info4you

Saturday, April 16, 2005

3. สมาธิวิธี

บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๓
วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

สมาธิวิธี

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

บัดนี้ ความพร้อมเพรียงของพวกท่านทั้งหลายได้ถึงพร้อมแล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังธรรมะเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติสมาธิภาวนา ซึ่งผมจะได้ขอถวายความคิดเห็นตามสติปัญญาเท่าที่ได้ศึกษา ปฏิบัติและเรียนรู้มา

การปฏิบัติธรรม ซึ่งเราเรียกโดยทั่วไปว่า ปฏิบัติพระกรรมฐาน นั้น มีสิ่งซึ่งเราจะพึงปฏิบัติเพื่อเป็นการประกอบกับเรื่องการปฏิบัติธรรม ที่จำเป็นอย่างหนึ่งคือ ความวิเวก นักปฏิบัติจะต้องยึดถือความวิเวก หรือความสงัดเงียบเป็นปัจจัยสำคัญ วิเวกตามแบบปริยัติ ท่านจัดแบ่งไว้ ๓ ประการ ซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะทราบอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการย้ำเตือนท่านทั้งหลาย ให้มีความสังวรระวัง หรือยึดเป็นหลักปฏิบัติประกอบการปฏิบัติทางด้านจิตใจ จึงจะขอนำมากล่าวพอเป็นแนวทาง

วิเวก ๓ ประการ คือ กายวิเวก – ความสงัดกาย ความสงัดกาย เรากำหนดเอาตั้งแต่การก้าวย่างเข้าไปสู่สถานที่หรือป่าอันสงบเงียบ เรียกว่า ความสงัด อันนนี้เกี่ยวกับเรื่องของกาย ทีนี้ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกาย คือ วาจา ได้แก่ คำพูด การคบหาสมาคมระหว่างเพื่อนสหธรรมิกนั้น เราควรจะให้เป็นเวล่ำเวลา คือ การคุยกัน การคลุกคลีกัน มันเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งซึ่งคอยกางกั้นความเจริญทางจิต เพราะส่วนมากถ้าหากเราสนทนากันด้วยเรื่องของธรรม เรื่องของการปฏิบัติ ก็จะเป็นปัจจัยให้การปฏิบัติทางจิตเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าหากเรานำเรื่องซึ่งไม่มีสาระ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ มาสนทนาปราศรัยกัน เป็นเรื่องสนุกสนานหรือตลกคะนอง ซึ่งผิดวิสัยของนักปฏิบัติผู้หวังความเจริญทางด้านจิตใจ จะเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของกายวิเวกจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการเข้าไปสู่ที่สงัดเงียบนั้น เราก็ได้ความสงบทางจิตเป็นเดิมพันอยู่แล้วอย่างน้อย ๒๕ เปอร์เซ็นต์

ทีนี้ กายวิเวก – ความสงัดกาย ในเมื่อเราหาสถานที่เป็นที่สบาย ประกอบไปด้วยความสงัดเงียบ ปราศจากการคลุกคลีด้วยหมู่ ด้วยคณะ ก็ย่อยเป็นปัจจัยให้เกิด จิตวิเวก เป็นปัจจัยให้มีโอกาสได้บำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างสะดวกสบาย ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง

เมื่อเราได้โอกาสในอันที่จะบำเพ็ญเพียนรทางจิตโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ แล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้จิตสงบได้ง่าย ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว เราก็ได้ อุปธิวิเวก ขึ้นมา ถึงจะเป็นการชั่วขณะก็ยังเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่ผู้สนใจในการปฏิบัติได้ตามสมควร

ต่อไป จะได้พูดถึงวิธีทำสมาธิในเบื้อต้น เพราะเมื่อวานนี้ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของสมาธิโดยทั่วๆ ไป แต่สำหรับวันนี้จะได้กล่าวเฉพาะเรื่อง การทำสมาธิ หรือ สมาธิวิธี เกี่ยวกับเรื่องการทำบริกรรมภาวนา พุทโธ โดยเฉพาะ

