปว่า ภายในร่างกายนี้มีแต่ธาตุน้ำ เป็นน้ำจริง เป็นอื่นไปไม่ได้พอเสร็จแล้ว ในเมื่อจิตมีความเชื่อมั่นลงไปเป็นจริงเป็นจังว่า มีธาตุน้ำอยู่ในร่างกาย เราก็มากำหนดจิตบริกรรมภาวนาว่า อาโปๆๆๆ จนกว่าจิตนั้นตั้งมั่นลงเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ถ้าหากว่ากำลังจิตกำลังสมาธิกับสติปัญญาของท่านผู้ปฏิบัติพร้อมแล้ว ก็จะปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมาให้เห็นภายในจิตอย่างแจ่มแจ้งว่า ภายในร่างกายนี้มีน้ำเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง แล้วก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นเด่นชัดภายในดวงจิต

แต่ในขณะที่รู้เห็นอยู่นั้นก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับในขณะที่จิตเห็นกายว่าเป็นธาตุดิน คือผู้รู้ก็ปรากฏมีอยู่ และสิ่งที่ให้รู้ให้เห็นก็ปรากฏอยู่ แต่ภาษาเรียกว่านี้คือจิต นี้คือน้ำ จะไม่มีความรู้ในขณะนั้น ภาษาสมมติว่าจิต ว่าน้ำ มันจะมีขึ้นต่อเมื่อจิตถอนออกมาจากสภาพความเป็นจริงนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นปกติ คือในขณะที่เรายังไม่ได้ภาวนา แล้วความรู้สึกสมมติบัญญัติในภาษาจะเกิดขึ้นมารับสิ่งที่เรารู้เห็นภายในจิตทันที แล้วจึงจะเป็นภาษาพูดขึ้นว่า อันนั้นคือน้ำ อันนั้นคือดิน ในทำนองนี้

ในเมื่อเราหัดพิจารณา ดิน น้ำ จนชำนิชำนาญคล่องแคล่ว สามารถรู้จริงเห็นจริงแล้ว อันดับต่อไปก็พิจารณาดูไฟ ซึ่งมีอยู่ในร่างกาย ความร้อนที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหมดนั้นจัดเป็นธาตุไฟ เช่น ความร้อนที่ลมหายใจออก ความอุ่นที่หนัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ธาตุไฟ แล้วก็น้อมจิตเชื่อมั่นลงไป เพ่งเล็งลงไปให้เห็นนิมิตว่า ในร่างกายนี้มีไฟเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง ซึ่งปรากฏเด่นชัดตามที่กล่าวมาแล้วในการพิจารณาดินและน้ำ

ในเมื่อจิตเห็นชัดลงไปเช่นนั้น ในขั้นต่อไปก็พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับ ลม ลม ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในไส้ จนกระทั่งลมหายใจเข้าออก ให้นึกว่าภายในส่วนประกอบของความเป็นร่างกายนี้ มีลมอยู่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนประกอบ จะขาดเสียไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็กำหนดรู้ดูลมซึ่งมีอยู่ภายในร่างกาย จนกระทั่งเกิดนิมิตมองเห็นลมได้เด่นชัด แล้วจิตก็จะมีความสงบเพ่งลงไปเป็นระยะๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว ถ้าหากว่าภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นมีกำลังพอสมควรที่สามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้ ลมก็จะปรากฏเป็นนิมิตให้จิตรู้โดยประการต่างๆ บางทีก็จะปรากฏคล้ายกับว่ามีสิ่งที่ลอยเลื่อนไป มีลักษณะเหมือนก้อนเมฆ หรือเหมือนสำลี ประกอบด้วยความสว่างไสว ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติทั้งนั้น

จิตผู้รู้ก็ปรากฏอยู่ สิ่งที่ให้รู้โดยอาการเปลี่ยนไปของลม หรือความมีลมที่ปรากฏอยู่ก็จะมีปรากฏอยู่โดยอัตโนมัติ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น แล้วจะไม่มีคำพูดที่ว่า นี้คือ จิต นี้คือลม ต่อเมื่อจิตถอนออกมาจากสภาพรู้จริงเห็นจริงในลักษณะดังกล่าว มาสู่สภาพปกติสามัญธรรมดา เหมือนกับในขณะที่เรายังไม่ภาวนา ภาษาที่สมมติ ว่าลม ว่าจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับกับความรู้ที่เราได้รู้นั้น

อันนี้เป็นวิถีทางการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ คนสัตว์เป็นแค่เพียงสมมติบัญญัติ เรียกเอาเท่านั้น ในเมื่อร่างกายทั้งหมดนี้สลายลงไปแล้วก็จะกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เข้าไปสู่ธาตุแท้ ซึ่งมีอยู่ดั้งเดิม คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม ในเมื่อสิ่งเหล่านี้มันยังประชุมพร้อมกันอยู่ตราบใด ยังไม่แตกสลายตราบใด ปฏิสนธิวิญญาณเข้ามายึดครองซึ่งเราเรียกว่าจิตมายึดมั่นถือมั่นเป็นตนเป็นของตน เป็นเราเป็นเขา ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน เราก็ยังรู้สึกว่าเรามีตัวมีตน เป็นคนเป็นสัตว์ แต่ที่แท้ก็เป็นแต่เพียงสมมติบัญญติ

สิ่งที่เป็นคนเป็นสัตว์ก็เป็นไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อย่างดีก็ไม่เกินร้อยปี ในเมื่อร่างกายทั้งสิ้นได้แตกสลายลงไปแล้ว มันก็จะกลับกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตามเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้เราได้มาจากธาตุดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ โดยธรรมชาติ เช่นอย่างอาหารทั้งหลายที่เราบริโภคและดื่มลงไปมันก็ได้มาจากดิน ธาตุน้ำ ข้าวก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ผักหญ้าอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารนั้น มันก็เป็นธาตุดินทั้งนั้น นี้โดยธรรมชาติ มันเป็นอยู่อย่างนี้

ทีนี้ ในขณะที่เราน้อมนึกพิจารณาเห็น บางทีจิตมันจะสงบลงไป ในขณะที่จิตพิจารณาในอาการใดอาการหนึ่ง ถ้ามีปรากฏการณ์ อะไรปรากฏขึ้น ก็ให้จิตมันสงบนิ่งลงไปตามธรรมชาติ อย่านึกถึงสิ่งที่ปรากฏนั้น ในขณะที่จิตพิจารณาธาตุอยู่นั้น ถ้าหากปรากฏนิมิตเป็นรูปคน รูปสัตว์ อะไรปรากฏในความรู้สึก ก็ให้ยึดเอาสิ่งนั้นมาเป็นหลักพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่าท่านผู้ใดไม่อาจจดจำอาการ ๓๒ ได้ครบถ้วนตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ให้พิจารณาโดยรวมกัน

คือพิจารณานึกว่าร่างกายนี้มันก็ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันประชุมกันอยู่กลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วก็มีวิญญาณเข้าสิงสถิตอยู่อาศัยอยู่ อาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม อุปถัมภ์ชุบเลี้ยง ให้เป็นไป เรานึกพิจารณาเอารวมๆ อย่างนี้ก็ได้