สมาธิวิธี ผู้ที่มุ่งหวังความเจริญในการปฏิบัติ ภายหลังจากได้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญพรหมวิหารเสร็จแล้ว พึงนั่งขัดบัลลังก์ นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาวางทับขาซ้าย มือซ้ายวายลงบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย ให้หัวแม่มือจรดกัน แต่อย่าให้ตึงระหว่างหัวแม่มือกับหัวแม่มือ ตั้งกายให้ตรง นั่งในท่าที่รู้สึกว่าสบายที่สุด อย่าเกร็ง หรือกดข่มประสาทส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ตรวจดูการนั่งของเราว่า เรานั่งในท่าที่สบายดีแล้ว อย่าให้ก้มนัก และก็อย่างให้เงยนัก อย่าให้เอียงไปข้างซ้าย อย่าให้เอียงไปข้างขวา เมื่อตรวจดูการนั่งของเราเรียบร้อยว่าเป็นการถูกต้องแล้ว พึงกำหนดจิตคือทำจิตให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า คือมุ่งตรงต่อการที่จะทำสมาธิ และพิจารณาดูจิตของตนว่า จิตของเราเอนเอียงไปข้างรักหรือข้างชัง หรือว่าจิตของเราเป็นกลางๆ ในเมื่อเรากำหนดพิจารณาดูจิตของเราให้ทราบพื้นฐานของจิตของเราว่าเป็นอย่างไร ในชั้นต่อไปพึงพยายามสำรวมจิต ดังพระบาลีว่า มนสา สํวโร สาธุ – การสำรวมจิตเป็นการดี

การสำรวมจิต ของเรานั้น ก่อนอื่น ให้เราปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นในตัวของเรา คือเชื่อว่าเราสามารถปฏิบัติให้เกิด ให้มี ให้ได้รับผล คือสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิ การปฏิบัตินี้ไม่เหลือวิสัยที่เราจะพึงปฏิบัติได้ และเชื่อมันในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ แล้วสำรวมจิตเอาไว้ให้มั่น และเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิตใจของเราอย่างมั่นคง

ในเมื่อเราตรวจดูจิตของเราว่า เรามีความเชื่อมั่นในสมรรถภาพของตัวเอง และเชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่วแน่แล้ว ในขั้นต่อไปพึงกำหนดิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบแล้ว แล้วก็มากำหนดนึกบริกรรมภาวนาภายในจิตว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพียงคำเดียว ทำอยู่อย่างนั้นจนกว่าจิตจะมีความสงบลง หรือจนกว่าจิตจะมีความจดจ้องอยู่ที่คำบริกรรมภาวนานั้นๆ ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิตของเรานั้น เราพยายามปลูกความเชื่อมั่นลงไปเสมอว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่จิตของเราจริงๆ ในเมื่อเราบริกรรมพุทโธๆๆ เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พร้อมๆ กันนนั้นก็ชื่อว่าระลึกถึงคุณพระธรรมและพระสงฆ์ไปพร้อมกัน เพราะผู้ใดระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ผู้นั้นชื่อว่าระลึกถึงพระธรรม ผู้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม ผู้นั้นชื่อว่าระลึกถึงพระสงฆ์ แล้วดำรงจิตของตนให้มีความรู้สึกอยู่ที่จิต ในขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่นั้น ถ้าหากจิตของเราส่งกระแสไปในทางอื่น ก็พยายามนึกน้อมเข้ามาไว้ที่เดิม ที่เดินั้นอยู่ที่ไหน คือความรู้สึกอยู่ที่ไหน เช่น อยู่ที่พุทโธ ที่เดิมของจิตก็อยู่ที่นั้น ให้กำหนดอย่างนี้