แต่ในขณะที่พิจารณาอยู่นั้น บางครั้งจิตมันก็สงบ บางครั้งจิตมันก็ไม่สงบ ถึงจิตมันจะไม่สงบเราก็พยายามน้อมนึกพิจารณาเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจิตมันจะเกิดสงบขึ้นมาจริงๆ ถ้าหากมันไม่สงบในขณะนั้นหรือมันไม่รู้ไม่เห็นในขณะนั้น มันอาจจะเกิดเพราะเราอยากให้มันสงบ เราอยากรู้อยากเห็น ความอยากมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เมื่อเราทำอะไรด้วยความอยาก เราจะไม่รู้ เราจะไม่เห็น เช่น เราภาวนาด้วยความอยากให้จิตสงบ จิตของเราจะไม่สงบ ในเมื่อเราพิจารณาธรรมด้วยความอยากรู้อยากเห็น เราจะไม่รู้ไม่เห็น ต่อเมื่อเราไม่อยากรู้อยากเห็นนั้นแหละเราจึงจะรู้จะเห็นขึ้นมา

บางทีนั่งพิจารณาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่งค่อนคืน จวนๆ จะสว่าง มันก็ไม่มีความสงบ ไม่มีความรู้เกิดขึ้น แต่บางทีรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เมื่อเหนื่อยแล้วก็ทอดธุระ หมดอาลัยตายอยากในหน้าที่ที่พึ่งพิจารณา เกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาว่า พิจารณาทั้งคืนมันก็ไม่ได้ผล นอนดีกว่า นอนให้สบายดีกว่า แต่เมื่อนอนลงไปแล้ว เราตั้งใจว่าจะนอนให้มันสบาย ความอยากรู้อยากเห็นอยากมีอยากเป็นในสิ่งเหล่านั้นมันก็หายขาดไป โดยปกตินักภาวนาหรือนักปฏิบัติทั้งหลาย เวลานอนเขาไม่ได้นอนเปล่า นอนกำหนดจิตเรื่อยไป จนกว่าจะนอนหลับ ทีนี้ เมื่อกำหนดจิตเรื่อยไปจนกว่าจะนอนหลับ หลับแล้วจิตอาจจะตื่นกลายเป็นสมาธิก็ได้ เมื่อกลายเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว

สิ่งที่เราพิจารณาไว้ตั้งแต่เบื้องต้น พิจารณาด้วยความไม่รู้และพิจารณาด้วยความที่จิตไม่สงบนั้นแหละ มันจะไปสงบขึ้นในขณะที่เรานอนแล้วก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงตามแนวที่เราพิจารณานั้นในขณะที่เรานอน ในขั้นต้นเราตั้งใจจะนอนให้หลับ เพราะอาศัยผลแห่งการปฏิบัติไม่ขาดสาย เมื่อหลับลงไปแล้ว มันหลับสนิทจริงๆ แต่จิตมันกลับตื่นขึ้นเป็นสมาธิขณะนอนอยู่ แล้วสามารถที่จะรู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริงขึ้นมาแต่ในขณะที่นอนโดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ อันนี้ผู้ที่ปฏิบัติไปนานค่อยใช้ความสังเกตและพิจารณาไปเรื่อยๆ ประสบกราณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นแก่ท่านผู้เป็นนักปฏิบัติด้วยความตั้งใจจริงทุกๆ ท่าน อย่างบางทีเราคอยกันอยู่ ความสงบมันก็เกิดขึ้น แล้วความรู้มันก็เกิดขึ้น

ตัวอย่างก็เคยมีอยู่แล้ว ในวันที่จะเริ่มปฐมสังคายนา พระพุทธเจ้าเคยทรงพยากรณ์พระอานนท์ว่า ท่านจะบรรลุพระอรหันต์ในวันทำสังคายนา ท่านก็เชื่อในพระโอวาทของพระพุทธเจ้า ท่านพยายามเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ตลอดคืนยั่นรุ่ง นัยว่าเดินจงกรมจนเท้าแตกก็ไม่สามารถจะบรรลุพระอรหันต์ได้ พอท่านเหน็ดเหนื่อยเต็มที่แล้วจนทนไม่ไหว ท่านก็มาคำนึงในใจว่า เรายังไม่สำเร็จพระอรหันต์เราจะพักผ่อนให้สบายก่อน ทีนี้ เมื่อจะตั้งใจพักผ่อนให้สบาย พอเอนกายลง มันวางหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ความอยากเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้นก็ไม่มี มีแต่ตั้งใจว่าเราจะนอน ในเมื่อเอนกายลงไประหว่างครึ่งนั่งครึ่งนอน จิตก็รวมพรึ่บเป็นสมาธิขึ้นมา ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น นี้คือตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราบริกรรมภาวนาพิจารณาธรรมอันใดอันหนึ่งก็ตาม ในขณะที่เราบริกรรมหรือพิจารณาอยู่ จิตของเราอาจจะไม่สงบ และอาจจะไม่มีความรู้ใดๆ เกิดขึ้น ก็ขอได้โปรดอย่าท้อถอย ให้ใช้ขันติ ความอดทน พยายามปฏิบัติไป วันหนึ่งก็จะต้องเห็นผลอย่างแน่นอน ขอให้เราตั้งใจทำจริง ปฏิบัติจริงเท่านั้นเป็นพอ โดยยึดหลักโพชฌงค์ว่า ภาวิตา - อบรมให้มากๆ พหุลีกตา กระทำให้มากๆ คือ ทำทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เว้น แต่เวลาหลับการทำสมาธิมิได้หมายความว่าเราจะมากำหนดจิตบริกรรมภาวนาหรือมาพิจารณาเฉพาะในขณะนั่งหลับตาเท่านั้น แม้เวลาอื่นนอกจากการปฏิบัติ คือนอกจาการเดินจงกรมและจากการนั่งสมาธิ เราจะทำอะไร จะพูด จะคิด จะดื่ม จะฉัน จะรับประทานอะไรก็ตาม ให้มีสติสัมปชัญญะคอยกำกับ และเอาตัวรู้สะกดตามไปด้วย คือ ให้มีผู้รู้

ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะกำกับรู้กิริยาอาการ ความเคลื่อนไหวของเราอยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คอด เราก็มีสติสังวรอยู่ การที่มีสติสังวรอยู่ สํวโร คือ การสำรวม การสำรวม ก็คือ ศีล ความตั้งมั่นจดจ้องต่อการสังวรระวัง อันนั้นก็คือ สมาธิ ความมีสติสัมปชัญญะ รู้รอบคอบอยู่ทุกอิริยาบถนั้น คือตัว ปัญญา ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงเข้าใจตามนัยที่กล่าวมานี้

การกล่าวให้โอวาทตักเตือนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาแยกธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมลงสู่ธาตุแท้ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ วาโย ธาตุลม เตโช ธาตุไฟ ให้เห็นว่าร่างกายเป็นแต่สักว่าธาตุ ๔ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้...