ต่อไปนี้เป็นวิธีสังเกต ก่อนที่จิตจะสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ ในเมื่อบริกรรมภาวนาไปพอสมควรแล้ว เมื่อจิตมีความจดจ้องอยู่กับบริกรรมภาวนา จิตจะค่อยสงบลงไปทีละน้อยๆ บางท่านจะปรากฏว่าจิตสงบรวมวูบลงไป บางท่านก็วับแวบลงไป บางท่านก็รวมวูบลงไป แล้วแต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด ในเมื่อจิตรวมลงไปแล้ว ความรู้สึกเบากายเบาใจก็จะปรากฏขึ้น ความรู้สึกอ่อนกายอ่อนใจ แต่ไม่ใช่อ่อนปวกเปียก เพราะยังมีกำลัง ก็จะปรากฏขึ้น ความรู้สึกสงบกายสงบใจก็จะปรากฏขึ้น ความที่กายสมควรแก่การทำสมาธิ จิตคล่องแคล่ว ก็จะปรากฏขึ้น ในเมื่ออาการลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติจะทำให้นักปฏิบัตนั้นมีความเบากายเบาจิต ทุกขเวทนาต่างๆ จะค่อยสงบระงับไปทีละน้อยๆ ในที่สุดจิตก็สงบรวมลงเป็นสมาธิ

ในเมื่อจิตสงบรวมลงเป็นสมาธิ ถ้าหากว่าจิตรวมลงเพียงชั่วขณะนิดหน่อย ภาษาปริยัติท่านก็เรียกว่า ขณิกสมาธิ อย่างเช่น เราบริกรรมภาวนา มีอาการเคลิ้มนิดหนึ่งแล้วก็ปรากฏมีแสงวับแวบขึ้นมา อันนี้เป็นเครื่องหมายแห่งขณิกสมาธิ

ถ้าหากว่าจิตของเราสงบรวมลงไปแล้วก็มีแสงสว่างปรากฏขึ้นในความรู้สึก แสงสว่างนั้นในขณะนี้คล้ายๆ กับเรามองเห็นแสงสว่างด้วยตาเนื้อ แล้วก็มีอาการคล้ายๆ กับว่าครึ่งหลับครึ่งตื่น บางทีก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บางทีก็มีอาการเผลอๆ ลืมๆ ไป หรือบางทีก็มีความสว่างและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตลอดกาล แต่ความรู้สึกในภายนอก บางครั้งก็ปรากฏอยู่ บางครั้งก็หายไป ลักษณะนี้เรียกว่าจิตอยู่ใน อุปจารสมาธิ

ถ้าหากว่าจิตมีความสงบนิ่งลงไปกว่านี้ คือ ความสว่างก็ยังปรากฏอยู่ และจิตไม่ได้ส่งกระแสออกไปข้างนอก แล้วรวมลงสู่ที่จิตแห่งเดียว ละจากสัญญาอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้น ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่มี ความรู้สึกสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มี ปรากฏแต่จิตที่สงบนิ่งอยู่อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่ร่างกายที่เคยปรากฏว่ามีอยู่ก็หายไป ยังเหลือแต่จิตที่สงบนิ่งเป็น อัปปนาสมาธิ หรือ เอกัคคตาจิต ประกอบด้วยองค์ คือ อุเบกขา ในเมื่อจิตเป็นเอกัคคตา ถึงความเป็นหนึ่ง อุเบกขาซึ่งเป็นผลพลอยได้ ก็ย่อมปรากฏขึ้นเป็นเงาตามตัว อันนี้เรียกว่าจิตตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ

จิตจะตั้งมั่นอยู่ในสมาธิขั้นนี้ จะเพียงนิดหน่อย หรือว่าจะได้นานเป็น ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือชั่วโมง ๒ ชั่วโมง หรือตลอด ๗ วัน ๗ คืน ๑๕ วัน ๑๕ คืน อันนี้ก็แล้วแต่ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญของผู้ฝึกอบรม

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นอุบายเกี่ยวกับการปฏิบัติด้วยการบริกรรมภาวนา พุทโธๆ

สำหรับการกล่าวแนะนำเรื่องเกี่ยวกับการทำสมาธิภาวนาพุทโธ ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.....

------------
คัดลอกจากหนังสือ อบรมกรรมฐาน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

0 Comments:

Post a Comment

<< Home