------------------------------------

คัดลอกจาก: อบรมกรรมฐาน
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

_/|\_ _/|\_ _/|\_ ด้วยจิตกราบบูชา


จากคุณ : mayrin

10. การพิจารณาพระไตรลักษณ์

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๑๐
วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
การพิจารณาพระไตรลักษณ์

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

วันนี้ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่จะได้รับฟังการเสนอมติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งเราได้รับการอบรมการปฏิบัติขั้นสมถภาวนา หรือสมถกรรมฐาน

เริ่มต้นแต่บริกรรมภาวนา การพิจารณาอสุภกรรมฐาน และการพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือการพิจารณา ร่างกาย ทั้งสิ้นให้เห็นเป็นสักว่าธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ การบริกรรมภาวนาเป็นการบริกรรมเพื่อรวมความคิดที่แผ่ซ่านอยู่รอบทิศให้เข้าไปสู่จุดเดียว ซึ่งเราเรียกกันว่า สมาธิ สมาธิขั้นนี้เรายังไม่ได้ใช้พิจารณา ยังไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ได้ใช้ปัญญา เป็นเพียงอุบายทำจิตให้สงบ เพื่อความสะดวกในการที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไปเท่านั้น แต่การที่มาพิจารณาอสุภกรรมฐาน เป็นการเริ่มใช้ปัญญาบ้าง คือ เราจะต้องใช้ความคิดและการเพ่งพินิจให้รู้สภาพความเป็นจริงของอาการ ๓๒ ซึ่งเป็นอวัยวะประชุมพร้อมให้มีความเป็นร่างกายของคนและสัตว์ อันนี้เราต้องใช้ความคิดไปตามอากรนั้นๆ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว การภาวนาหรือการพิจารณาในขั้นนี้ก็ยังอยู่ในขั้นของ สมถกรรมฐาน แต่หากเป็นระยะกาลที่ริเริ่มหัดใช้ปัญญาบ้าง การพิจารณาธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาร่างการให้เห็นเป็นธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือให้มีความรู้สึกในความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหนังดังปรากฏเป็นสมบัติของแต่ละท่านนั้น ให้มีความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพเดิมของมัน คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในตอนนี้ การพิจารณาที่เราใช้ปัญญา มีลักษณะใกล้ๆ เข้าไปสู่การเจริญภูมิแห่ง วิปัสสนากรรมฐาน บ้าง ซึ่งบางท่านอาจจะมีอุปนิสัยที่เคยได้สั่งสมอบรมมาตั้งแต่ชาติปางก่อน พอมาเริ่มพิจารณากรรมฐานดังที่กล่าว จิตของท่านผู้นั้นอาจจะปฏิวัติตนขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาโดยอัตโนมัติก็เป็นได้ ทั้งนี้แล้วแต่อุปนิสัย

ถ้าหากผู้ที่ไม่มีอุปนิสัย เมื่อพิจารณาแยกร่างกายออกเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มองเห็นแต่เพียงว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จริงๆ ลงไปเท่านั้น แต่สภาพจิตยังไม่ปฏิวัติตนไปเพ่งมองดูสภาพความเปลี่ยนแปลง เป็นแต่เพียงมองดู ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตยังไม่ได้กำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของธาตุนั้นๆ ความรู้ขั้นนี้จึงยังอยู่ในขั้นของสมถกรรมฐานเท่านั้น แต่หากว่านักปฏิบัติ ผู้ที่มีความฉลาด ในเมื่อมาเจริญสมถกรรมฐานขึ้นพิจารณาธาตุววัฏฐานชำนิชำนาญ อาจจะปฏิวัติจิตของตนเอง โดยน้อมความรู้ ความคิด ความเห็น ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จากเนื้อหนังมาเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ มีความรู้น้อมไปในแง่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ (คือทนอยู่ไม่ได้) อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวของตัว หรือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ถ้าหากว่าจิตมีภูมิเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติยังไม่ได้น้อมจิตเข้าไปสู่ภูมินั้น แต่หากจิตมีอันเป็นไปเอง

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐาน เพ่งดูร่างกาย ซึ่งมีนิมิตปรากฏขึ้นในสมาธิ จะเป็นร่างกายตัวเองก็ตาม ร่างกายของคนอื่น สัตว์อื่นก็ตาม เพ่งพินิจพิจารณาด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง เช่น อย่างจะเพ่งดูโครงกระดูกที่มีอยู่ในตัวของตัวเอง หรือเพ่งดูโครงกระดูกของภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้นในสมาธิ ให้มองเห็นเด่นชัดว่าเป็นโครงกระดูก ปรากฏเป็นนิมิตจนติดตา ซึ่งเรียกว่า อุคคหนิมิต การเพ่งดูโครงกระดูกจนเป็นนิมิตติดตา ซึ่งเรียกว่าอุคคหนิมิตนี้ ความเป็นของจิตในขั้นนี้ก็อยู่ในภูมิขั้นแห่งสมถกรรมฐาน ทีนี้ ถ้านักปฏิบัติมีความสามารถที่จะเพ่งโครงกระดูกนั้นให้มีการขยายใหญ่โตขึ้น หรือให้เล็กลง จนกระทั่งสามารถเพ่งโครงกระดูกถอดออกไปเป็นชิ้นๆ ไปกองไว้เป็นกองๆ จนกระทั่งสามารถเพ่งโครงกระดูกให้มีความสลายย่อยับไปจนไม่มีอะไรเหลือ แล้วพร้อมๆ กันนั้น วิถีของจิตก็น้อมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงคือ พระไตรลักษณ์ อันนี้ก็ได้ชื่อว่าภูมิจิตก้าวขึ้นไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้ สุดแล้วแต่ความฉลาดของผู้ปฏิบัติ

ถ้าหากว่าภูมิจิตของท่านผู้ใดยังไม่พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา โดยอาศัยความมีความเป็นหรือการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากภูมิแห่งสมถะ เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่พอสมควร จนกระทั่งสามารถที่จะต้องจิตไปใช้ในการงานคือการพิจารณาสภาวะได้ ตามคัมภีร์ท่านให้ยกเอาเบญจขันธ์ คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยกขึ้นมาพิจารณาว่า รูปนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัญญาเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความเกิดปรากฏขึ้น แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามระยะกาล ท่านให้เริ่มฝึกพิจารณามาตั้งแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา หรือไม่เช่นนั้นก็ให้พิจารณาจำเดิมแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ตั้งแต่เป็นเด็กทารกแบเบาะ พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แล้วก็พิจารณาความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีอันเป็นไปในอนาคต โดยอาศัยสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นจากคนที่เขาเกิดก่อน แก่ก่อน ตายก่อน มาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ แล้วก็น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวของตัวเองว่า ภายในตัวของเรานี้ก็เป็นรูปก้อนหนึ่ง แล้วรูปนี้ก็มีการเกิดมา มีปฏิสนธิในครรภ์มารดา คลอดออกมาเป็นทารกได้อาศัยน้ำนมและข้าวป้อนที่ได้จากบิดามารดา มีความเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับๆ ความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายข้างเจริญขึ้นนี้ก็อยู่ในลักษณะแห่งอนิจจตา ความไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่มันเป็นความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายข้างเจริญ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในฝ่ายข้างเจริญด้วยการโตวันโตคืนขึ้นมานี้ ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทุกๆ คนชอบ ถ้าหากความเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ร่างกายของคนและสัตว์ทุกจำพวกก็จะต้องมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในข้างฝ่ายเสื่อม คือเรียกว่า ลดความเจริญลงทุกทีๆ คือเจริญลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นความแก่ ความเจ็บ และความตายในที่สุด ในเมื่อร่างกายอันนี้ตายลงไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายก็ไม่ได้หยุดยังอยู่เพียงแค่นั้น ก็ยังมีการแตกสลายย่อยยับเปลี่ยนแปลงไปอีก จนกระทั่งหายสาบสูญไปไม่มีอะไรเหลืออยู่ อันนี้คือการพิจารณารูปในขึ้นแห่งวิปัสสนากรรมฐาน คือดูความเปลี่ยนแปลงของรูปคือร่างกาย

ในขั้นสมถะนั้น เราดูความจริงของร่างกายในแง่ความเป็นจริง คือเป็นของปฏิกูล หรือเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราดูความจริงของวัตถุคือกายที่มีอยู่ เป็นแต่เพียงดูให้รู้จักว่าสิ่งนี้คืออันนี้ สิ่งนี้คืออันนี้เท่านั้น แต่ในภูมิขั้นแห่งวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราดูความเปลี่ยนแปลง ความยักย้าย ความไม่คงทน ความไม่เป็นไปตามความปรารถนาของร่างกาย เพราะฉะนั้น พึงทำความเข้าใจว่า การพิจารณาสภาวธรรมในขั้นวิปัสสนากรรมฐานนั้น นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านสอนให้พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมคือร่างกายอันนี้ ตั้งแต่แรกเกิดมาจนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้น แล้วค่อยเจริญลงเปลี่ยนไปเป็นความชรา ความเจ็บ ความตาย จนกระทั่งแตกสลายในที่สุด ไม่มีอะไรเหลือ การดูความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ นักปฏิบัติพึงเข้าใจว่าเป็นการเจริญกรรมฐานขั้นวิปัสสนากรรมฐาน

ทีนี้ ส่วนการพิจารณาดู เวทนา ก็เหมือนกัน เวทนาตามตำราท่านก็ว่ามี สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อุเบกขาเวทนา ทีนี้ เวทนาที่เป็นสุขนั้น ทุกๆ คนก็ชอบ พอใจ แต่เวทนาที่เป็นทุกข์เหลือทนนั้นทุกคนไม่ชอบ แต่ทั้งสุขทั้งทุกข์นี่แหละ ย่อมเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นอย่างความสุขเกิดขึ้นแล้ว ดำรงอยู่เพียงชั่วครู่หนึ่งยังไม่จุใจผู้ที่เสวยความสุข แต่แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น คือมีความทุกข์เกิดขึ้นมาแทน ทีนี้ ทุกข์เหลือทนที่มันกิดขึ้นก็ดี ทุกข์เล็กน้อยที่เกิดขึ้นก็ดี มันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง เสร็จแล้วมันก็หายไป สุข ทุกข์ อุเบกขา ความเป็นกลางๆ ย่อมเป็นเวทนาที่ทุกคนที่มีชีวิตมีใจจะต้องประสบ อาการความเปลี่ยนแปลงของความสุขและความทุกข์ และความเป็นกลางๆ ของเวทนานั้น ล้วนแต่ลักษณะแสดงถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของสภาวธรรมส่วนหนึ่ง

การพิจารณา สัญญา ก็เหมือนกัน สัญญา ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ จำได้แล้วก็หลงลืมไป ความหลง ความลืม หรือความเปลี่ยนแปลงของความทรงจำนั้น มันก็อยู่ในลักษณะแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เราพิจารณาอย่างนี้แล้ว สังขาร คือความปรุงแต่งก็เหมือนกัน สังขารตามตำรับตำราท่านก็ว่า สังขารมีใจครอง และสังขารไม่มีใจครอง ไม่จำเป็นจะต้องนำมาอธิบาย เพราะทุกท่านเรียนมาแล้ว แต่สังขารซึ่งเป็นตัวการในสภาวธรรมทั้งสิ้นนั้นคือดวงจิต ดวงจิตดวงนี้เป็นตัวปรุง เป็นตัวแต่ง ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นจากดวงจิตดวงนี้

ในเมื่อนักปฏิบัติในขั้นภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ได้มาพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของรูป ของเวทนา ของสัญญา แล้วก็มากำหนดดูความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตโดยปกติธรรมดาจิตจะอยู่นิ่งตลอดการไม่ได้ ย่อมมีความคิดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ในบางสำนักท่านจึงให้ศึกษาเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างง่ายๆ คือ ให้กำหนดดูความเกิดและความดับของอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตและพร้อมๆ กันนั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นย่อมอำนวยผลให้จิตมีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ บ้าง มีความเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่อย่างนี้เป็นปกติธรรมดา แล้วก็มองความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น น้อมจิตน้อมใจพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่อยู่ในอำนาจบังคัญบัญชา แม้แต่ วิญญาณ ความรู้แจ้งทางทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจก็ดี ก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ในเมื่อนักปฏิบัติมาพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นไปตามความปรารถนาและไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่มีอะไรที่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา เราปรารถนาในสิ่งนั้นๆ ไม่เป็นไปตามความต้องการ แล้วก็มากำหนดจิตรู้อยู่ที่จิต พยายามกำหนดดูความเกิด ความดับของอารมณ์ภายในจิต สิ่งใดเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ สิ่งใดดับไปก็กำหนดรู้ พร้อมๆ กันนั้นก็เอาพระไตรลักษณ์สะกดตามไป คือสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป ล้วนแต่ส่อแสดงลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งนั้น กำหนดจดจ้องดูอยู่จนกว่าจิตจะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิอีกครั้งหนึ่ง

ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ บางทีอยู่ในระดับแห่งอุปจารสมาธิ จิตก็จะปราศจากความน้อมนึกแล้ว แล้วก็จะปฏิวัติลงไปสู่การรู้ การเห็น การค้นคว้า การพิจารณาโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งดูๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ความรู้ ความผุดรู้ ผุดเห็น หรือจิตพิจารณาสภาวธรรม ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ได้ตั้งใจแต่งเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงนั้น ท่านเรียกว่า ปริยัติบังเกิดขึ้นภายใน เพราะฉะนั้น พึงทำความเข้าใจว่า ปริยัติ เกี่ยวกับการปฏิบัตินี้มีอยู่ ๒ ขั้น

ขั้นหนึ่ง อาศัยปริยัติที่ท่องบ่นจดจำจากตำรับตำราแล้วนำมาเป็นแนวพิจารณา น้อมนึกคิดพิจารณาเอาตามแบบตามแผน นี้เป็นปริยัติอีกขั้นหนึ่ง

ในเมื่อพิจารณาไป นักปฏิบัติกำหนดจิตให้สงบอยู่ในขึ้นอุปจารสมาธิที่ลึกๆ เข้าไปหน่อย ทีนี้ อารมณ์ที่เราค้นคิดพิจารณามาแต่เบื้องต้นนั้น มันจะไปเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกภายในจิตให้เกิดผุดรู้ ผุดเห็นในสภาวธรรม สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ สิ่งใดดับไปก็รู้ จิตกำหนดรู้โดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องมีเจตนาที่จะให้เป็นไปเช่นนั้น นักปฏิบัติเมื่อถึงขึ้นภูมิแห่งวิปัสสนาจริงๆ แล้วจะรู้เอง ในเมื่อจิตพิจารณาสภาวธรรมไปโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ตั้งแต่ ถ้าหากว่าจิตตกลงปลงใจรับรู้สภาพความเป็นจริง แรงความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์นั้นๆ ที่จิตกำหนดรู้อยู่ ภายหลังจิตจะแสดงอาการรวมพรึ่บไปสู่อัปปนาสมาธิอีกทีหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าจะไปรวมกำลังเพื่อกระโดยขึ้นมาสู่ความรู้แจ้งเห็นจริง ในเมื่อจิตรวมลงเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตาอย่างในภูมิแห่งสมถกรรมฐานพอสมควรแล้ว ถ้าหากว่าจิตไม่ติดในสมาธิ หรือภูมิปัญญาของจิตสามารถที่จะรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงได้ หลังจากนั้นจิตจะมีการการไหววับนิดหนึ่งแล้วก็จะมีความรู้ผุดขึ้นมาว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น หรือจะออกอุทานขึ้นมาภายในความรู้สึกว่า อ้อ...! สภาวธรรมมันเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ในเมื่อเรารู้ความเป็นจริงของสภาวธรรม คือตัวสังขารภายในจิตอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแจ่มแจ้ง ส่วนสภาวธรรมในภายนอก คือส่วนที่เกี่ยวกับรูปที่เรามองเห็นด้วยตานั้น ก็เป็นสิ่งที่เรากำหนดรู้ได้ไม่ยากนัก เพราะใจที่รู้จริงเห็นจริงแล้ว สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นตัววัตถุซึ่งปรากฏอยู่ในภายนอก

นักปฏิบัติในภูมิขั้นแห่งวิปัสสนาพึงถือหลักการพิจารณาโดยยกเอาขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแนวทางพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ โดยอาศัยความนึกคิดจากความทรงจำ จากตำรับตำราที่เราเคยศึกษาเล่าเรียนและได้ยินได้ฟังมาว่า อนิจจตา ความไม่เที่ยง เราก็เรียนรู้มาแล้ว ทุกขตา ความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ตลอดกาล เราก็เรียนรู้มาแล้ว อนัตตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือไม่อยู่ในอำนาจหรือไม่เป็นไปตามความต้องการที่เราปรารถนา เราก็เรียนรู้มาแล้ว หรือท่านผู้ใดจะยกเอาตามแบบอนัตตลักขณสูตรมาพิจารณาก็ได้ อนัตตลักขณสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระภิกษุเบญจวัคคีย์นั้นแหละ คือ การปฏิบัติภูมิชั้นของจิตในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน โดยที่ท่านยกขึ้นมาว่า “รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา, รูปญฺจหิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส” เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า รูปนี้ไม่เที่ยง รูปนี้เป็นอนัตตา บุคคลไม่พึงได้ในรูปตามความปรารถนาว่า รูปนี้จงเป็นไปอย่างนั้น จงอย่าเป็นไปอย่างนี้ตามที่ตนต้องการ รูปย่อมไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้นั้น เพราะฉะนั้น รูปจึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะยึดหลักนี้เป็นแนวทางพิจารณาก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง เราได้ประสบพบเห็นอะไรก็ตาม เช่นอย่างตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดธรรมรมณ์ ก็พยายามนึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นึกจนกระทั่งจิตมันติดเป็นนิสัย จนบางครั้งบางทีลืมนึกโดยไม่ได้ตั้งใจว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างที่หลวงตาองค์หนึ่งที่อยู่ที่เมืองอุบลฯ ชื่อหลวงตาสน ท่านพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งรู้จริงเห็นจริงขึ้นมา จนจิตท่านนึกจนชำนาญว่า อนิจฺจตา สงฺขารา อนิจฺจตา สงฺขารา อะไรที่ท่านทำผิดพลาดไปหรือใครทำความผิดก็ดี ท่านมันจะเปล่งอุทานออกมาว่า อนิจฺจตา สงฺขาราๆ แม้แต่เวลานอนอาพาธอยู่ก็ อนิจฺจตา สงฺขารา อยู่อย่างนั้นจนเป็นนิสัยติดสันดานอยู่ดังนี้ แล้วจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยเพื่อพอกพูนความรู้ในด้านพระไตรลักษณ์ให้ยิ่งๆ ขึ้น

สำหรับการกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.....

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

11. สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๑๑
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้รับฟังการอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงขั้นภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งก็นับว่ามีหลักการพอเป็นคติที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจ ที่จะจดจำเอาไปเป็นหลักการปฏิบัติพอควร เพราะว่าแผนภูมิแห่งการปฏิบัติธรรมในทางด้านจิตใจนั้น นักปฏิบัติจะต้องดำเนินไปตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขั้นบริกรรมภาวนา แล้วก็ขั้นใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมในแง่ต่างๆ ตามรูปแบบซึ่งมีหลักสูตรเรียน เช่น บริกรรมภาวนาทำจิตให้สงบแล้วมาพิจารณาอสุภกรรมฐาน พิจารณาธาตุววัฏฐาน แล้วก็พิจารณาสภาวธรรมน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็เป็นอันว่าจบภูมิแห่งสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

สำหรับหลักสูตรและแนวทางที่จะฝึกปฏิบัติสำหรับผู้ที่ประพฤติจริง ทำจริง ปฏิบัติจริง เพื่อมุ่งความเจริญในการปฏิบัติธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง เห็นจริงกันจริงๆ เรายึดถือเอาหลักเพียงแค่นี้ก็เป็นแนวทางพอที่จะดำเนินชีวิตของนักปฏิบัติไปได้ตลอด ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะเอาจริงหรือไม่ ทีนี้ การปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้เกิดผลจริงๆ นั้น แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลแม้แต่ประการใด เช่น สมมติว่าท่านอาจจะไปเรียนคาถาบริกรรมภาวนาจากท่านผู้ใดผู้หนึ่ง อาจารย์ผู้สอนกรรมฐานอาจจะบอกท่านเพียงคำเดียวว่า พุทโธ หรือ ยุบหรอ พองหนอ ก็ตาม ท่านตั้งใจปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ให้การแนะนำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คือตรงไปตรงมา ไม่บิดพลิ้ว ยอมเชื่อฟังคำแนะนำของผู้ให้การแนะนำนั้นๆ ทุกกระเบียดนิ้วด้วยความตั้งใจจริงเท่านั้น ย่อมสามารถที่จะทำให้ท่านบรรลุผลสำเร็จได้ตามความสามารถ ถ้าหากท่านสงสัยในอารมณ์ของพระกรรมฐานเช่นอย่างอาจจะสงสัยว่า ภาวนา พุทโธ ไม่ค่อยเข้าท่า ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ดีกว่า แล้วทั้ง ๒ อย่างไม่ค่อยเข้าท่า หาอย่างอื่นมาบริกรรมภาวนาสับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนี้ทุกวัน อย่าว่าแต่อายุของท่านจะอยู่ได้เพียงร้อยปี ต่อให้เกินร้อยปี ถ้าท่านสับเปลี่ยนอารมณ์กรรมฐานอยู่เรื้อยๆ เพราะความไม่ตั้งใจจริง ท่านก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จผลในการปฏิบัติได้ตามความประสงค์ อันนี้เป็นคติอันหนึ่ง

ทีนี้ หลักที่ควรจะจดจำ การเริ่มต้นกรรมฐานนั้น ท่านให้ยึดเอาองค์ของฌาน ๕ ซึ่งมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา องค์ของฌานทั้ง ๕ ประการนี้ นักปฏิบัติจะทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ไม่ได้ เพราะการมีปีติและสุขนั้นเป็นยากำลังใจของนักปฏิบัติเป็นอย่างดี แม้การปฏิบัติในภูมิจิตของผู้ที่ยังอยู่ในภูมิของโลกียชน ก็ต้องอาศัยองค์ฌานคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ผู้ที่สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วก็ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในโสดาปัตติมรรค ผู้ที่เป็นพระสกทาคามีก็ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ผู้ที่อยู่ในภูมิของพระอนาคามีก็ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในภูมิขั้นของพระอนาคามิมรรค ผู้ที่ปฏิบัติขั้นพระอรหัตตมรรคก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ในขั้นของพระอรหัตตมรรค ดำเนินอยู่ตามแนวทางขององค์ฌานตามที่กล่าวมานั้น เพราะว่าการปฏิบัติแต่ละขั้นนั้นย่อมอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องทดสอบพิจารณาในภูมิจิตของตน

วิตก หมายถึงการนึกถึงอารมณ์ที่น้อมเอามาเป็นเครื่องพิจารณา
วิจาร หมายถึงการเอาใจใส่จดจ้องในอารมณ์ที่น้อมเอามาเป็นเครื่องพิจารณานั้น

ถ้าหากการปฏิบัติถูกทางและเป็นที่จะได้ผล ปีติ ก็ย่อมเริ่มบังเกิด คือาศัยความที่จิตซึมซาบในธรรมะหรืออารมณ์ที่พิจารณาอยู่นั้น ซึ่งมีอาการคล้อยๆ ไปที่จะเป็นสมาธิอย่างอ่อนๆ

ในอันดับแห่งปีติที่บังเกิดขึ้นนั้น ความ สุข ก็ย่อมเกิดเป็นผลพลอยได้ตามมา

เมื่อจิตมีปีติและมีความสุข จิตก็ย่อมไม่ดิ้นรนกระวนกระวายตั้งหน้าตั้งตาที่จะพิจารณาในอารมณ์ของพระกรรมฐานที่นักปฏิบัติยกขึ้นมาเป็นอารมณ์เครื่องพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ตามขั้นของกรรมฐาน ถ้าผู้ที่มีภูมิจิตพิจารณาอยู่ในขึ้นของสมถะ ก็เอาอารมณ์ของสมถะมาพิจารณา ผู้ที่เดินจิตในภูมิของวิปัสสนา ก็เอาอารมณ์ในภูมิขั้นของวิปัสสนากรรมฐานมาพิจารณา โดยน้อมนึกพิจารณาอารมณ์นั้น โดยนัยแห่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้เป็นแนวทางดำเนินจิตของผู้ปฏิบัติทุกขั้นภูมิ แม้ปุถุชนก็ดำเนินในขั้นภูมินี้ พระอริยบุคคลก็ดำเนินจิตในขั้นภูมิจิตนี้เช่นเดียวกัน เพราะผู้ที่จะสำเร็จมรรคผลนิพพานได้นั้น ย่อมเป็นผู้จัดเจนในการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ตั้งต้นแต่กายกับใจของเราเป็นพื้นฐาน ตลอดจนกระทั่งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ซึ่งล้วนเป็นอารมณ์เครื่องพิจารณากรรมฐานได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติมาพิจารณาดูสภาวธรรม ซึ่งเป็นส่วนโลกๆ หรือเป็นโลกๆ ทั้งหลายนั้น ให้รู้ให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกระทั่งจิตยอมรับรู้สภาพความเป็นจริง แล้วปลงตกไปเห็นจริงตามนั้นด้วย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถึงขั้นสำเร็จแห่งวิปัสสนากรรมฐาน

บางท่านที่ติดในคำศัพท์ อาจจะไปตีความหมายของคำว่า วิปัสสนากรรมฐาน ผิดไปก็เป็นได้ เข้าใจว่าคำแปลของคำว่า วิปัสสนานั้น เราแปลกันว่า ความเห็นแจ้ง ซึ่งผมก็เคยแปลกันมาอย่างนี้ แต่บางท่านอาจจะแปลไปได้พิสดารยิ่งกว่านี้ วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า ความเห็นแจ้ง ทีนี้ ความหมายของคำว่า ความเห็นแจ้ง นั้น หมายถึงจิตที่เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญาด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน เช่นอย่างเห็นแจ้งว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงจริงๆ สภาวธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์จริงๆ สภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ มิได้หมายความว่า นักปฏิบัติทำจิตด้วยบริกรรมภาวนา แล้วจิตสงบวูบลงเกิดสว่างโร่ขึ้นเห็นแจ้งทางจิต มิใช่ทางปัญญา แบบนั้นยังไม่ถูกตามลักษณะของวิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าจะพูดจำกัดความให้เข้าใจง่าย เช่นอย่างเรามีความสงสัยในปัญหาเกี่ยวกับสภาวธรรมว่า สิ่งๆ นี้เป็นของเที่ยงหรือไม่เที่ยวง ในเมื่อเราจดจ้องพินิจพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ จนกระทั่งจิตมีความรู้แจ้งเห็นจริงลงไปว่า เป็นของไม่เที่ยงจริงๆ ไม่เฉพาะแต่ความเห็นด้วยความรู้ หรือไม่เฉพาะแต่ความรู้เท่านั้น เมื่อรู้ว่าเป็นของไม่เที่ยงจริงๆ จิตก็ปลงตก เรียกว่าเห็นจริงตามที่รู้ว่า ไม่เที่ยงจริงๆ จนกระทั่งเกิดความสลดสังเวชภายในจิต ได้คติภายในจิต จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นที่รู้จริงเห็นจริงแล้ว อันนี้เรียกว่า ความรู้ความเห็นในขั้นภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐาน มิได้หมายความว่าทำจิตให้สว่างขึ้นแล้วสำเร็จวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าหากเราจะไปถือเอาความสว่างของจิตไปเป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็ไปติดอยู่ในโอภาสนิมิต เป็นวิปัสสนูปกิเลสแห่งวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จิตมองเห็นแสงสว่างก็ดี หรือจิตรู้เห็นอะไรก็ดี หรือจิตมีความรู้ ซึ่งผุดขึ้นเองเป็นระยะๆ ก็ดี ถ้าหากว่านักปฏิบัติไปปล่อยให้จิตหลงตามสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วยความหลงงมงาย ย่อมเป็นลักษณะแห่งวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น

และอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่มีจิตว่าง จิตไม่มีอารมณ์ จิตไม่มีความนึกคิด เป็นแต่นิ่งเฉยอยู่ในความว่าง ไม่ได้ยึดเหนี่ยวอะไรเป็นอารมณ์เลย ความว่างชนิดนี้ก็ไม่ใช่เป็นความว่างชนิดที่จิตสำเร็จมรรคผล เป็นความว่างชั่วขณะของจิต ความว่างอันนี้ ถ้านักปฏิบัติไปคิดว่าความสำเร็จมรรคผลนิพพานอยู่เพียงแค่นี้ มันก็กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสอีก เพราะฉะนั้น ความรู้เห็นอันใดที่เรามีความหลงในสิ่งที่ยังไม่ถึงขั้นแห่งความเป็นจริงว่าเป็นจริง มีความหลงในขั้นที่เรายังไม่สำเร็จว่าเราสำเร็จ ความรู้ความเห็นอันนั้นกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจตามนัยที่กล่าวมานี้

ทีนี้ การปฏิบัติธรรม ถ้าหากเรามีความพากเพียรพยายามโดยอาศัยหลัก ฉันทะ คือความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ วิมังสา ทดสอบพิจารณาดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต หรือดูสภาพความเป็นจริงของจิตของตนเอง ให้รู้ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร อาศัยหลักอิทธิบาท ๔ เป็นหลักสำคัญ เมื่อเรามีความพอใจในการปฏิบัติ มีความพากเพียร มีความฝักใฝ่ มีการทดสอบพิจารณา ศรัทธา ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติ วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกได้ สมาธิ ความตั้งใจมั่น ปัญญา ความรู้รอบคอบ ก็จะบังเกิดเป็นเจตสิก เป็นเครื่องประกอบเป็นกำลังใจ ซึ่งเรียกว่า อินทรีย์ หรือ พละ ๕ อันนี้คือผลที่จะพึงเกิดขึ้นสำหรับนักปฏิบัติ

และอีกนัยหนึ่ง ในระหว่างที่เราตั้งใจปฏิบัติจริงจังอยู่นั้น ประสบการณ์ต่างๆ ย่อมจะเกิดขึ้นตามขั้นภูมิแห่งจิต เพื่อป้องกันมิให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายเข้าใจผิด ผมของนำเรื่อง คำว่า ความรู้ กับ ความเห็น มากล่าวพอเป็นคติเตือนใจ

ในบรรดาวงการของนักปฏิบัติทั้งหลาย ส่วนมากอาจารย์ผู้ให้การแนะนำ หรือให้การฝึกฝนอบรมศิษยานุศิษย์ของตนเอง หลังจากที่นั่งสมาธิภาวนาแล้วมักจะถามลูกศิษย์ตัวเองว่าเห็นอะไรบ้าง ทีนี้ บางท่านที่มีกำลังจิตอ่อน พอนึกบริกรรมภาวนาลงไปแล้ว จิตทำท่าจะสงบเคลิ้มๆ ลงไป จิตลอยไปข้างนอกก็ไปเห็นรูปคนรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นนิมิตพอลางๆ หรือเห็นนิมิตที่ปรากฏเป็นตัวเป็นตนอย่างแจ่มชัด ซึ่งแล้วแต่ภูมิขั้นของจิต แล้วก็บอกกับอาจารย์ว่าเห็นโน้นเห็นนี้ ทีนี้ ผู้ที่ภาวนาแล้วไม่เห็นอย่างที่คนที่เขาเห็น บางทีก็อาจจะเกิดน้อยอกน้อยใจว่า เราภาวนาไม่เป็น ภาวนาแล้วไม่เห็นอะไร อาจจะเข้าใจไปอย่างนี้ แต่ ความจริงการเห็นภาพนิมิตต่างๆ ในขณะที่ภาวนานั้น ไม่ใช่สิ่งที่นักปฏิบัติจะพึงประสงค์ อันนั้นเป็นแต่ผลพลอยได้ ซึ่งมันเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายของการรู้เห็นของนักปฏิบัตินั้น คือหมายความว่ารู้เห็นสภาพความเป็นจริงของจิตของตนเอง และรู้เห็นสภาพความเป็นจริงของกายของตัวเอง เช่นอย่างนักปฏิบัติมาเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย – เวทนา – จิต – ธรรมานุปัสนา เมื่อกำหนดทำบริกรรมภาวนาลงไปด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ มี กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา เมื่อกำหนดลงไปแล้วเราจะต้องมองเห็นกาย เมื่อมองเห็นกาย สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากกายก็คือ เวทนา และผู้รู้ผู้เห็นกายและเวทนานั้นก็คือจิต ผู้รู้เห็นอารมณ์ที่เกิดกับจิตว่าอารมณ์ฟุ้งซ่าน อารมณ์สงบอย่างใดนั้น ก็เป็นหน้าที่ของจิต เรียกว่าเห็นธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่มากำหนดจิต ดูกาย เวทนา จิต ธรรม พอกำหนดปั๊บก็เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ทันที เพราะสิ่งเหล่านี้เรารู้เราเห็นอยู่เป็นปกติแล้ว แต่การรู้การเห็นอันนี้ มันรู้เห็นเพียงเผินๆ จิตยังไม่ยอมรับสภาพอันเป็นจริง เพราะฉะนั้น การที่รู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของเวทนา รู้ความจริงของจิต ความรู้ความจริงของอารมณ์ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติต้องให้รู้ให้เห็นด้วยความเป็นจริงโดยไม่มีข้อสงสัย เมื่อรู้เห็นแล้วจิตก็ปลงตกลงไป ยอมรับสภาพความเป็นจริงนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงรู้เห็นเฉยๆ

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติผู้ที่รู้จริงเห็นจริง หรือเป็นจริงนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑) จิตรู้ตามความเป็นจริง
๒) จิตปลงตกเห็นตามความเป็นจริง
๓) สภาพจิตก็เป็นจริงตามที่รู้ที่เห็นนั้นด้วย
จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรมที่ตนพิจารณาอยู่

และอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่นักปฏิบัติมากำหนดบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง บางท่านอาจจะเกิดมีนิมิตมองเห็นพระพุทธเจ้าเข้ามา เช่นอย่างในสำนักวัดปากน้ำ ซึ่งเขาสอนกัน สอนให้บริกรรมว่า สัมมาอรหัง แล้วก็ให้น้อมจิตนึกอาราธนาเอาพระพุทธเจ้าให้เสด็จเข้ามาหาเรา เมื่อจิตสงบเคลิ้มๆ ลงไปเป็นอุปจารสมาธิ ด้วยความแน่วแน่ของจิต จะปรากฏนิมิตเห็นว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมา ส่วนอาจารย์ ผู้ให้การอบรมก็จะคอบซักถามอยู่เสมอว่า เห็นพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วหรือยัง ถ้าหากพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว อาจารย์จะบอกให้อาราธนาพระพุทธเจ้าขึ้นเหยียบบนบ่าเบื้องขวา แล้วลูกศิษย์ก็จะทำการอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ขึ้นเหยียบบนบ่าเบื้องขวา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นเหยียบบนบ่าเบื้องขวา นักปฏิบัตินั้นจำทำท่าเอียงลงไปข้างขวา เพราะหนักพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะบอกให้อาราธนาพระพุทธเจ้าเหยียบบ่าเบื้องซ้าย แล้วการของผู้นั้นจะตั้งตรง และก็ทำท่าหนักๆ พระพุทธเจ้า ต่อจากนั้นเขาจะให้อาราธนาเอาพระพุทธเจ้าเข้าไปไว้ที่ในดวงใจ แล้วก็ให้เด่งพระพุทธเจ้าจนกระทั่งใสเป็นแก้ว ใสจนไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบ เพ่งพระพุทธรูปที่มองเห็นด้วยนิมิตนั้นให้เห็นกลายเป็นแก้วดวงที่ใสสะอาด เพ่งจนเกิดเป็นอุคคหนิมิตติดตา ในเมื่อทำแก้วให้ใสสะอาดจนไม่มีที่จะเปรียบเทียบแล้วเขาก็ถือว่าสำเร็จ ธรรมกาย ในเมื่อต้องการอยากรู้ อยากจะเห็นอะไร ก็ใช้ธรรมกายนั้นส่งไป แล้วก็เกิดนิมิตให้รู้ให้เห็น

อาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้ที่มีปัญญา สามารถที่จะน้อมเอามาพิจารณาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้ ก็ย่อมเกิดประโยชน์ได้เหมือนกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดของนักปฏิบัติแต่ละท่าน

ทีนี้ มีปัญหาที่จะนำมาเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า การที่เขาภาวนากันไปดูนรก ดูสวรรค์ หรือติดต่อกับวิญญาณในโลกอื่นนั้น เขาทำกันอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์มีความสงสัยและสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งประเสริฐ

การภาวนาหรือนั่งสมาธิไปดูนรกไปดูสวรรค์นั้น ตามตำรับของไสยศาสตร์มันมีแบบมีแผนให้ศึกษากัน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือ “กรรมฐานสิบสองยุค” ของเจ้าคุณพระเทพญาณวิศิษฐ์ (ใจ ยโสธโร) รวบรวมไว้ที่วัดบรมนิวาส (กรุงเทพฯ) มันมีคาถาบทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าคาถาพระเจ้าเปิดโลก คาถาพระเจ้าเปิดโลกนี้ ตอนที่ ๒ ผมจำได้ว่า ข้อความว่า พุทโธ ทีปังกโรง โลกทีปัง วิโสธยิ ธัมโมทีปังกโร โลกทีปัง วิโสธยิ สังโฆ ทีปังกโร โลกทีปัง วิโสธยิ. เมื่อว่าถาถานี้จบแล้ว ก็อธิษฐานในจิตในใจว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นดวงประทีปส่องโลก ขอโปรดส่องทางนรกทางสวรรค์ให้ข้าพเจ้าเห็นจริงแจ่มแจ้งในการบัดนี้ด้วยเถิด พอเสร็จแล้วผู้บริกรรมภาวนา ถ้าจะไปดูนรก ก็นึกในใจว่า นรกๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ทีนี้พอจิตมันสงบเป็นอุปจารสมาธิ เกิดสว่างขึ้น ผู้ภาวนาจะมีอาการสั่นเหมือนกับผีสิง พอเสร็จแล้วสภาพจิตของผู้นั้นจะแสดงอาการไปดูนรกไปดูสวรรค์ตามที่ต้องการ ตามแบบแผนตำรับตำราที่กล่าวไว้ที่จำได้ อันนี้ได้เคยทดสอบพิจารณาดูแล้ว เมื่อใครก็ตามได้มานั่งภาวนาตามคาถาบทที่กล่าวมานี้ ไปเห็นนรกเห็นสวรรค์ได้แล้ว สามารถที่จะเชิญวิญญาณต่างๆ เข้ามาทรงภายในตัวเองก็ได้ สามารถที่จะเชิญวิญญาณปู่ย่าตายาย หรือครูบาอาจารย์ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้เข้ามาสิง แล้วก็สนทนากับผู้ที่นั่งฟังหรือผู้ที่ควบคุมการแสดงอยู่ อยากจะรู้ว่า คนตายแล้วไปเกิดที่ไหน ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์อย่างไรก็ได้ ผู้นั่งสมาธิดูนรกดูสวรรค์นั้นสามารถที่จะนำชาวสวรรค์ชาวนรกมาคุยกับเราก็ได้ อันนี้เป็นวิธีอันหนึ่งสำหรับวิธีการภาวนาไปดูนรกไปดูสวรรค์ แต่มันจะจริงแน่นอนหรือ อาจเกิดจากความจำก็ได้

และอีกนัยหนึ่ง เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า ปลุกพระ จะเอาพระเครื่องรางของขลัง เป็นพระเป็นเหรียญเป็นอะไรก็ตาม มากำไว้ในมือ แล้วก็บริกรรมภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ จนกระทั่งมีอาการสั่นขึ้น ในเมื่อมีอาการสั่นขึ้นแล้ว จะให้ไปเชิญวิญญาณที่ไหนๆ ให้มาทรงก็ย่อมเป็นได้ แต่วิญญาณที่มาทรงนั้น เท็จจริงอย่างไรก็ไม่กล้ายืนยันว่าจะเป็นจริงหรือไม่ บางทีสามารถเชิญกระทั่งวิญญาณของพระอรหันต์พระพุทธเจ้ามาทรงก็ได้ แต่สำหรับมติของผมนั้น เข้าใจว่า ในเมื่อประกอบพิธีเชิญวิญญาณขึ้นมา มันก็ต้องมีวิญญาณมาทรง แต่วิญญาณที่มาทรงนั้น จะใช่บุคคลที่เราเชิญมาทรงหรือเปล่า ในเมื่อทำพิธีกรรมแล้ว ต้องมีวิญญาณมาทรงอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าจะเป็นไปได้หมดทุกคน แม้แต่ในสำนักทรงวิญญาณทั้งหลาย ผู้ที่ชำนาญในการเชิญวิญญาณทรง เขาก็มีกันเพียงคน ๒ คนเท่านั้น ในเมื่อผู้ใดต้องการรู้ต้องการทราบเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องอดีต อนาคต ปัจจุบัน เขาก็ให้คนที่ฝึกเอาไว้นั้นแหละมาทำาการทรง

และอีกนัยหนึ่ง การทรงวิญญาณแบบฝรั่ง เขาเรียกว่าใช้วิธีการสะกดจิต คือ เอาเด็กชายตั้งแต่ ๑๐ ขวบ ไม่เกิน ๑๕ ขวบ มาทำการสะกดตามแบบวิธีของเขา ในเมื่อเขาสะกดเด็กให้หลับแล้ว เขาสามารถที่จะใช้เก็ดไปดูนรกไปดูสวรรค์ หรือไปติดต่อกับโลกข้างหน้าได้อย่างสบาย อันนี้ก็เป็นวิธีการอีกอันหนึ่งซึ่งก็แล้วแต่คนผู้สะกด

เรื่องทั้งหลายที่กล่าวมานั้น มิได้เกี่ยวเนื่องด้วยการทำสมาธิภาวนาตามแบบที่ถูกต้องซึ่งเรียกว่าสัมมาสมาธิ และขอให้ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า การทำสมาธิตั้งแต่ขั้นปฐมฌานถึงขึ้นจตุตถฌานนั้น มันยังเป็นสมาธิสาธารณะทั่วไปแก่ทุกลัทธิศาสนา และแก่ลัทธิที่มีการปฏิบัติสมาธิโดยทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น สมาธิของพระพุทธศาสนานั้น จึงอาศัยหลักศีลตามขั้นนภูมิของแต่ละบุคคลผู้ปฏิบัติอยู่นั้นเป็นหลักตัดสินว่าสมาธิของเขาถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

ขอให้ถือคติว่า สมาธิหรือการปฏิบัติธรรมอันใด ถ้าหากมันเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์ เป็นไปเพื่อการกระทำอะไรแปลกๆ ต่างๆ เช่นอย่างการเป็นหมอดูด้วยสมาธิเป็นต้น พึงเข้าใจเถิดว่า มันเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งออกนอกหลักพระพุทธศาสนา

สมาธิในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นสัมมาสมาธิ ที่ประกอบพร้อมด้วยองค์อริยมรรค ผู้ปฏิบัติเมื่อจิตประชุมพร้อมลงสู่องค์อริยมรรคแล้ว จิตจะดำเนินไปเพื่อความหมดกิเลสเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อการพวกพูนกิเลส ตามที่กล่าวมาแล้ว

การกล่าวโอวาทให้การอบรมเกี่ยวกับการสมาธิและประสบการณ์ต่างๆ ที่เล่ามา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.....
------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย